6 ส.ค. 2022 เวลา 04:00
ฝากเงินแบบไหนบ้างนะ !
ได้ดอกเบี้ย แต่ไม่ต้องเสียภาษี?
อันดับแรก
อยากให้ทำความเข้าใจเรื่องนี้กันก่อนครับ
สำหรับดอกเบี้ยออมทรัพย์ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
จะได้รับยกเว้นดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ได้รับอยู่แล้วครับ ถ้าได้ไม่เกิน 20,000 บาท (รวมทุกธนาคาร)
ซึ่งดอกเบี้ยออมทรัพย์นี้
หมายความรวมถึงบัญชีออมทรัพย์ประเภทต่างๆ
เช่น ฝากไม่ประจำ ออมทรัพย์พิเศษ ด้วยนะครับ
แต่นอกจากดอกเบี้ยออมทรัพย์ธนาคารที่ว่ามา
ยังมีอีกหลายตัวที่ได้รับยกเว้นภาษีเช่นเดียวกันครับ
พรี่หนอมรวบรวมมาให้ตามนี้เลยครับผม
1. บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกและสลากออมสินจากธนาคารออมสิน
ตัวนี้จะมีลักษณะคล้ายกับเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปครับ ซึ่งคำว่าเผื่อเรียกที่ว่านี้ จะหมายความรวมถึงเงินฝากเผื่อเรียกแบบพิเศษด้วยนะครับ และนอกจากเงินฝากแบบเผื่อเรียกแล้ว รางวัลจากสลากออมสินที่เราได้รับจากการลงทุนในสลากก็ได้รับยกเว้นภาษีเช่นเดียวกัน (แถมยังได้ลุ้นรางวัลใหญ่อีกด้วยครับ)
2. เงินฝากออมทรัพย์จากสหกรณ์ออมทรัพย์
สำหรับเงินฝากประเภทนี้ คือเงินฝากออมทรัพย์กับทางสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัย สหกรณ์ออมทรัพย์สำหรับข้าราชการแต่ละหน่วยงาน ซึ่งบางครั้งได้เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปอย่างเรา ๆ เข้าไปฝากเงินได้เหมือนกันครับ ซึ่งในส่วนของดอกเบี้ยที่ได้รับเงินฝากออมทรัพย์จากสหกรณ์ออมทรัพย์ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเช่นเดียวกันครับ
3. เงินฝากออมทรัพย์และสลากออมทรัพย์ธนาคารเกษตรและสหกรณ์
สำหรับเงินฝากและสลากออมทรัพย์ของธนาคารเกษตรและสหกรณ์จะมีลักษณะคล้ายกับธนาคารออมสินเลยครับ เพียงแต่ธนาคารเกษตรและสหกรณ์จะใ้ช้เรียกว่าบัญชีออมทรัพย์ และ สลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ประเภทต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่ได้รับเช่นเดียวกันครับ
4. เงินฝากประจำปลอดภาษี
สำหรับเงินฝากประจำปลอดภาษี จะมีเงื่อนไขว่า เมื่อเปิดบัญชีแล้วจะต้องฝากเงินทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน จนครบกำหนดระยะเวลาฝาก จึงจะได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
โดยบัญชีนี้เหมาะสำหรับคนที่สามารถฝากประจำรายเดือนติดต่อกัน โดยมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 เดือน และมีเงินฝากแต่ละครั้งไม่เกิน 25,000 บาท หรือรวมทั้งหมดไม่เกิน 600,000 บาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีดอกเบี้ยในส่วนนี้เช่นเดียวกันครับ ซึ่งเราสามารถมีบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีได้สูงสุดเพียง 1 บัญชีเท่านั้นครับ (รวมทุกธนาคาร)
นอกจากนี้ยังมีเงินฝากบางประเภทที่กำหนดยกเว้นภาษีให้เป็นกรณีพิเศษด้วยครับ เช่น เงินฝากประจำสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 30.000 บาทต่อปี (คิดรวมเงินฝากประจำประเภทอื่นๆด้วยนะครับ) และที่สำคัญคือผู้ฝากเงินต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี ถึงจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยที่ได้รับครับ
บทสรุปของเรื่องนี้ คือ โดยปกติแล้วการฝากเงินโดยทั่วไป หากเราไม่ได้ฝากเงินเยอะมาก จนได้ดอกเบี้ยถึง 20,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้วครับ
แต่สำหรับคนที่ต้องมีการบริหารเงินสด หรือ สภาพคล่องที่ค่อนข้างสูง ก็อาจจะเลือกช่องทางต่าง ๆ ต่อไปนี้ที่ว่ามา เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเองครับผม
#เงินฝาก #ภาษี #ฝากประจำ #การเงิน #TAXBugnoms
โฆษณา