ที่มาของชื่อพายุ และการมาของชื่อ “มู่หลาน”
เปิดที่มาของชื่อพายุ ไขข้อสงสัยทำไมถึงต้องเรียกแตกต่างกัน และความเป็นมาของชื่อ “พายุมู่หลาน” ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของไทยจนถึง 13 ส.ค.นี้
หลายครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติอย่าง พายุ เรามักได้ยินการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา จากการรายงานข่าวและมีการเอ่ยชื่อของพายุเหล่านั้น ซึ่งหลากหลายและแตกต่างกัน
บางชื่อก็เป็นชื่อจากภาษาต่างประเทศ บางชื่อก็มีความเป็นไทย ทำให้เกิดความสงสัยว่าทำไมพายุถึงต้องมีชื่อ แล้วชื่อพายุมีหลักการตั้งกันยังไง
จุดเริ่มต้นของชื่อพายุเกิดขึ้นช่วง “ปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20”  จากคลีเมนต์ แรกกี  นักพยากรณ์อากาศชาวออสเตรเลีย ที่มีความคิดในการตั้งชื่อพายุ
โดยใช้ชื่อคนทั่วไป แต่จะมี 2 แบบ คือ ใช้ชื่อสตรี เพื่อให้ดูอ่อนโยน และแบบที่ 2 คือชื่อนักการเมืองเพื่อเปรียบเปรยว่า "นักการเมืองคือผู้นำความหายนะมาให้"
แต่พอมา “ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2” กองทัพสหรัฐอเมริกาเริ่มนำชื่อภรรยาและคู่รักของตนมาใช้เป็นชื่อพายุ
จากนั้นในปี พ.ศ. 2493 เริ่มตกลงกันว่าจะตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนไล่ตามตัวอักษร A-Z เป็นชื่อสตรีบ้าง สุภาพบุรุษบ้างสลับกันไป
จนกระทั่งการตั้งชื่อพายุเริ่มแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2543 ประเทศต่างๆเข้าเป็นสมาชิกของคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee)
เพื่อจัดระบบการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนในแถบนี้ใหม่ โดยแต่ละประเทศ (หรือดินแดน) ได้ส่งชื่อพายุในภาษาของตนมาให้ประเทศละ 10 ชื่อ รวม 140 ชื่อ ซึ่งพายุลูกนั้นความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุต้อง “มากกว่า 34 น็อต หรือ 63 กม./ชม. "ถึงจะมีชื่อเป็นตัวเอง”
สำหรับประเทศไทย อยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ ร่วมกับสมาชิกประเทศอื่นๆ คือ
กัมพูชา, จีน, เกาหลีเหนือ-ใต้, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเก๊า, มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์, สหรัฐฯ และเวียดนาม รวม 14 ประเทศ
โดยชื่อพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ แต่ละชื่อเรียงตามชื่อประเทศของลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามอันดับสุดท้าย
“ไทยเราอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้หมด 1 กลุ่ม ก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง”
ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ตั้ง คณะกรรมการพิจารณารายชื่อ และความหมายของชื่อขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนเสนอชื่อพายุในภาษาไทยในประชุมของ ศูนย์เตือนภัยพายุไต้ฝุ่นร่วม หรือ เจทีดับบลิวซี (Joint Typhoon Warning Center (JTWC) ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะกวม ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งชื่อ “มู่หลาน”
ในครั้งนี้ ก็ได้รับการพิจารณาจากทั้ง 14 ประเทศสมาชิกด้วย
โดย "มู่หลาน" มีความหมายเป็นชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งในตระกูลแม็กโนเลีย จากสาธารณรัฐประชาชนจีน
ตอนนี้พายุมู่หลานกำลังจะจากเราไปแล้ว เนื่องจากอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศ แต่ก็ไม่รู้ว่าลูกต่อไปเจ้าพายุจะมีชื่อว่าอย่างไร
แต่ก็ภาวนาขอให้เป็นาพายุที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนน้อยที่สุดแล้วกัน
ภาพ เอเอฟพี
ข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก PPTV HD 36
เพื่อไม่ให้พลาดกับข่าวดีๆจากเรา สามารถติดตามได้ที่ : https://www.blockdit.com/adls_m
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
  • 2
    โฆษณา