11 ส.ค. 2022 เวลา 01:14 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ลงทุนอย่างยั่งยืนกับ “Green Bond” ตราสารหนี้สีเขียว
Image Credit: Pixabay.com
ตราสารหนี้ (Bond) คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ (นักลงทุน) มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกมีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และจะได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุ
ตัวอย่างตราสารหนี้ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ระดับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไป
จุดเด่นของตราสารหนี้คือมีความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็มักจะมากกว่าการนำเงินไปฝากในธนาคารทั่วไป
และตราสารหนี้มักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้ามกับหุ้น นักลงทุนจึงมักนิยมใช้ตราสารหนี้ในการกระจายความเสี่ยง และลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนโดยรวม
Image Credit: Pixabay.com
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลมีความเสี่ยงที่จะสูญเงินต้นน้อยมากๆ ส่วนหากออกโดยเอกชน ก็ต้องศึกษาถึงรายละเอียดความน่าเชื่อถือเป็นรายๆ ไป รวมไปถึงกรณีหากอยากขายเปลี่ยนมือก็สามารถทำได้ในตลาดรองโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน
ซึ่งโดยทั่วไปมักจะกำหนดมูลค่าไว้ที่หน่วยละ 1,000 บาท และจะมักกำหนดมูลค่าการซื้อขั้นต่ำไว้ที่ 100,000 บาท หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้ในกรณีการขายให้นักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่
จนมาถึงปัจจุบันที่เทรนด์การลงทุนยั่งยืนกำลังมา ทำให้เราได้ยินชื่อของตราสารหนี้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายประเภท และหนึ่งในนั้นที่น่าสนใจก็คือ "Green Bond" หรือ "ตราสารหนี้สีเขียว"
## แล้ว Green Bond คืออะไร? ##
“ตราสารหนี้สีเขียว” หรือ “Green Bond” คือ ตราสารหนี้ที่ออกเพื่อระดมทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคุณลักษณะเหมือนกับ Bond ทั่วไป แต่ความต่างคือ “เงินที่ได้จากการระดมทุนจะต้องนำไปลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น”
Image Credit: Pixabay.com
อาทิ การใช้พลังงานทางเลือก การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดก๊าซเรือนกระจก การคมนาคมสะอาด การบริหารจัดการน้ำ การกำจัดน้ำเสียที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ Green Bond จะต้องมีกระบวนการประเมินโครงการว่าเป็นไปตามเกณฑ์สีเขียว (Project Evaluation and selection) หรือไม่ อีกทั้งต้องมีการจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนถึงการใช้จ่ายเงินตามรอบระยะเวลา
เช่น รายปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของ International Capital Market Association (ICMA) ที่เรียกว่า Green Bond Principal หรือ GBP นั่นเอง
Green Bond รุ่นแรกออกในปี 2550 โดย European Investment Bank (EIB) ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของตลาด Green Bond โดยผู้ออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวีเดน และจีน (ยืนหนึ่งเป็นผู้นำตลาด Green Bond ในเอเชีย)
และส่วนมากก็ล้วนเป็นการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแทบทั้งสิ้น
กลับมาที่ปัจจุบัน...ถามว่าทำไมตราสารหนี้ที่มีความยั่งยืนถึงได้รับความนิยมอย่างมาก?
นั่นก็เป็นเพราะมีความสำคัญกับการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติหรือ Sustainable Development Goals (SDGs)
Image Credit: sdgmove.com
และการมีส่วนร่วมใน "ข้อตกลงปารีส" (Paris Agreement) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่เริ่มเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการเงินในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกภาคส่วนทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
รวมถึงในอีกฟากซึ่งได้แก่หน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ทั่วโลก ก็ได้ออกหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในการลงทุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงควบคู่กันไป
ยกตัวอย่าง: Green Bond ที่เพิ่งออกมาไม่นานนี้ของบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของ CKPower (บมจ.ซีเค พาวเวอร์) หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ได้ออก Green Bond หรือ "หุ้นกู้สีเขียว" ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้แก่นักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทย
โดยมียอดขายรวมถึง 8,395 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ยอดเสนอขาย 5,000 ล้านบาท
- ยอดเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe Option) อีก 3,395 ล้านบาท
ด้วยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ “BBB+” แนวโน้ม “คงที่” ขณะที่ XPCL มีอันดับเครดิตองค์กรที่ “A-“ แนวโน้ม ”คงที่”
Image Credit: เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว / XPCL
ซึ่งมีออกมาขายทั้งหมดด้วยกัน 3 ชุด (วันที่ออก: 27 ก.ค. 2565)
(1) อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568 จำนวน 4,031 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.50%
(2) อายุ 4 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 จำนวน 1,258 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.75%
(3) อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 จำนวน 3,106 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.00%
จะเห็นได้ว่าในมุมของผู้ลงทุนหากเลือกลงทุนในระยะที่ยาวขึ้นก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน
ด้านผู้ออกตราสารหนี้ ก็จะนำไปชำระคืนเงินกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิมที่มีอยู่
อีกทั้งช่วยลดต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยของบริษัทฯ และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในช่วงที่สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยกำลังอยู่ในขาขึ้น ณ ตอนนี้อีกด้วย
Image Credit: Pixabay.com
หรือในวัตถุประสงค์อื่นๆ ของบริษัทเอกชนก็มักจะเป็นการระดมทุนเพื่อใช้ในกิจการต่างๆ หรือเป็นเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ เช่น เพื่อขยายกิจการ ซื้อเครื่องจักร/อุปกรณ์ ก่อสร้างอาคาร/โรงงาน เป็นต้น
กลับมาที่ประเทศไทย จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ให้ข้อมูลไว้ว่าในปี 2565 จะมีการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนสูงถึง 76,000 ล้านบาท หรือเติบโตจากปีที่แล้ว 12.1% ซึ่งก็เป็นไปตามมุมมองเศรษฐกิจที่ขยายตัว และเป็นไปตามเทรนด์ด้านความยั่งยืน
ในขณะที่ระยะใกล้อีก 2-3 ปีข้างหน้า แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางทั่วโลกรวมถึงไทยเอง อาจจะส่งให้ผลให้การออกตราสารหนี้ชะลอตัวลง
ส่วนในระยะยาวนโยบายด้านพลังงานทดแทนและการสนับสนุนของหน่วยงานกำกับภาคการเงินจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนต่างๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
Image Credit: สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)
นอกจาก Green Bond แล้ว ยังมีตราสารหนี้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอยู่ในหมวดนี้อย่าง "Social Bond" (ตราสารหนี้เพื่อสังคม) ที่ระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
และ "Sustainability Bond" (ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน) ที่ระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืน โดยมีทั้งองค์ประกอบของทั้ง Green และ Social รวมอยู่ด้วยกัน
อีกทั้งยังมีตราสารหนี้ประเภท “Climate Bond” ซึ่งเน้นการระดมทุนเพื่อลดโลกร้อน หรือจะเป็น "Blue Bond" ที่ระดมทุนเพื่อดูแลฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยทั้ง 2 ประเภทหลังนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Green bond ด้วยเช่นกัน.
ที่มา:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย https://www.setinvestnow.com/th/bond
- สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย https://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2018/07112018.aspx
- เอกสาร “มารู้จักกับการลงทุนในหุ้นกู้” โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย https://www.thaibma.or.th/pdf/publication/BondInvestment.pdf
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- ฐานเศรษฐกิจ https://www.thansettakij.com/finance/534795
 
- กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1018506
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา