3 ส.ค. 2022 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์
สก๊อตแลนด์ วันที่ 1 (ตอนที่ 4) ปราสาทเอดินบะระ และศิลาแห่งโชคชะตา คู่บ้านคู่เมืองสก๊อตแลนด์
ปราสาทเอดินบะระ (Edinburgh Castle) เป็นสัญลักษณ์แผ่นดินแห่งเอดินบะระโดยแท้ ทั้งโดยลักษณะทางกายภาพที่ใหญ่โตสง่างามและน่าเกรงขาม ทั้งในด้านคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การปกป้องประเทศชาติและความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ครั้งอดีต
ไม่น่าแปลกใจที่ปราสาทเอดินบะระจะถูกใช้เป็นโลโก้ประจำเมืองและปรากฏอยู่ในหลายต่อหลายที่ เช่น ตราสัญลักษณ์ของเมือง หนังสือพิมพ์เอดินบะระนิวส์ ทีมรักบี้ อีกทั้งยังปรากฏอยู่บนแสตมป์และธนบัตรอีกด้วย
ปราสาทแห่งนี้สร้างอยู่บนหน้าผาสูงซึ่งอดีตเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน ภูมิประเทศเช่นนี้จึงเหมาะมากต่อการสร้างเมืองซึ่งมีปราการธรรมชาติคือหน้าผาที่สูงชัน อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้มิได้ทำในปราสาทราชวังแห่งนี้ปลอดภัยแต่อย่างใด เนื่องจากมีการรุกรานจากข้าศึก ซึ่งก็คืออังกฤษคู่รักคู่แค้นตั้งแต่บรรพกาลซึ่งเข้ามายึดครองได้หลายครั้งเช่นในสมัยพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 1 ของอังกฤษในปี 1296 และเอดเวิร์ดที่ 3 ในปี 1333
การรุกรานนี้ทำให้สก๊อตแลนด์ต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพและทำให้เกิดวีรบุรุษคนดัง คือโรเบิร์ต เดอะ บรู๊ช (Robert the Bruce) ซึ่งได้กลายเป็นกษัตริย์ในเวลาต่อมา และอีกท่านก็คือวิลเลียม วอลเลซ (William Wallace) ซึ่งเราบางคนอาจรู้จักดีจากภาพยนตร์เรื่อง Brave Heart (ใครไม่รู้จักควรหามาดูนะครับ ได้รางวัลออสการ์ 5 รางวัล มีพระเอกรูปหล่อเมล กิ๊บสัน แสดงเป็นวอลเลซ) บุคคลทั้งสองเป็นวีรบุรุษสำคัญมากของสก๊อตแลนด์ เทียบได้กับพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถของไทยเรานั่นเลย
สองท่านนี้ได้มาต้อนรับพวกเราตั้งแต่ทางเข้าปราสาท ราวกับเป็นทวารบาลที่นักท่องเที่ยวหลายคนชอบมาขอถ่ายรูป แล้วหลายคนก็มักจะถามว่าใครคือวอลเลซ (แต่บางคนก็ถามว่าใครคือ Brave heart แทน) ซึ่งอันที่จริงสังเกตไม่ยากเพราะถ้าเป็นโรเบิร์ต เดอะ บุช จะสวมมงกุฎเนื่องจากได้เป็นกษัตริย์ ส่วนวอลเลซก็จะเป็นอีกท่านหนึ่งนั้นสวมชุดอัศวิน
ปราสาทเอดินบะระที่เราเห็นนี้มีลักษณะเป็นทั้งป้อมปราการและพระราชวังไปในตัว อย่าลืมว่ายุคสมัยนั้นเกิดสงครามขึ้นเสมอ พระราชวังเลยดูเป็นหอรบมีกำแพงหินที่หนาและหนัก นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของกองทหารรักษาการณ์ของสก๊อตแลนด์อยู่นานก่อนที่จะย้ายไป ดังนั้นเมื่อมาที่นี่เราจึงได้เห็นอะไรหลายประการ ทั้งป้อมปืน พระราชวัง โบสถ์ ตัวกากอย พิพิธภัณฑ์ อาคารอนุสรณ์ของทหารผ่านศึก ปืนใหญ่ มหามงกุฎและเครื่องราชกกุฏภัณฑ์ และก้อนหินมหัศจรรย์ ดังจะได้เล่าถึงต่อไป
ขณะที่เดินชมค่ายคูประตูหอรบไม่นานนักได้ยินเสียง "บึ้ม" ดังกัมปนาทสะท้านหู บางคนทำท่าตกอกตกใจตื่นกลัว แต่บางคนก็ยิ้ม ส่วนตัวผมเองตกใจจนเกือบไปเกาะแหม่มที่อยู่ข้างๆแล้ว แต่พอตั้งสติได้ก็นึกออกว่านี่เป็นประเพณีการยิงสลุต เรียกว่า 1 One O' Clock Gun ซึ่งยิงกันมาแบบนี้หลายปีดีดักตั้งแต่ปี 1861 มาแล้ว เพื่อบอกเวลาให้เรือต่างๆในอ่าวได้รับรู้เวลาที่ถูกต้อง คล้ายกับปืนเที่ยงบอกเวลาของพวกเราชาวสยามนะแหละ แต่ที่นี้เขายิงกันตอนบ่ายโมง
นอกจากนี้ปราสาทเอดินบะระยังเป็นที่ตั้งของพระราชวังเดิมซึ่งเป็นพระราชฐานของราชวงศ์สก๊อตตั้งแต่พระเจ้าเจมส์ 4 ในศตวรรษที่ 15 มีห้องโถง ห้องรับรอง ห้องโถงใหญ่ (Great Hall) และโบสถ์สำหรับราชวงศ์ เมื่อเราเข้าไปข้างในพระราชวังจะมีห้องอยู่อาศัยอยู่ 3 ส่วน
ชั้นล่างมีห้องรับแขก (King Dining Room) มองเห็นห้องเล็กๆที่อยู่ใกล้ๆชื่อ Birth Chamber หรือ Marry Room ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะเป็นห้องประสูติพระโอรสของราชินีแมรี่คือพระเจ้าเจมส์ที่ 6 ซึ่งต่อไปจะมีบุญญาธิการได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ทั้งของอังกฤษและสก๊อตแลนด์
ห้องที่สำคัญอีกห้องหนึ่งได้แก่ ห้องโถงใหญ่ (The Great Hall) มีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แล้ว มีการตกแต่งแบบเรเนอซองค์ เมื่อเดินเข้าห้องนี้มาแล้วแนะนำให้แหงนหน้าขึ้นดูด้านบน เพราะของที่สวยงามที่สุดอยู่นี้คือโครงหลังคาไม้ทอดพาดหลายๆเส้นเป็นรูปโค้ง รับน้ำหนักลดหลั่นกันลงมา แต่ละเส้นวาดลวดลายอยู่อย่างงดงามมาก นี่คือเพดานที่มีโครงสร้างแบบ Hammer beam ซี่งมักถูกใช้กับสถาปัตยกรรมสมัยโกธิคแบบอังกฤษ
ส่วนโบสถ์ในพระราชวังนี้คือ St.Margaret’s Chopel เป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดในวัง และกล่าวกันว่าเป็นเก่าที่สุดในเอดินบะระอีกด้วย มีลักษณะเป็นโบสถ์เล็กๆประดับกระจกสี
อาคารอีกแห่งที่อยู่ใกล้กับพระราชวังคืออนุสรณ์ทหารผ่านศึก (Scottish National War Memorial) สร้างเสร็จปี 1927 ซี่งถือว่าใหม่มาก แม้ว่าจะสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบใหม่แต่ก็อยู่เคียงข้างกับสภาพแวดล้อมต่างๆได้อย่างเข้ากัน รูปทรงของอาคารได้แรงบันดาลใจจากวิหารยุคกลางแต่มีการตกแต่งประดับด้วยศิลปะสไตล์อาร์ตเดคอร์ (art deco) ซึ่งเป็นศิลปะในยุคใหม่ ดังจะเห็นได้จากประติมากรรมรูปม้าสองตัวที่เฝ้าอยู่ด้านหน้า ตัวการ์กอยที่อยู่บนอาคาร
เมื่อเข้าไปข้างในก็ มีรายชื่อทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รวมทั้งสงครามอื่นๆ โดยมีรูปแบบตัวอักษร รูปประติมากรรม ลายประดับต่างๆแบบอาร์ตเดคอร์เช่นกัน อีกทั้งยังมีหน้าต่างกระจกสีมีลวดลายแบบสมัยใหม่ ใครที่ชอบงานสไตล์นี้น่าจะเข้ามาดู เป็นตัวอย่างที่ทำได้ดีในการสร้างสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่กลมกลืนกับโบราณสถานดั้งเดิม
สิ่งที่น่าชมอีกประการ คือพิพิธภัณฑ์สงคราม (National War Museum of Scotland) โดยภายในจะมีการเล่าเรื่องสงครามต่างๆในสก๊อตแลนด์ มีการแสดงเครื่องแบบ เหรียญตรา และอาวุธ
กินอิ่มแล้วเข้ามาชมวังต่อ คราวนี้เราจะเข้าไปดูของล้ำค่าที่สุดในห้องที่สำคัญมากอีกห้องคือ Crown Room เป็นที่ประดิษฐานเครื่องราชกกุฏภัณฑ์ (Honors of Scotland) ที่ใช้ในงานพิธีครองราชย์ของกษัตริย์สก๊อตแลนด์ ซึ่งมีพระมหามงกุฎ พระคฑา และพระแสงดาบ และที่สำคัญก้อนหินก้อนหนึ่งที่มีชื่อว่า ศิลาแห่งสโคน (stone of Scone) หรือศิลาชะตาลิขิต (stone of destiny) เป็นหินปริศนาที่ไม่มีใครรู้ความเป็นมา แต่ก็ได้รับความสำคัญโดยมิรู้เหตุมาเป็นเวลานานมาแล้ว
แม้ว่าจะมีตำนานต่างๆที่เกี่ยวข้องหลายเรื่องแต่ก็ไม่มีใครทราบว่าจริงเท็จประการใด สิ่งที่เราทราบก็คือศิลาสโคนได้ถูกนำมาใช้ในพิธีต่างๆเป็นคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับพระราชอำนาจของกษัตริย์ และถูกนำมาวางไว้ใต้บังลังก์ในพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ในทุกครั้งอีกด้วย
แม้ว่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสก๊อตแลนด์จะไม่มีมหาโครตเพชรโคฮินูแบบที่อังกฤษมี แต่ก็มีคุณค่าก็ไม่แพ้กันเนื่องจากมีความเก่าแก่มาก ถูกนำมาใช้ในพิธีราชาภิเษกตั้งแต่สมัยพระนางแมรี่จนถึงพระเจ้าชาร์ลที่ 2 และเมื่อมีกษัตริย์จากอังกฤษมาเยี่ยมเยียนก็จะได้รับการนำมาใช้เสมอ ทั้งพระเจ้าจอร์จที่ 4 และพระราชินีอลิซาเบธที่ 2
สาเหตุที่เครื่องราชกกุฏภัณฑ์ของสก๊อตแลนด์มีความเก่าแก่กว่าอังกฤษนั้น เนื่องจากในสมัยที่อังกฤษเป็นสาธารณรัฐในยุคของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์นั้น เครื่องราชกกุฏภัณฑ์อังกฤษได้ถูกทำลายไปเพื่อตอบสนองการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ และหลังจากนั้นสก๊อตแลนด์ก็เป็นเป้าหมายต่อไป นี่ทำให้เกิดเรื่องราวของการผจญภัย หายตัว ซุกซ่อน และพาหนี ของสิ่งสำคัญเหล่านี้เพื่อให้คงอยู่คู่แผ่นดินสก๊อตแลนด์
ครอมเวลล์สามารถรุกล้ำเข้ามายังปราสาทเอดินบะระแห่งนี้ได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถครอบครองหรือทำลายสมบัติล้ำค่านี้ได้เนื่องด้วยมีผู้นำออกไปทางฝั่งทะเลโดยผู้ที่ปลอมตัวเป็นชาวบ้านที่มาเก็บสาหร่ายแล้วนำออกไปยังที่ปลอดภัย
เครื่องราชกกุฏภัณฑ์แห่งสก๊อตแลนด์ได้หลบซ่อนตัวอยู่ในโบสถ์ Kinneff Parish โดยท่านบาทหลวงที่นั่นได้ฝังมันไว้ใต้พื้นดินจนได้พบเจออีกครั้งในการบูรณะโบสถ์ในเวลาอีก 9 ปีและนำมาใช้เมื่อสถาบันกษัตริย์ถูกสถาปนาอีกครั้งในวาระการประชุมสภาฯของสก๊อตแลนด์ แต่หลังจากการยุบสภาลงแล้วก็ไม่ได้ถูกใช้อีกต่อไป จึงถูกจัดเก็บไว้นาน นานเสียจนถูกลืม ไม่มีใครรู้ว่ามันไปอยู่ที่ไหนแล้ว
ภาพจำลองการค้นพบเครื่องราชกกุฏภัณฑ์ ที่หายไปนาน
ในที่สุด เมื่อเวลาผ่านไป 100 กว่าปีก็มีคนระลึกถึงมันจนได้ เมื่อ Sir Walter Scott ได้มีบัญชาให้ค้นหาเครื่องราชฯอีกครั้งด้วยความเชื่อว่ามันคงจะต้องถูกเก็บจนลืมไว้ในที่ใดที่หนึ่ง และแล้วการค้นพบก็ประสบความสำเร็จ ในปี 1819 หีบใหญ่ถูกค้นพบที่ห้องของปราสาทเอดินบะระ เมื่อเปิดออกมาก็พบกับสมบัติล้ำค่าที่ได้สูญหายไปเนิ่นนาน
แต่การเล่นซ่อนหายังไม่จบ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องราชฯก็ได้ถูกนำไปซ่อนเพื่อหลบภัยสงคราม และได้ถูกนำออกมาใช้อีกครั้งในพระราชพิธีราชาภิเษกพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ก่อนที่จะถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ปราสาทเอดินบะระดังเดิม รอคอยให้พวกเราได้ชื่นชมกัน
เล่าเรื่องการผจญภัยของเครื่องราชฯสก๊อตแลนด์แล้ว มาฟังเรื่องการผจญภัยของศิลาแห่งโชคชะตาต่อดีกว่า
ศิลาแห่งโชคชะตา (Stone of Destiny) มีอีกชื่อหนึ่งว่าศิลาแห่งสโคน (Stone of Scone) เพราะเชื่อว่าครั้งหนึ่งมันเคยถูกเก็บไว้ที่เมืองสโคน แต่ก็ได้ถูกอังกฤษเข้ามายึดเอาไว้ในสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 จึงได้ไปอยู่อังกฤษนานถึง 700 ปี โดยถูกนำไปไว้ในวิหารเวสต์มินเตอร์และได้นำมาใช้ในงานราชาภิเษกโดยนำมาวางไว้ใต้บัลลังก์ราชาภิเษก (Coronation Chair) เป็นสัญลักษณ์ของการครอบครองสก๊อตแลนด์ให้อยู่ภายใต้บารมีของกษัตริย์อังกฤษ
ศิลาแห่งสโคนถูกนำไปไว้ที่อังกฤษอยู่นานจนชาวสก๊อตแลนด์รู้สึกไม่พอใจและพยายามจะเอาคืน จนในที่สุดก็เอากลับมาจนได้จากการขโมยของกลุ่มนักศึกษาสก๊อตแลนด์ในปี 1950 โดยนำหินก้อนนี้ออกจากมหาวิหารเวสมินเตอร์ไปอยู่ในวิหาร Arbroath Abbey ของสก๊อตแลนด์ แต่แล้วก็ถูกนำกลับออกไปคืนให้อังกฤษอีก
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นั้นได้สร้างการถกเถียงถึงกรรมสิทธิ์ในการครอบครองหินนี้ต่อมา จนในที่สุดก็สามารถบรรลุข้อตกลงได้โดยที่สก๊อตแลนด์สามารถรักษามันไว้ แต่เมื่อใดที่อังกฤษจะต้องใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษก สก๊อตแลนด์จะต้องส่งมอบศิลานี้มาใช้ในพิธีอีกครั้ง ทั้งนี้ วันที่มีพิธีนำศิลาแห่งโชคชะตากลับมายังสก๊อตแลนด์อีกครั้ง มีฝูงชนเข้ามาต้อนรับนับหมื่นๆบน Royal Miles แห่งนี้
เห็นไหมว่าศิลาก้อนนี้มีค่าขนาดไหน ไม่ธรรมดาเลย
โฆษณา