4 ส.ค. 2022 เวลา 05:10 • ประวัติศาสตร์
“ภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในประเทศจีน (Great Chinese Famine)” ภาวะอดอยากที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
“ภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในประเทศจีน (Great Chinese Famine)” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงค.ศ.1959-1961 (พ.ศ.2502-2504) เป็นเหตุการณ์อดอยากของผู้คนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
จากเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 55 ล้านคน และยังคงตราตรึงในประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้
หากให้เทียบให้เห็นภาพว่าจำนวน 55 ล้านคนนี้เยอะแค่ไหน ประเทศไทยมีจำนวนประชากรประมาณ 66 ล้านคน เกาหลีใต้มีจำนวนประชากรประมาณ 51 ล้านคน และตัวเลขผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ 40 ล้านคน
แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิต 55 ล้านคนนี้มากมายมหาศาล เกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยทั้งประเทศ และมากกว่าชาวเกาหลีใต้และจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งหมด
ในภาวะอดอยากนี้ เพื่อจะเอาชีวิตรอด ผู้คนก็ไม่มีทางเลือก ต้องกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง พ่อแม่ก็ต้องกินลูกตนเอง นักเดินทางที่หลงไปยังหมู่บ้านห่างไกลก็มักถูกฆ่าเพื่อเอาเนื้อมากิน
สำหรับจุดเริ่มต้นของหายนะนี้ เริ่มจาก “เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong)” ผู้นำและผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องการจะเปลี่ยนให้จีนเป็นมหาอำนาจของโลก
และเพื่อที่จะทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ จีนจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารและปริมาณการผลิตเหล็ก
เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong)
หนึ่งในแผนการของเหมาเจ๋อตุง คือการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา ซึ่งมาในรูปแบบของ “แผนการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (Great Leap Forward)”
หากแต่แผนการนี้ก็จบลงด้วยหายนะ และหลายคนก็เรียกว่าเป็น “หายนะที่ราคาแพงที่สุด” เนื่องจากทำให้เกิดภาวะอดอยากในจีน และทำให้เศรษฐกิจจีนตกต่ำ
ถึงแม้ว่าทางการจะออกมาอ้างว่าสาเหตุของความอดอยาก มาจากภัยแล้งและน้ำท่วม แต่สาเหตุที่แท้จริงก็มาจากนโยบายที่ไม่ได้ผลดีนัก โดยสาเหตุที่เกิดจากนโยบายที่ผิดพลาดก็มีหลายข้อ เช่น
1.การแจกจ่ายอาหารอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
โกดังที่ใช้เก็บข้าวของรัฐบาลนั้นมีขนาดใหญ่ และมีจำนวนอาหารมากพอที่จะแจกจ่ายให้คนทั้งประเทศ หากแต่รัฐบาลก็ไม่เคยจัดสรรแจกจ่ายอาหาร
นักเขียนรายหนึ่งได้เขียนลงในบันทึกว่า
“ที่ซินหยาง ผู้คนที่หิวโหยต่างไปนอนหิวโหยข้างหน้าโกดังเก็บข้าว หากมีการเปิดโกดังที่เหอหนานและเหอเป่ย ก็ไม่มีใครต้องตาย”
1
2.การกำจัดนกกระจอก
เหมาเจ๋อตุงเชื่อว่านกกระจอกกินเมล็ดข้าวปีละกว่า 4.5 กิโลกรัม ทำให้นกกระจอกเป็นศัตรูต่อการเพาะปลูกและต้องเร่งกำจัด
แต่การกำจัดนกกระจอกไปจนแทบหมดสิ้นก็ทำให้แมลงและตั๊กแตนแพร่หลาย ไม่มีสิ่งที่มากำจัดแมลงเหล่านี้และทำให้พืชผลเสียหาย
3.การส่งออกข้าวจำนวนมาก
รัฐบาลได้ทำการส่งออกข้าวเพื่อนำเงินเข้าประเทศและใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและจ่ายหนี้สหภาพโซเวียต ทำให้ปริมาณข้าวในประเทศลดลง
4.เปลี่ยนให้ชาวนาชาวไร่มาใช้แรงงานในอุตสาหกรรมเหล็ก
ในเวลานั้น ชาวนาจำนวนมากถูกบังคับให้หยุดทำนา และมาใช้แรงงานในอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งผลที่ได้ ก็ทำให้เหล็กที่ผลิตออกมานั้นมีคุณภาพต่ำมาก ไม่สามารถใช้งานได้ และทำให้ภาคการเกษตรขาดแคลนแรงงานในการผลิตอาหาร
6.ระบบเผด็จการและการจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ในเวลานั้น การปกครองส่วนท้องถิ่นได้รายงานจำนวนผลผลิตทางเกษตรแก่รัฐบาลในปริมาณที่สูงเกินความเป็นจริง ทำให้รัฐบาลกลางเข้าใจผิด
ทุกๆ ที่ที่เหมาเจ๋อตุงไป จะมีการเตรียมพื้นที่อย่างดี ไร่นาที่แห้งผาก ก็จะไปนำผลผลิตและเมล็ดจากไร่อื่นมาใส่ให้ดูสมบูรณ์ เป็นการสร้างภาพให้เข้าใจผิด
และเพื่อปกปิดความจริงไม่ให้รัฐบาลกลางรู้ แพทย์ก็ถูกสั่งห้ามไม่ให้เขียนสาเหตุการตายของคนที่อดตายว่า “ขาดอาหาร” ในใบมรณะบัตร
1
ผลจากความอดอยาก ทำให้เกิดการ “กินเนื้อคน”
1
ในทีแรก มีการกินเนื้อศพ ก่อนที่ในเวลาต่อมา คนเจ็บป่วยก็ถูกฆ่าและนำเนื้อมากิน
1
การกินเนื้อคนได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในจีน
1
หลังจากที่สิ้นหวัง ไม่เหลืออะไรให้กินอีกแล้ว ผู้คนก็เริ่มหันไปกินกันเอง
ครอบครัวแต่ละครอบครัวเริ่มจะไม่แจ้งตายหากมีคนในครอบครัวเสียชีวิต และต่างก็เก็บศพของคนในครอบครัวเพื่อกิน มีแม้กระทั่งการทะเลาะกันเพื่อแย่งศพ
แต่ความหิวโหยนั้นไปไกลกว่านั้น พ่อแม่หลายครอบครัวฆ่าลูกตนเองเพื่อจะกินเนื้อ พี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่
การเดินทางไปในหมู่บ้านต่างๆ ก็กลายเป็นสิ่งที่อันตราย เนื่องจากชาวบ้านที่หิวโหยมักจะฆ่านักเดินทางที่หลงเข้ามาเพื่อกินเป็นอาหาร
1
ในหลายๆ พื้นที่ของจีน นักการเมืองท้องถิ่นก็ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องปากท้องของประชาชนเท่าที่ควร แต่ห่วงเรื่องโควต้าอาหาร รัฐบาลเองก็ไม่รับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน
มีการปล่อยข่าวลือต่างๆ เช่น ชาวนานั้นแกล้งทำเป็นหิวโหยเพื่อบ่อนทำลายการผลิตอาหาร
ชาวนาจำนวนมากถูกฆ่า ทรมาน หรือฝังทั้งเป็น โดยความผิดก็เช่น ขโมยข้าว ไม่ยอมมอบผลผลิต และรายงานตัวเลขผลผลิตที่แท้จริงให้รัฐบาล
แม้แต่เด็กก็ไม่ได้รับการละเว้น
เด็กชายวัย 12 ขวบถูกนำไปถ่วงน้ำข้อหาขโมยอาหาร ส่วนอีกราย ผู้เป็นพ่อถูกสั่งให้ฝังลูกตัวเองทั้งเป็น หลังจากที่ลูกไปขโมยอาหาร
2
เมื่อถึงปีค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) รัฐบาลจึงตระหนักชัดเจนว่านโยบายก่อนหน้านั้นไม่ได้ผล และเริ่มเปลี่ยนแผน มีการนำเข้าอาหารเพื่อทำให้ความอดอยากหมดไป
ในไม่ช้า จีนก็ค่อยๆ เปิดรับและเรียนรู้จากโลกภายนอก
ในเวลาต่อมา จีนเริ่มปรับตัวสู่ตลาดเสรีและครอบครัวแต่ละแห่งก็ได้รับอนุญาตให้จัดการผลิตอาหารและจัดสรรอาหารได้เอง
สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในประเทศจีน จากบันทึกนั้น อยู่ระหว่าง 15-55 ล้านคนเลยทีเดียว
โฆษณา