13 ส.ค. 2022 เวลา 23:00 • ข่าวรอบโลก
การโจรกรรมเพชรแห่งศตวรรษ มูลค่ากว่า 100 ล้าน USD !!!
ครั้งนี้เราจะมาเล่าให้ฟังถึงการโจรกรรมเพชรครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งในภาษาฝรั่งเศสจะเรียกว่า La Casse du siècle หรือ “การโจรกรรมแห่งศตวรรษ” ค่ะ
การปล้นครั้งนี้เป็นฝีมือของคนร้าย 5 คน ใช้เวลา 5 ชั่วโมง ปล้นเซฟนิรภัยไปได้กว่า 100 ตู้ มูลค่าของเพชรที่ถูกขโมยไปสูงกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสิ่งที่ทำให้การปล้นเพชรครั้งนี้เป็นที่จำจดและโจษขานเป็นเพราะคนร้ายปฏิบัติการได้สำเร็จ โดยที่ระบบรักษาความปลอดภัยสารพัดชนิดที่ติดตั้งไว้ไม่ทำงานเลย
พวกเขาทำอย่างไร และเพราะอะไรคนร้ายที่มีการวางแผนมาอย่างดีจึงถูกจับได้ เชิญติดตามไปพร้อม ๆ กันค่ะ
การโจรกรรมเพชรครั้งนี้เกิดขึ้นที่เมือง Antwerp แอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้าเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกมานานหลายร้อยปีแล้วค่ะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่บนแม่น้ำ Scheldt ที่มีทางออกไปยังทะเลเหนือ จึงมีเรือผ่านไปมาจำนวนมาก และเมื่อ 500 กว่าปีที่แล้ว ก็มีนักเดินเรือนำเพชรดิบเม็ดแรกจากอินเดียมาขายที่เมืองนี้ การค้าเพชรดิบจึงเริ่มต้นขึ้น
ผู้ค้าเพชรคัดสรรเพชรดี ๆ ไปเจียระไน และพัฒนาการเจียระไนเพชรให้พิถีพิถันได้เพชรน้ำงามที่สวยขึ้นเรื่อย ๆ สวยจนพระเจ้า ฟรองซัวส์ที่ 1 ของฝรั่งเศส กษัตริย์ที่เป็นเจ้าของปราสาทสวยๆ แห่งลุ่มน้ำลัวร์ และให้การอุปถัมภ์ลีโอนาโด ดาวินชี่ ผู้ที่วาดภาพโมนาลิซ่า หันมาสั่งซื้อเพชรจากเมืองนี้แทนการซื้อจากร้านเพชรในปารีสเลยล่ะค่ะ ตั้งแต่นั้นมา การค้าเพชรของที่นี่ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นศูนย์กลางการค้าเพชรของโลกจนถึงปัจจุบัน
2
ด้วยความที่เมืองแอนต์เวิร์ปเป็นศูนย์กลางการค้าเพชร ผู้ค้าเพชรจากทั่วโลกต่างก็มาที่เมืองนี้ จึงได้มีการสร้างตึกเพื่อเป็นสำนักงานให้เช่าและมีตู้เซฟนิรภัยไว้ให้บริการ สำหรับใช้เก็บรักษาเพชรและอัญมณีต่าง ๆ ที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งตึกจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีเยี่ยม เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ และ Antwerp World Diamond Center คือ ตึกที่ว่านี้ค่ะ ต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆ ว่า Diamond Center นะคะ
ตึก Diamond Center
ตึกแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจ มีป้อมตำรวจอยู่ด้านหน้า มีตำรวจประจำการตลอด 24 ชั่วโมง คอยควบคุมระบบการเข้าออกของรถยนต์ที่ผ่านไปมาบริเวณตึก
การจะเข้าออกตึกต้องมีบัตรผ่านอิเล็กทรอนิกส์และมีกล้องบันทึกภาพทุกคนที่ผ่านเข้าออก
1
ภายในตึกโดยเฉพาะในห้องนิรภัยมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยสารพัดชนิด ไม่ว่าจะเป็น กล้องวงจรปิด เซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนจากร่างกายมนุษย์ เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว เซ็นเซอร์ตรวจจับแสง ระบบนิรภัยที่ใช้สนามแม่เหล็ก และตู้เซฟที่นี่ยังมีรหัสที่เป็นไปได้กว่า 100 ล้านชุด การสุ่มหมุนรหัสเซฟจึงแทบเป็นไปไม่ได้
นอกจากนี้ ตึกนี้มีกฎว่า จะไม่มีการเปิดตู้เซฟหลังสี่โมงเย็นของวันศุกร์ถึงเจ็ดโมงเช้าของวันจันทร์ และช่วงวันเสาร์อาทิตย์ ตึกจะปิดทำการ ไม่มีใครเข้าออกตึกได้แม้กระทั่ง รปภ. ดังนั้น ในช่วงสุดสัปดาห์ อัญมณีมูลค่ามหาศาลจึงอยู่ภายใต้การดูแลของระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนานานาชนิดเพียงอย่างเดียว
แต่แล้วในเช้าวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2003 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ “Diamond Center” ก็ต้องตกตะลึกเมื่อเดินตรวจตราไปถึงห้องนิรภัยที่อยู่ใต้ดินลึกลงไปสองชั้น และพบว่า ประตูห้องนิรภัยถูกเปิดออก ตู้เซฟเกือบ 200 ตู้ถูกงัด ข้าวของถูกรื้อกระจัดกระจายเต็มไปหมด โดยที่ระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ที่ว่าทันสมัยและดีที่สุดนั้นไม่ส่งเสียงแจ้งเตือนใด ๆ
1
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ พวกเขาก็ตระหนักว่า ความเสียหายจากการโจรกรรมครั้งนี้มีมูลค่ามหาศาลเพราะข้าวของที่กระจัดกระจายอยู่ในห้องนิรภัย คือ เงินและทรัพย์สินมีค่าที่คนร้ายขนไปไม่หมดซึ่งประเมินดูแล้วมีมูลค่าสูงพอที่คนสามคนจะอยู่ได้อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องทำงานไปตลอดชีวิต ไม่ต้องคิดเลยว่า ส่วนที่คนร้ายขนไปได้นั้นจะมีมูลค่าสูงกว่านี้ขนาดไหน
1
ตำรวจพบว่า คนร้ายงัดตู้เชฟ 123 ตู้จากประมาณ 200 ตู้ ทรัพย์สินที่สูญหายไปมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไปเจ้าของตู้เซฟต่างช็อคไปตามๆ กัน เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า การโจรกรรมในสถานที่ที่เรียกว่าแทบจะเจาะเข้าไปไม่ได้ จะเกิดขึ้นแล้ว
ตำรวจเร่งค้นหาพยานหลักฐาน แต่ไม่พบการงัดแงะเข้าตึก ไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิด ไม่มีพยาน ระบบเตือนภัยต่าง ๆ ไม่ส่งเสียงแจ้งเตือนทั้ง ๆ ที่ยังทำงานตามปกติ และในตอนนี้ หลักฐานเดียวที่มี ก็คือ สภาพห้องนิรภัยที่ตู้เซฟถูกรื้องัดและข้าวของที่กระจัดกระจายอยู่เต็มพื้นห้อง ตำรวจมุ่งหาหลักฐานจากบริเวณดังกล่าว เพื่อหารอยนิ้วมือหรือ DNA แต่ก็ไม่พบอะไรเลย
1
ในขณะที่ตำรวจกำลังมืดแปดด้าน ไกลออกไป 30 กิโลเมตร ในที่ดินริมถนน Highway ที่จะมุ่งหน้าไปกรุง บรัสเซลล์ คุณลุงนักล่าสัตว์คนหนึ่งกำลังจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยตำรวจ ซึ่งถ้าไม่มีคุณลุงแล้ว ว่ากันว่า คนร้ายในคดีนี้คงจะลอยนวลไปอย่างแน่นอน
พระเอกของเรา ชื่อว่า ออกุสต์ ฟาน กัมป์ ค่ะ ด้วยความที่คุณลุงไม่ชอบให้คนที่ขับรถผ่านไปมา โยนขยะมาทิ้งในที่ดินของแก ทุก ๆ วัน แกจะเดินสำรวจเพื่อดูว่ามีใครเอาขยะมาทิ้งไว้ไหม และในตอนสายของวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ วันเดียวกับที่ รปภ. ไปเจอว่า ห้องนิรภัยถูกปล้น คุณลุงก็ไปพบกับถุงขยะ และขยะแปลกไปจากทุกวัน เช่น ลวด ซองใส่ธนบัตรที่ฉีดขาด คุณลุงรู้ทันทีว่า ขยะที่พบวันนี้ไม่ธรรมดาซะแล้ว แกก็เลยโทรแจ้งตำรวจค่ะ
คุณลุงออกุสต์ ฟาน กัมป์
เมื่อตำรวจนำถุงขยะมาตรวจสอบก็พบอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่เชื่อมโยงกับการโจรกรรมเพชรที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น มรกตชิ้นเล็ก ๆ สก็อตเทปแบบเดียวกับที่พบในห้องนิรภัย และซองจดหมายที่มีที่อยู่ของ Diamond Center รวมถึงเศษอาหาร ซึ่งทุกอย่างถือเป็นหลักฐานชั้นเยี่ยมของคดีนี้ โดยมีหลักฐานสำคัญ 4 ชิ้น ที่นำไปสู่ตัวคนร้าย 3 คน
ชิ้นแรก คือ เอกสารที่ฉีกขาดที่เมื่อนำมาประกอบขึ้นใหม่จะพบชื่อและที่อยู่ของบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ที่ Diamond Center ตอนแรกตำรวจคิดว่า เอกสารนี้คงเป็นเอกสารจากตู้เซฟหนึ่งใน 123 ตู้ที่ถูกงัด แต่เมื่อตรวจสอบแล้วกลับพบว่า ตู้เซฟของบริษัทนี้ไม่ได้ถูกงัดแต่อย่างใด?? ตำรวจก็คิดทันทีว่า เจ้าของบริษัทดังกล่าวจะต้องมีส่วนรู้เห็นกับการโจรกรรมครั้งนี้แน่นอน
หลักฐานชิ้นที่ 1
และเมื่อตรวจสอบ ตำรวจก็พบว่า เจ้าของบริษัทที่ว่า คือ Leonardo Notarbartolo เขาเป็นคนอิตาลีที่มาเช่าสำนักงานและตู้เซฟนิรภัยที่ Diamond Center ตำรวจเบลเยี่ยมจึงขอข้อมูลไปยังตำรวจอิตาลี และก็ได้รู้ว่า โนทาร์บาร์โทโล่ มีประวัติอาชญากรรมยาวเหยียด ทั้งค้ายา ขโมยรถ และการปล้นเพชร!!!
ใช่ค่ะ เขาเคยปล้นเพชรมาก่อนแล้วในอิตาลี เมื่อตำรวจเบลเยี่ยมทราบข้อมูลนี้ เขาก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับ 1 ทันที
Leonardo Notarbartolo
หลักฐานสำคัญชิ้นที่ 2 คือ นามบัตรที่ถูกฉีกของชายที่ชื่อ Elio D'Onorio เจ้าของฉายา “The Genius" เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะระบบนิรภัยต่าง ๆ และความเชี่ยวชาญที่ไม่ธรรมดาของเขานี่เอง ที่ทำให้เขาตกเป็นผู้ต้องสงสัยคนที่สอง
หลักฐานชิ้นที่ 2
หลักฐานสำคัญชิ้นที่ 3 คือ ใบเสร็จร้านขายเครื่องมือและอุปกรณ์ DIY ตำรวจจึงไปตรวจสอบที่ร้านดังกล่าว แต่ร้านนี้ไม่มีกล้องวงจรปิด จึงไม่มีภาพคนร้าย โชคยังดีที่พนักงานในร้านจำได้ว่า มีชายสองคนมาถามคำถามแปลก ๆ เกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องเชื่อมและได้ซื้ออุปกรณ์อย่างอื่นกลับไปด้วย และเขาได้ให้รายละเอียดสำหรับสเก็ตภาพจนตำรวจเดาได้ไม่ยากว่า หนึ่งในสองคน ก็คือ Elio D'Onorio นั่นเอง
ภาพสเก็ต Elio D'Onorio
หลักฐานสำคัญชิ้นที่ 4 คือ ใบเสร็จซุปเปอร์มาร์เก็ตที่คนร้ายไปซื้ออาหารก่อนลงมือโจรกรรม ครั้งนี้ทางร้านมีกล้องวงจรปิดที่จับภาพคนร้ายได้ และเมื่อตำรวจเบลเยี่ยมส่งภาพดังกล่าวไปไปให้ตำรวจอิตาลี ทางอิตาลีก็แจ้งมาว่า คนในภาพ คือ Ferdinando Finotto เขามีฉายาว่า The Monster เพราะมีรูปร่างสูงใหญ่ กำยำ และแข็งแรงมาก และเขาเคยต้องสงสัยว่า พยายามปล้นธนาคารในเบลเยี่ยมมาก่อนแล้วด้วยแต่ไม่สำเร็จ
กล้องวงจรปิดที่จับภาพคนร้ายได้
ตอนนี้หลักฐานจากถุงขยะทำให้ตำรวจพบผู้ต้องสงสัย 3 ร้ายที่คาดว่า น่าจะรู้จักกันมาก่อนแล้วนะคะ และจากการสืบหาข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของทั้ง 3 คน ตำรวจก็พบกับผู้ต้องสงสัยรายที่ 4 เขาคือ Pietro Tavano เจ้าของฉายา Speedy เพื่อนเก่าที่โนทาร์บาร์โทโล่ไว้ใจมาก เขาเป็นคนขี้กังวล ทำงานเป็นช่างซ่อมตัวถังรถยนต์ Tavano ก็รู้จักกับคนร้ายคนอื่น ๆ เช่นกัน พวกเขาเรียกตัวเองว่า “แก๊งตูริน” เพราะทุกคนอยู่ที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลีค่ะ
จริง ๆ แล้วคนร้ายยังมีอีก 1 คนนะคะ โนทาร์บาร์โทโล่เรียกเขาว่า King of Keys หรือ “เจ้าแห่งกุญแจ” เขาเป็นคนเดียวที่ไม่ถูกจับ และไม่มีหลักฐานที่ทำให้เรารู้ว่า เขาคือใครมาจนถึงทุกวันนี้ ว่ากันว่า เขาเป็นชายสูงวัยและเป็นหนึ่งในช่างทำกุญแจที่ฝีมือดีที่สุดในโลกค่ะ
2
พวกเขาเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละคนมารวมกันเพื่อปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยตำรวจเชื่อว่า โนทาร์บาร์โทโล่ คือ หัวหน้าขบวนการและเป็นคนวางแผนทั้งหมด
จากการสืบสวน ตำรวจพบว่า โนทาร์บาร์โทโล่ใช้เวลาเตรียมการนานกว่า 2 ปี โดยเขามาติดต่อขอเช่าสำนักงานและตู้เซฟที่ Diamond Center 2 ปีก่อนเกิดเหตุ โดยอ้างว่าเป็น พ่อค้าเพชรชาวอิตาลี นอกจากนี้ พอตรวจสอบเกี่ยวกับบริษัทของเขา เจ้าหน้าที่ก็พบว่า เขาไม่เคยจดทะเบียนการค้า และตลอดสองปีที่ผ่านมา เขาไม่เคยค้าขายเพชรกับบริษัทใด ๆ เลย
ผู้จัดการตึกบอกว่า ตอนเขามาติดต่อ เขาแต่งตัวดี อัธยาศัยดีตามสไตล์คนอิตาลีทั่วไป จึงไม่ได้ระแวงสงสัยอะไร แต่ถึงแม้ว่าจะมีอะไรน่าสงสัย พวกเขาก็จะตรวจไม่พบประวัติอาชญากรรมของโนทาร์บาร์โทโล่อยู่ดี เพราะสามารถตรวจสอบได้เฉพาะประวัติอาญชกรรมที่เกิดขึ้นในเบลเยี่ยมเท่านั้นไม่รวมไปถึงที่อิตาลีค่ะ
การเช่าสำนักงานที่ตึกนี้ ทำให้โนทาร์บาร์โทโลมีทุกอย่างที่เขาต้องการ เขามีบัตรผ่านเข้าออก มีที่จอดรถ มีตู้เซฟในห้องนิรภัย ทั้งหมดนี้เขาจ่ายค่าเช่าในราคาเดือนละ 700 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 23,000 บาท นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากเลยนะคะ
1
หลังจากนั้น เขาก็จะมาที่ Diamond Center เดือนละประมาณ 2 ครั้ง เพื่อเก็บข้อมูลการเข้างานออกงานของ รปภ. และผู้ค้าเพชร รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ทั้งบริเวณรอบ ๆ ตัวตึก ภายในตัวตึก โดยเฉพาะภายในห้องนิรภัย ว่ากันว่า เขาตัดกระเป๋าถือเป็นช่องเล็ก ๆ เพื่อเสียบกล้องปากกาสำหรับบันทึกทุกสิ่งอย่างเอาไว้ เมื่อเขาได้รายละเอียดที่ต้องการเพียงพอ ก็ถึงเวลาลงมือปฏิบัติการ
1
วันที่เกิดการโจรกรรมเพชรครั้งประวัติศาสตร์นี้ คือ กลางดึกของวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่แก๊งตูรินเลือกมาอย่างดี เพราะก่อนหน้านั้น บริษัท De Beer บริษัทเพชรรายใหญ่ของโลกเพิ่งนำเพชรล็อตใหญ่มาเก็บไว้ในห้องนิรภัย นอกจากนี้ วันนั้นยังเป็นวันที่มีการแข่งขันเทนนิสประจำปี ที่ชื่อว่า Diamond Game มีนักเทนนิสหญิงระดับโลกอย่าง Venus Williams และคนอื่น ๆ มาร่วมแข่งขันมากมาย ความสนใจของผู้คนในเมืองจึงไปอยู่ที่สนามเทนนิสกันหมด
ย่านที่เป็นที่ตั้งของ Diamond Center จึงแทบกลายเป็นเมืองร้าง เหมาะแก่การลงมือเป็นที่สุด แม้จะมีตำรวจประจำอยู่ที่ป้อมยามห่างไปประมาณ 500 เมตร แต่ในตัวตึกไม่มีใครเลย อัญมณีมูลค่ามหาศาลถูกฝากไว้กับระบบป้องกันการโจรกรรมสารพัดชนิดเพียงอย่างเดียว !!! เพราะฉะนั้น แม้ว่ากล้องวงจรปิดจะจับภาพอะไรที่ผิดปกติได้ ก็จะไม่มีใครแจ้งตำรวจให้มาดำเนินการ เพราะไม่มีแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่มานั่งควบคุมจอมอนิเตอร์ของกล้องวงจรปิดค่ะ
1
ย่าน Diamond Center ที่แทบไม่มีผู้คนผ่านไปมา
ส่วนวิธีการจัดการกับระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ พวกเขาแบ่งงานกันทำแบบนี้ค่ะ
พวกเขาให้ ทาวาโน่ เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ที่ห้องพักของโนทาร์บาร์โทโล่ และเดินสังเกตการในย่านนั้น ส่วนโนทาร์บาร์โทโล่ กับพวกอีก 3 คน จะเป็นคนลงมือโจรกรรม โดยทุกคนสวมถุงมือพลาสติกเพื่อไม่ทิ้งรอยนิ้วมือไว้ในที่เกิดเหตุ แต่บางทฤษฎีก็บอกว่า คนที่รออยู่ข้างนอก คือ โนทาร์บาร์โทโล่ ไม่ว่าจะทฤษฎีไหน เอาเป็นว่า มีคนร้าย 1 คน คอยดูต้นทางอยู่ด้านนอก และอีก 4 คน เข้าไปปฏิบัติการด้านในอาคารนะคะ
ส่วนวิธีการเข้าไปในตึก บางทฤษฎีก็บอกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับตำรวจที่ประจำอยู่ที่ป้อมยามด้านทางเข้าหลักของตึก พวกเขาเลือกที่จะเข้าตึกทางประตูทางเข้าลานจอดรถที่ค่อนข้างจะลับตาคน โดยหลายวันก่อนหน้านั้น หนึ่งในคนร้ายได้ใช้บัตรผ่านเข้าออกของโนทาร์บาร์โทโล่เข้าไปที่ตึกและซ่อนตัวอยู่ในนั้นทั้งคืนเพื่อศึกษาระบบการเปิดปิดประตูที่จอดรถจนรู้ว่า เป็นการเปิดปิดโดยใช้คลื่นความถี่ใด จากนั้นก็ทำรีโมทที่สามารถใช้เปิดประตูได้จากระยะไกลจากภายนอก
บางทฤษฎีก็บอกว่า เพื่อหลบกล้องวงจรปิดจำนวนมากของ Diamond Center “เจ้าแห่งกุญแจ” King of Keys ช่วยให้พวกเขาเข้าไปในสำนักงานร้างแห่งหนึ่งที่ใช้พื้นที่สวนส่วนตัวร่วมกับ Diamond Center จากสวนแห่งนี้พวกเขาสามารถปีนขึ้นบันไดไปยังระเบียงขนาดเล็กของ Diamond Center ได้
1
ที่ระเบียงมีระบบเซ็นเซอร์อินฟราเรดติดตั้งอยู่ The Genius หรือโดโนริโอซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ปลดล็อคระบบดังกล่าว โดยใช้โล่ขนาดใหญ่ ที่ทำขึ้นเองจากโพลีเอสเตอร์ เจ้าโล่นี่ช่วยกันไม่ให้ความร้อนจากตัวเขาแผ่ไปถึงเซ็นเซอร์ได้ เขาใช้โล่บังตัวเอง จากนั้นก็ค่อยๆ เดินไปยังตัวเซ็นเซอร์ และเอาโล่ไปบังเซ็นเซอร์ไว้ จากนั้นก็ไปปลดล็อคสัญญาณกันขโมยที่ติดตั้งไว้ที่หน้าต่างเพื่อให้คนร้ายที่เหลือเข้ามา
ไม่ว่าพวกเขาจะเข้าตึกได้ด้วยวิธีไหน แต่เมื่อเข้าไปในตึกได้แล้ว พวกเขาก็มุ่งหน้าไปที่ห้องนิรภัยทันที
อย่างที่บอกไปในตอนต้นนะคะว่า วันเสาร์อาทิตย์เป็นวันที่ห้ามทุกคนลงมายังห้องนิรภัยและไม่มีใครมาทำงานที่ตึกเลย ทางตึกก็จะเปิดใช้งานระบบป้องกันการโจรกรรมที่ติดตั้งไว้บริเวณโถงหน้าห้องนิรภัย แบบเต็มอัตราศึก ทั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ตรวจจับความร้อน ตรวจจับแสง และกล้องวงจรปิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครเข้าใกล้ห้องนิรภัยได้ นั่นหมายความว่า ถ้ามีการเปิดไฟ เซ็นเซอร์ตรวจจับแสงจะทำงานทันที และถ้ามีการเคลื่อนไหวของมนุษย์เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและตรวจจับความร้อนก็จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนทันทีเช่นกัน
2
แต่แก็งตูรินเตรียมการมาอย่างดี ระบบแค่นี้ ไม่สามารถหยุดพวกเขาได้ค่ะ
1
เริ่มจากระบบตรวจจับความร้อน ก่อนหน้าที่จะลงมือโจรกรรม 1 วัน โนทาร์บาร์โทโล่ทำทีมาที่ตู้เซฟของตัวเองเพื่อจัดการกับเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อน โดยการเอาสเปรย์ตกแต่งทรงผมฉีดไปที่ตัวเซ็นเซอร์ สเปรย์จะไปฟรีซให้อุณหภูมิบริเวณเซ็นเซอร์ไม่เปลี่ยนแปลงชั่วคราวซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงพอสำหรับให้พวกเขาเข้ามาปลดล็อคระบบเซ็นเซอร์ในวันต่อมา
แอบสงสัยเหมือนกันนะคะว่า เขาทำไปได้ยังไง โดยที่ รปภ. ไม่เห็น หรือกล้องวงจรปิดจับภาพไม่ได้ ว่ากันว่า เป็นเพราะโนทาร์บาร์โทโล่ฝึกการพ่นสเปรย์โดยใช้ท่าทางที่ดูผิดปกติน้อยที่สุดมาอย่างดี และเนื่องจากสเปรย์ไม่มีสี เมื่อพ่นไปแล้วจึงไม่มีใครสังเกตเห็น นอกจากนี้ ด้วยความที่เขามาที่ห้องนิรภัยเป็นประจำ รปภ.ก็คงจะคุ้นเคยกับเขา ทำให้ไม่ได้จับตาดูเป็นพิเศษค่ะ
ในวันต่อมา เมื่อพวกเขามาถึงโถงหน้าห้องนิรภัย ช่วงแรกพวกเขาทำงานในความมืด จนเมื่อเอาเทปสีทึบไปติดทับเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงได้สำเร็จ พวกเขาจึงเปิดไฟและจัดการกับระบบรักษาความปลอดภัยที่เหลือ โดยการเอากล่องที่ทำจากโฟมวางครอบไปบนตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้มันทำงาน และเอาถุงพลาสติกสีดำไปคลุมกล้องวงจรปิด
1
ฟังมาถึงตอนนี้ รู้สึกเหมือนกันไหมคะ ว่า ทำไมระบบป้องกันการโจรกรรมที่ว่ากันว่า “เจาะไม่ได้” มันช่างเจาะได้ง่ายดายได้ขนาดนี้ ถึงจะฟังดูง่าย แต่ก็เป็นวิธีการที่คนทั่วไปไม่รู้ ตำรวจเองก็บอกว่าพวกเขาก็ไม่รู้เช่นกัน แต่แก็งตูรินรู้ และรู้ดีมาก ๆ เสียด้วยนะคะ
เมื่อจัดการกับเซ็นเซอร์ต่าง ๆ บริเวณโถงหน้าห้องนิรภัยได้แล้ว พวกเขาก็มาเจอด่านใหญ่ คือ ประตูห้องนิรภัย ซึ่งการเปิดประตูห้องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ เพราะประตูห้องนิรภัยหนาถึง 61 เซนติเมตร หนักถึง 3 ตัน ถ้าจะเจาะก็ต้องใช้เวลาถึง 12 ชั่วโมง แถมการเปิดประตูมี 2 ขั้นตอน คือ ต้องใช้กุญแจพิเศษที่ไม่สามารถทำปลอมขึ้นมาได้ไขเข้าไป และจะต้องหมุนรหัสเพื่อเปิดประตู อันนี้ก็คือ การหมุนตัวเลขให้ตรงกับรหัสที่ตั้งไว้เหมือนกับเวลาเราเปิดตู้เซฟตามบ้านนั่นล่ะค่ะ ซึ่งคนที่รู้รหัสก็มีแต่ รปภ. เท่านั้น
ประตูห้องนิรภัย
นอกจากนี้ ที่ประตูยังมีระบบป้องกันที่ทำจากแม่เหล็ก 2 แผ่น แท่งหนึ่งติดไว้ที่บานประตู และอีกแท่งหนึ่งติดไว้ที่ขอบประตู โดยสัญญาณเตือนภัยจะดังทันทีที่แม่เหล็กทั้งสองแผ่นแยกออกจากกันเวลาที่ประตูถูกเปิดออก และเมื่อเปิดประตูเข้าไปได้แล้ว ก็จะไปเจอกับลูกกรงเหล็กที่ต้องใช้กุญแจอีก 1 ดอก ในการเปิด
ฟังดูแล้ว ไม่น่าจะมีใครเปิดประตูห้องนิรภัยได้เลยใช่ไหมคะ แต่ The Genius หรือโดโนริโอเจาะระบบป้องกันนี้ง่ายๆ โดยใช้แผ่นเหล็กรูปตัวทีที่ติดกาวสองหน้าไว้ด้านล่างวางประกบไปบนแท่งแม่เหล็กทั้งสอง ทีนี้เวลาจะเปิดประตู ก็ค่อยๆ เปิดแง้มเพียงเล็กน้อยพอให้แทรกตัวผ่านเข้าไปได้ เพียงแค่นี้ก็เปิดประตูได้โดยที่แม่เหล็ก 2 แท่งก็ไม่แยกออกจากกัน สัญญาณเตือนภัยก็จะไม่ดังขึ้น
แม้ว่าจะจัดการปลดระบบสัญญาณแม่เหล็กได้แล้ว แต่ก่อนจะเปิดประตูได้ พวกเขายังคงต้องไขกุญแจและหมุนรหัสเปิดประตู สำหรับกุญแจที่จะใช้ไขประตู ว่ากันว่า King of Keys ทำปลอมขึ้นมาโดยดูจากภาพและวิดิโอที่โนทาร์บาร์โทโล่แอบบันทึกไว้
แต่ในวันโจรกรรมเขากลับไม่ได้ใช้กุญแจที่ทำขึ้น เพราะโนทาร์บาร์โทโล่มาสำรวจที่นี่หลายครั้งจนรู้ว่า กุญแจถูกเก็บอยู่ในห้องเก็บของใกล้ๆ กับห้องนิรภัยนั่นเอง พวกเขาจึงเดินเข้าไปหยิบกุญแจมาไขอย่างไม่ยากเย็นเพราะห้องเก็บของไม่ได้ถูกล็อคไว้ แต่บางคนก็บอกว่า เขาลองใช้กุญแจที่ทำขึ้นแล้ว แต่ใช้ไม่ได้ ก็เลยเข้าไปหยิบกุญแจในห้องเก็บที่ของถูกล็อคไว้โดยใช้ชะแลงงัดเข้าไป
ส่วนรหัสเปิดประตูเข้าห้องนิรภัย อันนี้บางคนก็บอกว่า พวกเขาติดตั้งกล้องเล็ก ๆ ไว้ด้านบนประตูเพื่อใช้บันทึกเวลา รปภ. หมุนรหัสเปิดประตูห้องนิรภัย
แต่ก็มีคนแย้งว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะตัวหมุนรหัสมีอุปกรณ์บังเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เห็นว่าหมุนเลขอะไร ซึ่งถ้าใช้วิธีการติดตั้งกล้องเพื่อบันทึกรหัสจริง ก็น่าสงสัยนะคะว่า โนทาร์บาร์โทโล่ใช้วิธีไหนในการติดตั้งกล้อง เพราะเวลาเขาลงไปห้องนิรภัย ก็มี รปภ. ตามประกบตลอด และประตูก็สูง จะเอากล้องขึ้นไปติดโดยที่ รปภ. ไม่เห็นได้อย่างไร บางคนก็เลยคิดว่า เขาอาจได้รหัสมาโดยวิธีอื่น
ก่อนที่พวกเขาจะเปิดประตูห้องนิรภัย พวกเขาได้ปิดไฟบริเวณโถงหน้าห้อง เพราะกลัวว่าแสงจากข้างนอกจะทำให้เซ็นเซอร์ตรวจจับแสงในห้องนิรภัยทำงาน จากนั้นพวกเขาก็เปิดประตูไปเจอกับลูกกรงเหล็กที่ต้องใช้กุญแจไข ด่านนี้ พวกเขาเพียงแค่ใช้ชะแลงงัด ก็เข้าไปในห้องนิรภัยได้อย่างง่ายดาย เจ้าชะแลงนี่ก็ไปซื้อมาจากร้านเครื่องมือและอุปกรณ์ DIY ที่คุณลุงฟาน กัมป์ ไปพบใบเสร็จตกอยู่ในที่ดินของแกนั่นแหละค่ะ
ตอนนี้พวกเขาเข้ามาในห้องนิรภัยได้แล้ว แต่โนทาร์บาร์โทโล่รู้ว่าการจะเปิดตู้เซฟแต่ละตู้ จำเป็นจะต้องมีกุญแจและรหัสเปิดตู้เซฟ ก่อนการปฏิบัติการ เขาจึงได้ถ่ายรูปตู้เซฟของเขาเองส่งไปให้เพื่อนในอิตาลี เพื่อศึกษาวิธีการทำงานของตู้เซฟและคิดหาวิธีเปิดโดยไม่ใช้กุญแจและรหัส แล้วพวกเขาก็ประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาได้อันหนึ่ง ใช้หลักการทำงานคล้ายๆ กับสว่าน เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถเปิดตู้เซฟได้ภายใน 1 นาทีเท่านั้น
สว่านประดิษฐ์ที่ใช้ในการเปิดตู้เซฟ
บางแหล่งข้อมูลบอกว่า การปฏิบัติการในห้องนิรภัยทำท่ามกลางความมืด โดยพวกเขาจำแผนผังของห้องนิรภัยได้ขึ้นใจ และจะเปิดไฟกระพริบเป็นระยะเพื่อเอาสว่านไปวางเหนือตู้เซฟก่อนจะเปิดเซฟออกมาเท่านั้น แต่บางคนก็บอกว่า พวกเขาใช้เทปไปปิดทับเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงเพื่อปลดล็อคการทำงานของมันเหมือนกับที่ทำกับเครื่องตรวจจับแสงที่ติดตั้งไว้บริเวณโถงหน้าห้อง จากนั้นก็ค่อยเปิดไฟในห้องนิรภัย ใช้สว่านที่ทำขึ้นมาพิเศษเจาะตู้เซฟแต่ละตู้
เมื่อเปิดตู้เซฟได้ พวกเขาก็เลือกว่า จะขนของชิ้นไหนกลับไป ส่วนมากของที่คนร้ายเลือกก็คือ อัญมณีที่มีมูลค่าสูงและทรัพย์สินที่ขายต่อได้ง่าย ตำรวจเชื่อว่า พวกเขาอยู่ในห้องนิรภัยประมาณ 5 ชั่วโมงก่อนที่จะกลับออกมา ไม่ใช่เพราะกลัวที่จะถูกจับได้นะคะ แต่เป็นเพราะสิ่งของที่พวกเขาขโมยนั้นมีน้ำหนักมากจนพวกเขาขนกลับไม่ไหวแล้ว
1
ก่อนจะออกจากตึก พวกเขาก็ไปปฏิบัติการขั้นสุดท้าย คือ การจัดการกับเทปของกล้องวงจรปิด โดยก่อนลงมือโจรกรรม พวกเขาสืบจนรู้ว่า ทางตึกเก็บเทปบันทึกกล้องวงจรปิดไว้ที่ไหน พวกเขาก็ไปเอาเทปที่บันทึกการโจรกรรมกลับไปด้วยและใส่เทปที่บันทึกเหตุการณ์ปกติเอาไว้แทน
1
แล้วทั้ง 4 คน ก็กลับออกไปทางลานจอดรถที่พวกเขาเข้ามา ส่วนทฤษฎีที่ว่าพวกเขาเข้าไปใน Diamond Center ผ่านสำนักงานร้างที่มีสวนเชื่อมกัน ไม่ได้บอกไว้นะคะว่าพวกเขาออกมาจากตึกทางไหน
แต่เมื่อออกจากตึกมาได้แล้ว บ้างก็ว่า พวกเขานำสิ่งของที่ขโมยมาได้ไปใส่ท้ายรถที่เพื่อนของพวกเขามาจอดรออยู่และนั่งเบียดกันกลับไป บ้างก็ว่า พวกเขาแค่เอาของที่ขโมยมาใส่รถแต่แยกย้ายกันเดินกลับไปยังที่พักของโนทาร์บาร์โทโล่เพื่อแบ่งทรัพย์สินที่ขโมยมาได้ และเก็บหลักฐานทุกอย่างที่จะสาวมาถึงพวกเขาใส่ถุงขยะเตรียมเอาไปทำลาย
1
พอเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พวกเขาก็แยกกันขับรถกลับอิตาลี โดยตั้งใจว่าจะนำหลักฐานต่าง ๆ ไปเผาทิ้งในฝรั่งเศส แต่ในระหว่างการเดินทางกลับอิตาลีนี่เองที่ทาวาโน่ หรือ Speedy เพื่อนสนิทของโนทาร์บาร์โทโล่เกิดสติแตก กลัวว่าตำรวจจะตั้งด่านตรวจเพื่อหาตัวคนร้าย จนมาเจอหลักฐานที่อยู่ในถุงขยะข้างหลังรถ เขาจึงยืนกรานให้จัดการถุงขยะเจ้าปัญหาในที่ดินข้าง ๆ Highway ซึ่งก็คือ ที่ดินของคุณลุงฟาน กัมป์
แต่ในขณะที่โนทาร์บาร์โทโล่แยกไปเผาทำลายหลักฐานของตัวเอง ทาวาโน่ที่ตอนนี้สติแตกไปแล้วกลับโยนถุงขยะทิ้งเฉย ๆ แทนที่จะเผา โนทาร์บาร์โทโล่มารู้เรื่องนี้ทีหลัง แต่เขาเห็นว่า หากจะเก็บหลักฐานของทาวาโน่ที่กระจัดกระจายตามพุ่มไม้มาเผาจะเสียเวลานานเกินไป และเขาค่อนข้างมั่นใจว่า คงไม่มีใครมาเจอขยะเหล่านั้น เขาก็เลยตัดสินใจเดินทางต่อ
เล่ากันว่า ตอนที่โนทาร์บาร์โทโล่รวมพลเพื่อขโมยเพชรในครั้งนี้ พอคนอื่น ๆ รู้ว่า 1 ในนั้นมีทาวาโน่อยู่ด้วย พวกเขาไม่เห็นด้วยเลย เพราะรู้นิสัยทาวาโน่ดีและกลัวว่าเขาจะทำให้แผนการเสียหาย แต่โนทาร์บาร์โทโล่ก็ยืนยันและให้คำรับรองว่า ทาวาโน่จะช่วยงานพวกเขาได้ แต่สุดท้ายก็เป็นอย่างที่คนอื่น ๆ กลัวนะคะ เพราะการกระทำของทาวาโน่ทำให้คนร้ายที่ทำการโจรกรรมที่แทบจะเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบถูกจับกุมเกือบทั้งหมด เหลือไว้ 1 คน คือ King of keys ที่ลอยนวลมาได้จนถึงปัจจุบัน และเราก็ไม่เคยรู้เลยว่า เขาคือใคร
2
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่นำไปสู่การจับกุม “แก็งตูริน” ก็คือ วันศุกร์ถัดมาหลังเกิดเหตุโจรกรรม โนทาร์บาร์โทโล่ กลับมาที่ Diamond Center ทำทีเป็นผู้เสียหายที่ต้องการทราบว่า ตู้เซฟของตนถูกขโมยไปด้วยหรือไม่
ตำรวจไม่คิดว่า เขาจะกลับมายังสถานที่เกิดเหตุเร็วขนาดนี้ สันนิษฐานกันว่า ที่เขากล้ากลับมาในที่เกิดเหตุ ก็เพราะเขากลัวว่า จะตกเป็นผู้ต้องสงสัย หากอยู่ ๆ เขาหายหน้าหายตาไป ทั้ง ๆ ที่เคยมาเป็นประจำ และไม่มาไต่ถามว่า ตู้เซฟของเขายังอยู่ดีหรือไม่ตามที่ร้านค้าเพชรทั้งหลายที่ควรจะทำ โดยที่โนทาร์บาร์โทโล่ไม่รู้เลยว่า ตำรวจได้หมายหัวเขาไว้แล้วจากหลักฐานที่ได้จากถุงขยะ
ทันทีที่ผู้จัดการตึกโทรแจ้งตำรวจว่า เขากลับมาที่ Diamond Center ตำรวจก็จับตาดูเขาทุกฝีก้าว โดยที่ยังไม่จับเขาในทันที เพราะต้องการล่อให้เขาเข้ามาติดกับ
เนื่องจากตำรวจต้องการทราบว่า ที่พักเขาอยู่ที่ไหน ในตอนแรกตำรวจจึงปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นผู้เสียหายที่ถูกขโมยเพชรไป และได้ถามเขาว่า เขาพักอยู่ที่ไหน
เมื่อเขาแจ้งที่อยู่ให้ทราบ ตำรวจก็จับกุมเขาทันที และนำตัวเขาไปยังที่พัก
เมื่อตำรวจไปถึงที่พัก ภรรยาของโนทาร์บาร์โทโล่และเพื่อนอีก 2 คน กำลังเก็บกวาดสถานที่ ตำรวจพบพรมปูพื้นที่คาดว่า น่าจะวางอยู่ใต้โต๊ะที่แก๊งตูรินใช้แบ่งทรัพย์สินที่ขโมยมาได้ เพราะมีเศษอัญมณีเล็ก ๆ ติดอยู่บนนั้น
นอกจากนี้ ตำรวจยังพบมรกตเม็ดหนึ่ง เศษแซนวิช ที่คล้ายกับที่พบในถุงขยะที่โยนทิ้งไว้ในที่ดินริม Highway ซึ่งเมื่อนำเศษแซนวิชไปตรวจสอบก็พบ DNA ซึ่งเป็นของโนทาร์บาร์โทโล่
ในตอนนี้ หลักฐานทั้งจากห้องนิรภัย ถุงขยะที่ถูกโยนทิ้ง และในที่พักของโนทาร์บาร์โทโล่ล้วนเชื่อมโยงกันได้ทั้งสิ้น ตำรวจจึงจับกุมเขาและภรรยา รวมถึงเพื่อนอีก 2 คนดังกล่าว แต่ 2 คนนี้ ไม่ใช่คนที่เข้าไปขโมยเพชรนะคะ คืนนั้น โนทาร์บาร์โทโล่ถูกสอบปากคำ เขาปฏิเสธการโจรกรรมเพชร และไม่ให้การใด ๆ กับตำรวจ
ระหว่างที่ตำรวจเบลเยี่ยมกำลังเตรียมไปหาหลักฐานเพิ่มเติมที่เมืองตูรินประเทศอิตาลี พวกเขาขอให้ตำรวจอิตาลีไปตรวจสอบบ้านของโนทาร์บาร์โทโล่ก่อน และไปเจอเพชรในตู้เซฟทั้งหมด 17 เม็ด พร้อมใบรับรองที่แสดงให้เห็นว่า เป็นเพชรที่ขโมยมากจาก Diamond Center แต่เพชรแค่ 17 เม็ดเทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าเพชรทั้งหมดที่ขโมยมา ยิ่งไปกว่านั้น ตำรวจอิตาลีไม่ได้ยึดเพชรทั้ง 17 เม็ดไว้เป็นของกลาง เขาเพียงแค่ถ่ายรูปเก็บไว้เท่านั้น และเมื่อตำรวจเบลเยี่ยมมาถึงบ้านของโนทาร์บาร์โทโล่ เพชรทั้งหมดก็หายไปแล้ว
สองปีหลังจากนั้น ในเดือนพฤษภาคม 2005 ศาลได้พิจารณาคดีของเขา เขาตัดผมสั้น วางสีหน้าเรียบเฉย และให้การเพียงว่าเขาไม่ได้เป็นคนทำ โดยไม่ให้การใด ๆ ต่อศาลอีกเลย
Leonardo Notarbartolo ภายหลังการถูกจับกุม
แต่พยานหลักฐานทั้งหมดที่ตำรวจรวบรวมได้แน่นหนามาก ในที่สุด เขาก็ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ซึ่งเป็นโทษสูงสุดจากการเป็นคนสั่งการ คิดแผนการและลงมือโจรกรรมครั้งนี้ ในขณะที่เพื่อนอีก 3 คน ถูกจำคุก 5 ปี ในข้อหาโจรกรรม และปรับเป็นเงิน 5,000 ยูโร แต่เป็นการตัดสินแบบไม่สามารถจับคนผิดมาได้นะคะ และตำรวจอิตาลีก็ไม่เคยตามจับและส่งพวกเขามารับโทษในเบลเยี่ยม ส่วนภรรยาและเพื่อนอีก 2 คนที่ตำรวจไปพบตอนกำลังช่วยกันเก็บกวาดอพาร์ทเม้นท์ของเขาได้รับการยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ
โนทาร์บาร์โทโล่ถูกจำคุกอยู่แค่เพียง 4 ปี ในปี 2009 เขาก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยต้องถูกคุมประพฤติภายใต้เงื่อนไขบางประการ หนึ่งในนั้นก็คือ การที่เขาต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ค้าเพชรต่าง ๆ ซึ่งเขาไม่เคยปฏิบัติเลย เขาจึงถูกจับกุมอีกครั้งในปี 2013 และรับโทษจนครบกำหนดในปี 2017
คนส่วนใหญ่ไม่พอใจกับโทษที่แก็งตูรินได้รับ เพราะมันน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินที่ขโมยไป และตำรวจไม่สามารถตามอัญมณีเหล่านั้นกลับมาได้เลย แม้แต่ชิ้นเดียว และป่านนี้แก๊งตูรินก็คงใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับสิ่งที่ขโมยมาได้
หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น บริษัทประกันจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ค้าเพชรแค่บางส่วน และพวกเขาก็ไม่นำเพชรไปเก็บไว้ที่ห้องนิรภัยใต้ดินอีกเลย
ถ้าใครต้องการชมแบบเป็นคลิป สามารถตามลิงก์นี้ไปได้เลยค่ะ
ครั้งนี้ขอจากไปด้วยคำคมจากเรื่อง Othello ของ William Shakespeare ที่เกี่ยวกับการโจรกรรมที่ว่า
ผู้ถูกปล้นที่ยังคงยิ้มได้ ได้ขโมยบางอย่างมาจากหัวขโมย
แต่ถ้าเขาจมอยู่ในความสูญเสีย ก็เหมือนเขาปล้นตัวเองซ้ำ
William Shakespeare, Othello
โฆษณา