11 ส.ค. 2022 เวลา 01:13 • ปรัชญา
Fudōchi Shinmyōroku คัมภีร์แห่งดาบและจิตใจ
ชาวญี่ปุ่นมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับดาบและจิตวิญญาณเสมอ เทคนิคของวิชาดาบก็สัมพันธ์กับจิตวิญญาณของเซนอย่างแนบแน่น ผู้ฝึกฝนดาบ จึงฝึกฝนจิตใจไปในตัวด้วยโดยปริยาย คนที่ลึกซึ้งทั้งในศาสตร์ของเซนและดาบคงไม่พ้นพระเซนนามว่า ทาคุอัน โซโฮ ผู้ที่เป็นทั้งเพื่อน และอาจารย์ให้กับ มิยาโมโตะ มูซาชิ และ ยางิว มูเนโนริ
The Unfettered Mind (不動智神妙録, Fudōchi Shinmyōroku) เป็นคัมภีร์คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ดาบและการฝึกฝนจิตในวิถีที่ถูกต้อง ซึ่งเขียนโดยท่านทาคุอัน ในศตวรรษที่ 17 เป็นอีกหนึ่งในสุดยอดคัมภีร์ที่โด่งดังไม่แพ่คัมภีร์ห้าห่วงของมูซาชิ
ตัวอย่างของสภาวะของจิตใจที่เชื่อมโยงเข้ากับผู้ใช้ดาบที่ชัดเจน อยู่ในบทหนึ่งที่ชื่อว่า "ควรเอาใจไปวางไว้ที่ใด" ( Where one puts the mind )
โดยท่านทาคุอันได้เขียนถึงเรื่องนี้ว่า
เราควรวางใจไว้ที่ใดน่ะหรือ?
ถ้าผู้ใดวางใจของเขาในการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม
จิตใจของเขาผู้นั้นจะถูกชี้นำโดยการเคลื่อนไหวของร่างกายของฝ่ายตรงข้าม
ถ้าผู้ใดวางใจของเขาในดาบของฝ่ายตรงข้าม
จิตใจของเขาผู้นั้นจะถูกดาบเล่มนั้นชักจูง
ถ้าผู้ใดวางใจไว้ที่การจู่โจมของคู่ต่อ
จิตใจของเขาจะถูกครอบงำโดยการโจมตีของศัตรู
ถ้าผู้ใดวางใจไว้ที่ดาบของเขาเอง
จิตใจของเขาจะถูกครอบครองด้วยดาบของเขาเอง
ถ้าผู้ใดวางใจไปที่การเคลื่อนไหวของจิตใจที่ไม่ติดขัด
จิตใจของเขาผู้นั้นจะถูกครอบงำด้วยจิตของเขาเอง
ถ้าวางใจไปที่ท่าทางการจัดดาบของคนอื่น
จิตใจของเขาจะถูกครอบงำด้วยท่าจรดดาบนั้นเสียเอง
สิ่งนี้หมายความว่าท่านไม่สามารถวางใจไว้ที่ใดได้เลย
ถ้าเช่นนั้นเราควรวางใจที่ใดกัน? ในเมื่อจะเอาใจไปวางไว้ที่ใดก็ดูจะโดนครอบงำไปเสียหมด
ถ้าไม่วางใจไว้ที่ใด มันจะไปทุกส่วนของร่างกายและขยายไปทั่วร่างกาย เมื่อท่านใช้มือจับดาบ ท่านจะรับรู้ถึงหน้าที่ของมือ เมื่อท่านก้าวย่างเท้า ท่านจะตระหนักถึงการทำงานของเท้า เมื่อท่านใช้สายตา ก็จะรับรู้ถึงการทำงานของตา
ไม่เพียงแต่จะต้องมีจิตใจไม่สั่นคลอนแล้ว ยังต้องควรรู้ถึงการทำงานของจิตอีกด้วย เพราะดาบกับจิตใจนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
โดยท่านทาคุอันได้เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
ถ้าศัตรูสิบคนเข้าโจมตีใช้ดาบฟาดฟันท่าน ถ้าท่านปัดป้องดาบแต่ละเล่มโดยไม่หยุดความคิดไว้ที่ใดในแต่ละการกระทำ จิตของท่านย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การเคลื่อนไหวของท่านจะไม่ติดขัด การกระทำของท่านจะถูกต้อง
แม้ว่าจิตของท่านอาจกำลังรับมือกับคู่ต่อสู้นับสิบ แต่ถ้าจิตของท่านไม่หยุดไว้ที่ใดแม้แต่คนเดียว จิตท่านตอบสนองต่อคนเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเป็นเช่นนั้นการเคลื่อนไหวของท่านจะติดขัดได้อย่างไรกัน ?
ท่านลองนึกถึงพระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ ท่านมีหนึ่งพันแขนบนร่างกายหนึ่ง หากจิตหยุดอยู่ที่แขนข้างหนึ่งที่ถือธนู อีกเก้าร้อยเก้าสิบเก้าแขนที่เหลือก็จะไร้ประโยชน์ เช่นเดียวจิตของท่านไม่ควรถูกกักขังไว้ที่ใดที่หนึ่ง
แต่หากจิตของท่านหยุดที่ศัตรูผู้หนึ่ง แม้ท่านจะปัดป้องดาบอันคมกริบของเขาได้
แต่เมื่อศัตรูคนต่อไปโจมตีมา การเคลื่อนไหวของท่านก็จะติดขัด กระทำที่ถูกต้องก็หลุดลอยหายไป
พระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ มีพันแขนพันมือในร่างเดียวเพื่อจุดประสงค์อะไร?
ปรางนี้ของท่านทำขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อชี้ให้มนุษย์เห็นว่าหากท่านไม่หยุดจิตไว้ที่ใด ปล่อยให้จิตนั้นลื่นไหล แม้ว่าร่างกายจะมีแขนนับพันท่านก็สามารถใช้แขนนับพันนี้ได้อย่างมีประโยชน์
ถ้าท่านไม่ฝึกฝนจิตให้เชี่ยวชาญ แต่ท่านยึดติดแต่เพียงหลักการ เมื่อถึงเวลาร่างกายและมือของท่านจะไม่ทำงาน ท่านจึงต้องฝึกฝนทักษะนี้ ผสมผสานลงเข้ากับศิลปะการป้องกันตัวของท่าน ท่านต้องฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทำให้กลายเคลื่อนไหวผสานเป็นหนึ่ง
แม้ว่าท่านจะรู้และเชี่ยวชาญในหลักการนี้แล้ว แต่ท่านเองก็ต้องเป็นอิสระจากหลักการนี้เช่นกัน
หลักการของคำภีร์เล่มนี้ของท่านทาคุอัน ส่งผลต่อแนวคิดวิชาดาบชินคาเงะริว (วิชาดาบตระกูลยางิว) และ วิชานิเทนอิจิริว (วิชาดาบของมูซาชิ) เป็นอย่างมาก หรือแม้แต่วิชาต่อสู้ในยุคปัจจุบันเช่น เคนโด, คาราเต้, เคียวโด (ยิงธนู) ก็มีแนวทางของการฝึกจิตใจคล้ายคลึงกับคัมภีร์ Fudōchi Shinmyōroku เล่มนี้เช่นกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา