13 ส.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์เงินดอลลาร์สหรัฐ
ในโลกปัจจุบัน ดอลลาร์สหรัฐถือเป็นสกุลเงินที่มีอำนาจและได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในโลก สะท้อนมาจากปริมาณการซื้อขายและเงินสำรองระหว่างประเทศที่ทำผ่านสกุลเงินนี้มากที่สุด
และในช่วงวิกฤติสงครามในยูเครนที่ผ่านมา เราก็เห็นความสำคัญของดอลลาร์สหรัฐในมุมมองที่แตกต่าง เป็นมุมมองที่มองมันในฐานะเครื่องมือต่อรองในเกมการเมืองระหว่างประเทศ
ซึ่งสุดท้ายแล้ว การตัดสินใจเช่นนี้จะออกมาเป็นผลดีหรือผลเสียกับอเมริกามากกว่า ก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด
เรื่องในอนาคตอาจยากจะคาดเดาว่าจะดีหรือไม่ แต่เรื่องในอดีตของเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นบอกได้เลยว่า เป็นการวางแผนและอาศัยโอกาสต่างๆ อย่างชาญฉลาด ที่ควรจะศึกษาไว้อย่างยิ่งทีเดียว...
📌 เงินและทองคำ
ก่อนจะลงลึกที่รายละเอียดของเงินดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งต่อจากนี้จะขอย่อว่า ดอลลาร์) เราขออธิบายเรื่องขอ “เงิน” กันพอสังเขปก่อนดีกว่า
ในอดีตเลย มนุษย์ใช้กับแลกเปลี่ยนสินค้าที่ตัวเองผลิตได้โดยตรง ฉันเลี้ยงไก่ อยากได้ข้าว ก็นำไก่ไปแลกกับข้าว
แต่มันก็มีความยุ่งยาก เพราะ ถ้าคนปลูกข้าวไม่ได้อยากได้ไก่ อยากได้แตงโมแทน เราก็ต้องไปหาแลกสิ่งอื่นมาเรื่อยๆ จนกว่าจะได้แตงโมมาแลกกับข้าวนั่นเอง
เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ มนุษย์เราจึงหาสิ่งของมาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งก็คือ “เงินในยุคแรก” นั่นเอง โดยในแต่ละสภาพสังคมและยุคสมัยก็เปลี่ยนตัวกลางไปตามบริบทของเขา
อย่างไรก็ดี เงินที่เป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่ช่วยกระตุ้นการค้าขายและสังคมของมนุษย์มากที่สุดนวัตกรรมหนึ่งในประวัติศาสตร์อย่างที่ปฏิเสธไม่ได้
แต่ปัญหาเรื่องการจะหาว่า สิ่งใดควรจะเป็น “เงิน” ได้ก็เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ง่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่ได้รับการยอมรับในสังคมมนุษย์อย่างกว้างขวางว่า น่าจะทำหน้าที่เป็นเงินได้ดี ก็คือ “โลหะมีค่าที่หาได้ยาก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทองคำ”
ซึ่งแนวคิดที่ว่า “ทองคำมีมูลค่าในตัวมันเอง” และเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยก็ถูกส่งต่อมาจนตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และก็เป็นรากฐานสำคัญของเรื่องราวที่เรากำลังจะเล่ากันต่อไปครับ
📌 มาตรฐานทองคำ
อย่างที่เราเล่าไปข้างต้น เมื่อมนุษย์เริ่มเชื่อมั่นในทองคำมากขึ้น และมีการค้นพบแหล่งการขุดในทวีปอเมริกาเมื่อชาติยุโรปเข้าไปล่าอาณานิคม ทำให้โลกมีปริมาณทองคำสำรองเพิ่มมากขึ้น
แต่การใช้ทองคำเพื่อแลกเปลี่ยนก็ทำได้ไม่ง่ายนัก แต่ละประเทศก็เริ่มมีการใช้ “เงินกระดาษ (paper money)” พิมพ์ออกมาสู่ระบบ
แต่คนก็มีการใช้เหรียญที่ทำมาจากโลหะมีค่าต่างๆ อยู่จำนวนมาก เพราะ พวกเขายังไม่มั่นใจว่า กระดาษพิมพ์เปล่าๆ พวกนี้จะมีมูลค่าได้อย่างไร
จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานทองคำ (Gold Standard)” ขึ้นในโลก ตั้งแต่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเริ่มใช้ที่อังกฤษเป็นประเทศแรก
สิ่งนี้ คือ การให้คำมั่นสัญญาว่า เงินกระดาษที่ถูกพิมพ์ออกไปจะสามารถนำมาแลกเป็นทองคำ (หรือโลหะมีค่าอื่นที่กำหนด) เป็นจำนวนที่แน่นอน
ข้อดีของวิธีนี้ คือ เงินที่พิมพ์ออกมาก็จะได้รับการรับรองมูลค่าโดยทองคำ จึงทำให้ความนิยมในเงินกระดาษมากขึ้นเรื่อยๆ และรัฐบาลจะพิมพ์เงินมากเกินไปก็ไม่ได้หากไม่มีทองคำสำรองอยู่ ช่วยควบคุม
และมาตรฐานทองคำก็ยังถูกใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ เมื่อสกุลเงินแต่ละชาติมาค้าขายกันด้วยเช่นกัน ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่นำมาตรฐานทองคำมาใช้ด้วย
มาตรฐานก็ดำเนินต่อเนื่องมา จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเทศมหาอำนาจที่ใช้มาตรฐานทองคำส่วนใหญ่ก็เริ่มจะเกิดปัญหา
เพราะพวกเขาได้นำทองคำออกไปใช้จ่ายเพื่อการทำสงคราม
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในทวีปที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามมากนักสามารถทำการส่งออกได้อย่างมาก และก็มีปริมาณทองคำสำรองเพิ่มขึ้นมหาศาล
โดยหลังจากชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกเต็มตัว ครองส่วนแบ่งเศรษฐกิจโลก 1 ใน 3 ซึ่งพวกเขาไม่ปล่อยให้สูญเปล่า วางโครงสร้างเพื่อครองอำนาจต่อมา หนึ่งในนั้น คือ เรื่องระบบการเงิน
📌 ดอลลาร์สกุลเงินเจ้าโลก
อย่างที่เล่าไป ในช่วงก่อนหน้าสงครามโลก การค้าระหว่างประเทศใช้มาตรฐานทองคำ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินใดๆ จะคงที่ ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศใหญ่ๆ ไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
แต่เมื่อจบสงคราม หลายประเทศทองคำร่อยหรอไม่สามารถทำเปิดให้แลกทองคำกับเงินกระดาษได้อีกต่อไป จึงต้องมาประชุมกันว่า จะใช้ระบบการเงินอย่างไรต่อ
ผลสรุปได้ข้อสรุปเป็น Bretton Wood ขึ้นในปี 1944 ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา ให้ทั่วโลกมาผูกค่าเงินไว้กับอเมริกาแทน และอเมริกาจะนำเงินดอลลาร์ของตัวเองไปผูกมูลค่ากับทองคำให้ ที่ 35 ดอลลาร์ต่อทองคำหนึ่งออนซ์
แค่นี้เงินทุกสกุลที่เข้าร่วมก็จะมีทองคำค้ำประกันด้านหลัง และความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโลกก็ไม่มี
ทำให้เงินดอลลาร์จากที่เคยใช้กันอยู่แค่ในประเทศอเมริกาที่มีประวัติศาสตร์ไม่ยาวนานมากนักเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจอื่น ก้าวขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักของโลก
อย่างไรก็ดี เวลาผ่านไปเศรษฐกิจของประเทศที่บอบช้ำจากสงคราม
ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง
พวกเขาก็เริ่มมองว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ตรึงไว้กับเงินดอลลาร์มันไม่เหมาะสม เศรษฐกิจของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้น ค่าเงินก็ควรจะแข็งแกร่งขึ้นด้วย
ในเมื่ออเมริกาไม่ยอมปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้ พวกเขาก็เลยตัดสินใจว่า อย่างนั้นพวกเราไม่เอาแล้วเงินดอลลาร์ เอาไปแลกเป็น “ทองคำ” กลับมาดีกว่า
ประกอบกับในตอนนั้น อเมริกาใช้เงินลงทุนในสาธารณูปโภคและสงครามเวียดนามมหาศาล สถานการณ์เงินดอลลาร์จึงยิ่งย่ำแย่ จะตรึงค่าเงินดอลลาร์กับทองคำต่อไปเริ่มจะลำบาก
สุดท้ายในวันที่ 13 สิงหาคม 1971 (บังเอิญเป็นวันครบรอบที่ลงบทความพอดิบพอดีด้วย) ประธานาธิบนิกสันจึงได้ประกาศระงับการรับแลกเงินดอลลาร์มาเป็นทองคำ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “Nixon Shock”
เรื่องนี้เหมือนจะทำกันง่ายๆ แต่ผ่านการคิดอย่างรอบคอบทีเดียว เพราะ
  • 1.
    พวกเขาเลือกประกาศในวันอาทิตย์ ตลาดการเงินจะได้ไม่ตื่นตระหนกเกินไป มีเวลาย่อยข่าว
  • 2.
    พวกเขาไม่ได้ประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินกับทองคำอย่างเดียว แต่ยังประกาศมาตรการตรึงค่าจ้างแรงงานชั่วคราว และขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าต่างประเทศ เพื่อช่วยอุตสาหกรรมในประเทศด้วย
กลายเป็นว่า แทนที่เรื่องนี้จะสร้างความทางลบกับสหรัฐฯ อย่างมหาศาล
นิกสันกลับได้คำชม ทองคำก็ไม่ต้องใช้ตรึงค่าเงินแล้ว แต่ดอลลาร์ก็ยังเป็นสกุลเงินหลักของโลกต่อไปได้
 
เส้นทางการเป็นสกุลเงินหลักของโลก ไม่ได้จบอยู่แค่นั้น แต่ยังมีเหตุการณ์ที่สำคัญต่อมา คือ Plaza Accord ที่ตอนนั้นสหรัฐฯ เรียกประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจมานั่งคุยกัน ทั้ง ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และก็ประกาศลดค่าเงินตัวเอง 5% เพื่อกระตุ้นการส่งออก
ซึ่งประเทศอื่นก็น้ำท่วมปากพูดอะไรไม่ได้ ส่วนหนึ่งที่มีการวิเคราะห์กันไว้ คือ สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นมหาอำนาจทางการทหารด้วย
ดังที่ประธานาธิบดีผู้ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของสหรัฐฯ อย่าง ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) เคยขอให้บริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ ช่วยกันสนับสนุนอุตสาหกรรมทหาร (military–industrial complex หรือ MIC) เพื่อคงอำนาจของสหรัฐฯ ต่อไป
เวลาล่วงเลยมาจนถึงวิกฤติซับไพร์ม (subprime crisis) ในปี 2008 ที่ดอลลาร์อันเป็นสกุลเงินหลักของโลกมาอย่างยาวนาน ได้รับแรงกระเพื่อมครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
มีการกำเนิดของบิทคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีขึ้นมาท้าทาย
และมีการอัดฉีดเงินดอลลาร์สหรัฐเข้าไปสู่ระบบอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
โดยล่าสุดมีเงินดอลลาร์อยู่ในระบบประมาณ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว มากกว่าก่อนช่วงปี 2008 ที่อยู่ประมาณแค่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ย้อนกลับไปในสมัยอดีตกันสักนิดครับ เมื่อก่อนการจะพิมพ์เงินออกมาได้ต้องใช้ทองคำมาสำรอง แต่การที่สหรัฐฯ พิมพ์เงินออกมามากมหาศาลแบบนี้ คือ การท้าทายความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ของตัวเองอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ในวิกฤติสงครามยูเครน ก็ยังมีการใช้เครื่องมือสกุลเงินมาเพื่อต่อรองทางเกมการเมืองระหว่างประเทศ ห้ามซื้อขายของกับรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ซึ่งที่ทำอย่างนี้ได้ ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของเงินดอลลาร์ที่มีต่อตลาดพลังงานโลก ที่มีเงินของสหรัฐฯ เป็นสกุลหลักแทบจะสกุลเดียวที่ทั่วโลกยอมรับ
แต่ทิศทางในช่วงหลัง ก็เริ่มมีข่าวการหันไปทำการค้าและมีการเพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปสกุลเงินอื่นๆ มากขึ้น ที่สำคัญที่สุด คือ สกุลเงินหยวนของจีน ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างมีนัยยะ
ซึ่งทิศทางนี้ก็สนับสนุนผู้คนที่คิดว่า ดอลลาร์อาจจะใกล้ถึงวันที่ล่มสลายแล้ว
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ในระยะสั้นๆ นี้ เมื่อมีความกังวลว่า จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในโลก โดยเฉพาะที่ทวีปยุโรป
เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เพราะผู้คนมองว่า “มันเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย” จึงนำเงินกลับเข้ามาถือในสภาวะไม่แน่นอน
และที่น่าประหลาดใจจนฉีกตำราทางเศรษฐศาสตร์ทิ้งเลย คือ การที่ดอลลาร์ได้รับความเชื่อถือแข็งค่าขึ้น แต่ราคาทองคำกลับตกลงไป เนื่องจากคนมองว่าดอลลาร์ดึงดูดกว่าในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
เหตุการณ์แบบนี้มันไปสนับสนุนแนวคิดของคนที่เชื่อว่า ดอลลาร์มีความน่าเชื่อถือและมีมูลค่าในตัวเองด้วยซ้ำ แม้จะไม่มีทองคำค้ำประกันมูลค่าด้านหลัง
ดังนั้น การล่มสลายของเงินดอลลาร์คงไม่เกิดขึ้นโดยง่ายในเร็ววัน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER
โฆษณา