คุณเคยรู้หรือไม่ เคล็ดลับนึงที่เพิ่มโอกาสให้เรา “เก็บออมเงิน” หรือ “ลงทุน” ได้สำเร็จนั้นคืออะไร? คำตอบก็คือ “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” นั่นเอง
สรุปหนังสือ The Psychology of Money ตอนที่ 14
ในสัปดาห์ที่แล้ว แอดก็ได้เล่าถึงบทที่ 12 ของจิตวิทยาว่าด้วยเงินไปแล้ว นั่นคือเรื่องของ “เซอร์ไพรส์!” ค่ะ
ในสัปดาห์นี้ แอดก็จะมาเล่าต่อในบทที่ 13 ว่าด้วยเรื่องของ “เผื่อที่ให้กับความผิดพลาด” เนื้อหามีดังนี้
Topic:
1) การเผื่อที่ให้กับความผิดพลาดคืออะไร?
2) วัตถุประสงค์ของ “ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย” (Margin of Safety) คืออะไร?
3) 3 เหตุผล ที่เราควรมีพื้นที่เผื่อความผิดพลาด
ถ้าพร้อมแล้วไปตามอ่านกันต่อเลยค่ะ
เฮาเซิลบอกว่า...
การเผื่อที่ให้กับความผิดพลาดนั้น คือ การรับรู้ถึงความไม่แน่นอน ความไม่มีแบบแผน และโอกาสที่เรา “ไม่รู้” ว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
วิธีเดียวที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้คือการเพิ่มระยะห่างระหว่างสิ่งที่คุณคิดว่าจะเกิด กับสิ่งที่จะเกิด โดยที่เปิดโอกาสให้คุณสามารถยืนหยัดไปได้อีกวัน
เฮาเซิลเล่าว่า...
เบนจามิน เกรแฮมนั้นเป็นที่รู้จักจากแนวคิดส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) บทสรุปที่เฮาเซิลบอกว่าชอบที่สุดของทฤษฏีนี้นั้นมาจากการที่เกรแฮมให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า...
“วัตถุประสงค์ของส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย คือ การทำให้การคาดการณ์นั้นไร้ความจำเป็น”
ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หรือที่คุณสามารถเรียกมันว่าเป็น “พื้นที่สำหรับความผิดพลาดหรือพื้นที่เผื่อพลาด” คือวิธีการทรงประสิทธิภาพวิธีเดียวที่จะนำทางคุณไปบนโลกที่ถูกปกคลุมด้วยความน่าจะเป็น ไม่ใช่ความแน่นอน และเกือบทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินนั้นอยู่ในโลกประเภทนี้
Credit: https://investich.com/stock/margin-of-safety
การพยากรณ์ให้แม่นยำนั้นเป็นเรื่องยาก เช่นคำถามที่ว่า “ผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นจะมีมูลค่าเท่าไหร่ในอีก 10 ปีข้างหน้า?” หรือ “วันไหนคือวันที่ฉันสามารถเกษียณได้?”
แต่สิ่งเหล่านี้มีพื้นฐานเหมือนกันตรงที่ “สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการคิดถึงความเป็นไปได้”
หลักการส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยของเกรแฮมนั้นคือคำแนะนำอันเรียบง่ายที่บอกกับเราว่า เราไม่จำเป็นต้องมองโลกตรงหน้าเป็นสีขาวหรือสีดำ คาดเดาได้หรือคาดเดาไม่ได้ พื้นที่สีเทาหรือการไล่ตามโอกาสที่อาจให้ผลลัพธ์อยู่ในช่วงที่ยอมรับได้คือหนทางอันชาญฉลาดที่ควรกระทำ
เพื่อให้คุณได้รับประโยชน์จากผลลัพธ์ที่มีโอกาสเป็นไปได้ยาก
ผลกำไรก้อนใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก อาจเป็นเพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยหรือเพราะการทบต้นนั้นต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน
ดังนั้น ผู้ที่มีพื้นที่เผื่อความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของพวกเขา (เงินสด) เพื่อให้อดทนต่อสถานการณ์ยากลำบากในอีกที่ (หุ้น) จะได้เปรียบมากกว่าผู้ที่ถูกขจัดออกไปจากเกม พ่ายแพ้ หรือเติมเงินเข้ามามากขึ้นในเวลาที่พวกเขาคาดการณ์ผิด
สำหรับ “ความผันผวน” คุณจะอยู่รอดได้ไหมหากสินทรัพย์ของคุณมีมูลค่าลดลง 30%?
ถ้าดูจากการคำนวณในตารางก็อาจจะรอด ในแง่ของกระแสเงินสดที่ยังเป็นบวกหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ในแง่ของความรู้ทางใจล่ะ? การลดลง 30% นั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจของคุณขนาดไหน
ความมั่นใจของคุณอาจขาดหายไป มีนักลงทุนหลายคนที่ล้มเลิกการลงทุนหลังจากที่พวกเขาขาดทุนเพราะพวกเขาหมดเรี่ยวแรงและอ่อนล้าทางจิตใจ
ดังนั้น การมีช่องว่างระหว่างสิ่งที่คุณสามารถอดทนได้ทางเด้านเทคนิคกับสิ่งที่ส่งผลกระทบกับอารมณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เผื่อความผิดพลาดที่เรามองข้ามไป
เราสามารถมองย้อนกลับไปในอดีตและเห็นว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีผลตอบแทนเฉลี่ย 6.8% ต่อปีหลังจากเกิดสภาวะเงินเฟ้อนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1870
การใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อประเมินผลตอบแทนที่คุณคาดหวังจากพอร์ตการลงทุนกระจายความเสี่ยงในเวลาที่คุณเก็บออมเพื่อการเกษียณนั้นเป็นการประเมินเบื้องต้นที่สมเหตุสมผล
คุณสามารถใช้สมมติฐานของผลตอบแทนเหล่านี้แปลงกลับมาเป็นจำนวนเงินที่คุณต้องเก็บต่อเดือนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเกษียณของคุณ
แต่ถ้าหากผลตอบแทนในอนาคตลดลงล่ะ? หรือจะเป็นอย่างไรถ้าหากข้อมูลระยะยาวในอดีตเป็นค่าประมาณการที่ดีสำหรับอนาคตระยะยาว แต่วันเกษียณอายุของคุณดันจบลงในช่วงที่เกิดสภาวะตลาดขาลงอันเลวร้ายอย่างเช่นในปี 2009?
จะเกิดอะไรขึ้นหากตลาดขาลงทำให้คุณกลัวจนต้องออกจากตลาด แล้วสุดท้ายคุณพลาดผลตอบแทนในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้ผลตอบแทนที่คุณควรจะได้รับจริงๆ นั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด?
หรือจะเกิดอะไรขึ้นหากคุณจำเป็นต้องนำเงินเกษียณของคุณออกมาในช่วงที่คุณอายุ 30 เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่คุณไม่คาดฝัน?
Credit: https://www.fool.com/investing/stock-market/basics/crashes/
คำตอบสำหรับเหตุการณ์สมมติเหล่านี้ก็คือ “คุณจะไม่สามารถเกษียณในแบบที่คุณเคยคาดการณ์เอาไว้ได้เลย” ซึ่งมันอาจเป็นหายนะสำหรับคุณ
@วิธีแก้ปัญหาที่เรียบง่ายสำหรับเหตุการณ์เหล่านี้ก็คือ...
เผื่อพื้นที่สำหรับความผิดพลาดในเวลาที่คุณทำการประเมินผลตอบแทนในอนาคต สิ่งที่เป็นศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์
เฮาเซิลบอกว่า สำหรับการลงทุนของตัวเขานั้น เขาประเมินผลตอบแทนที่จะได้รับตลอดช่วงชีวิตในอนาคตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 1/3
ดังนั้น เขาจึงต้องเก็บออกมากกว่าที่ตั้งใจเอาไว้ นี่คือส่วนเผื่อความปลอดภัยของเขา แต่ไม่มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยใดที่การันตีได้ 100% แต่การเผื่อพื้นที่กันชนเอาไว้ 1/3 นั้นเพียงพอที่จะทำให้เขาสามารถนอนหลับสนิทได้ตลอดคืน
จุดตายของความล้มเหลวในเรื่องการเงิน คือ การพึ่งพาแค่เช็คเงินเดือนเพียงอย่างเดียวเพื่อสนองความต้องการในการใช้จ่ายระยะสั้น โดยปราศจากออมที่สร้างช่องว่างระหว่างรายจ่ายที่คุณคิดว่ามี กับรายจ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- มอร์แกน เฮาเซิล
อ่านจบแล้วเป็นยังไงกันบ้างคะ
ตอนนี้คุณมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยในเรื่องการเงินแล้วหรือยัง?
เงินสำรองฉุกเฉิน 6-12 เดือน
ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ
Margin of safety ในการลงทุน
คุณมีแผนการเงินเหล่านี้หรือยัง?
และส่วนที่สำคัญที่สุดของทุกแผนการ ก็คือ การวางแผนให้กับแผนที่ไม่เป็นไปตามแผน นั่นเองค่ะ
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
    โฆษณา