15 ส.ค. 2022 เวลา 00:40 • หนังสือ
แมลงหวี่ขี้เมา
Photo by Erik Karits on Unsplash
... ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน...
สุนทรภู่, นิราศภูเขาทอง
ส่วนหนึ่งจากนิราศภูเขาทองฝีมือมหากวีสุนทรภู่ที่สุดจะคุ้นหูข้างต้นนี้ บ่งบอกถึงความร้ายกาจของอาการ “เมาใจ” ที่ยากแก้ไข
อืมม์ แล้วเมาใจนี่ จะไปเกี่ยวอะไรกับเมาเหล้าด้วยหรือไม่
คำตอบคือ การทดลองในแมลงหวี่บอกเราว่า ... เกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอนครับ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งในวารสาร Science ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2012 แสดงเรื่องราวของแมลงหวี่ช้ำรักอกกลัดหนองได้อย่างน่าสนใจมาก
นักวิจัยนำแมลงหวี่ตัวผู้มา 24 ตัว มาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ครึ่งหนึ่งก็จับไปไว้ในจานแก้ว โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 4 ตัว แล้วแถมแมลงหวี่ตัวเมียอีก 20 ตัวเข้าไปในจาน โดยคัดมาแล้วว่าเป็นตัวเมียที่พร้อมจะผสมพันธุ์
เหตุการณ์หลังจากนั้นก็ดำเนินไปตามแนวทางของแมลงหวี่ทั่วๆ ไปคือ พวกมันก็จับคู่ผสมพันธุ์กันไปตามเรื่อง
แมลงหวี่ตัวผู้ที่โชคร้าย 12 ตัวที่เหลือถูกจับไปขังเดี่ยวๆ เอาไว้ในจานแก้วที่แต่ละใบมีแมลงหวี่ตัวเมียอยู่ตัวหนึ่งเช่นกัน แต่ดันเป็นตัวเมียที่เพิ่งผสมพันธุ์เสร็จมาหมาดๆ ก็เลยไม่ยอมผสมอีก
หลังจากทิ้งไว้ 4 วัน ก็ย้ายบรรดาแมลงหวี่ตัวผู้ทั้งหมดมาไว้ในหลอดแก้วที่มีอาหารหลายแบบให้เลือก อาหารบางอย่างก็มีแอลกอฮอล์ปน บางอย่างก็ไม่มี
ผลก็คือแมลงหวี่ตัวผู้ที่ไม่ได้ผสมพันธุ์ กินอาหารที่มีแอลกอฮอล์อยู่ด้วยมากกว่าแมลงหวี่ตัวผู้ที่ได้ผสมพันธุ์อย่างชัดเจน คือมากกว่าเป็น 4 เท่า!!!
เรียกว่าเกิดอาการ เหงา–เครียด–โซ้ยแอลกอฮอล์ ... ไม่ต่างจากที่หลายๆ คนทำเวลาอกหักรักคุด (บางคนแถม “ตุ๊ดเมิน” ต่อท้ายด้วย)
Photo by Saman Taheri on Unsplash
แต่หากทดลองแล้วสรุปแต่เพียงเท่านี้ ก็คงไม่ได้ตีพิมพ์ลงวารสารระดับโลกอย่างแน่นอน นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า อะไรเป็นเบื้องหลังพฤติกรรมเช่นนี้
เมื่อพวกเขาผ่าเอาสมองของแมลงหวี่ตัวผู้เหล่านี้ออกมาตรวจสอบดู นักวิจัยพบว่ามีสารเคมีชนิดหนึ่งในสมองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ คือสารชื่อ NPF (neuropeptide F) ที่งานวิจัยก่อนหน้านี้ระบุว่า มันเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับอาการขี้เมาของแมลงพวกนี้
แมลงก็มีบางตัวที่ขี้เมามากเป็นพิเศษครับ
ผลสรุปที่ได้คือภายหลังจากการผสมพันธุ์หรืออดผสมพันธุ์ในการทดลองข้างต้น แมลงหวี่กลุ่มที่โชคร้ายมีปริมาณ NPF เพียงครึ่งหนึ่งของอีกกลุ่มเท่านั้น
การทดลองยังไม่จบแต่เท่านั้น นักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวยังตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ถ้าเช่นนั้น หากเรากระตุ้นด้วยวิธีการใดก็ตามให้แมลงหวี่ที่ไม่ได้ผสมพันธุ์มี NPF เพิ่มขึ้น
พวกมันก็น่าจะไม่สนใจดื่มกินแอลกอฮอล์หรืออาหารเจือแอลกอฮอล์มากขึ้นกระมัง
ผลทดลองที่ได้ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ
บางคนอาจจะสงสัยว่าไปทดลองอะไรแบบนี้ในแมลงหวี่ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรกับคนเล่า รู้ไปก็คงเท่านั้น
คำตอบอาจไม่ได้ไกลตัวอย่างที่แรกคิด เพราะในคนเราก็มีสารที่รูปร่างและหน้าที่คล้ายคลึงกับ NPF ด้วยเช่นกันเรียกว่า NPY (neuropeptide Y)
อันที่จริงแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ ล้วนแล้วแต่มี NPY ที่คล้ายกันนี้ด้วยเช่นกัน
การศึกษาก่อนหน้านี้ที่ทำในคนทำให้ทราบว่า คนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือเครียดจะมีระดับ NPY ต่ำ คล้ายกับที่แมลงหวี่ที่อดผสมพันธุ์มีระดับ NPF ต่ำ
ยิ่งไปกว่านั้น การทดลองในหนูพบว่าระดับ NPY ที่ต่ำเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนกับภาวะการติดแอลกอฮอล์และยาเสพติด
Photo by Frances Goldberg on Unsplash
แต่แน่นอนว่ายังไม่อาจสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในแมลงหวี่และหนูเป็นสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นในมนุษย์ และ NPY เป็นสาเหตุโดยตรงกับพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่
เพราะบางครั้งสาเหตุกับผลลัพธ์หรือผลข้างเคียงก็แยกออกจากกันได้ยากมาก
อันที่จริงงานวิจัยในวารสาร Current Biology ที่ออกมาก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือนพอดี (16 ก.พ. 2012) ก็ชี้ว่าเป็นเรื่องพอมีเหตุผลและพอมีประโยชน์อยู่บ้าง สำหรับแมลงหวี่ที่จะซดแอลกอฮอล์เข้าไป
โดยตัวอ่อน (หรือหนอน) แมลงหวี่ส่วนหนึ่งจะนิยมกินอาหารที่เกิดการหมักจากเชื้อราแล้ว ซึ่งก็จะมีแอลกอฮอล์เจือปนอยู่ โดยอาจกินอาหารที่มีแอลกอฮอล์เจืออยู่สูงถึง 4%
ระดับที่ว่านี่สูงกว่าระดับที่ผิดกฎหมายการจราจรของคนถึงราว 4 เท่า เรียกว่ายังดีที่หนอนแมลงหวี่ไม่ต้องบิน ไม่งั้นคงชนแหลกแน่นอน!
พอศึกษาลึกลงไปอีกก็พบว่าแมลงหวี่ทนทานต่อปริมาณแอลกฮอล์สูงๆ ในเลือดได้ตามธรรมชาติ แม้ตัวต่อบางชนิดที่มักจะมาวางไข่บนตัวอ่อนของแมลงหวี่ ก็เลือกที่จะเลี่ยงการวางไข่บนหนอนแมลงหวี่ที่อาศัยอยู่ในอาหารที่มีระดับแอลกอฮอล์สูงๆ เช่นกัน
อันที่จริงแล้ว แอลกอฮอล์สูงในกระแสเลือดแมลงหวี่ ช่วยฆ่าตัวอ่อนของตัวต่อที่อาศัยอยู่ในอวัยวะภายในได้
ตัวอ่อนต่อพวกนี้เกิดและเติบโตในตัวแมลงหวี่ รอวันกัดกินแมลงหวี่จนตายไปในภายหลัง
งานวิจัยนี้ยังแสดงอย่างชัดเจนว่า ตัวอ่อนแมลงหวี่ที่มีไข่ตัวต่ออยู่ภายในตัวของมัน แสดงพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปกัดกินอาหารที่มีแอลกอฮอล์สูงกว่าตัวที่ไม่ติดเชื้ออย่างเห็นได้ชัด
แม้แอลกอฮอล์จะมีผลช่วยให้เรื่องฆ่าปรสิตในตัวแมลง แต่ก็ไม่คุ้มพอจะใช้อ้างเป็นเหตุผลในการดื่มแอลกอฮอล์ในคนอยู่ดี เพราะมันทำลายเซลล์ต่างๆ และรู้แน่แล้วว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งบางอวัยวะอีกด้วย ดังนั้น แม้จะ “เมาใจ” อย่างไร ก็อยู่ห่างๆ เครื่องดื่มมึนเมาพวกนี้ไว้บ้างก็ดี
มิเช่นนั้น คุณก็จะตอบสนองกับปัญหาเชิงพฤติกรรมไม่ต่างอะไรไปกับแมลงหวี่ตัวหนึ่ง... เท่านั้น!
บทควานี้รวมอยู่ในหนังสือ อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก, สนพ.มติชน
โฆษณา