29 ส.ค. 2022 เวลา 14:55 • หนังสือ
คุณคิดว่าความต้องการของคุณในปัจจุบันนี้ เหมือนหรือต่างจากอดีตไหม? แล้วความต้องการในอนาคตล่ะ คิดว่าจะยังเหมือนเดิมในวันนี้หรือเปล่า? คุณคิดว่าตัวคุณเองจะเปลี่ยนไปไหม?
สรุปหนังสือ The Psychology of Money ตอนที่ 15
ในสัปดาห์ที่แล้ว แอดก็ได้เล่าถึงบทที่ 13 ของจิตวิทยาว่าด้วยเงินไปแล้ว นั่นคือเรื่องของ “เผื่อที่ให้กับความผิดพลาด” ค่ะ
ในสัปดาห์นี้ แอดก็จะมาเล่าต่อในบทที่ 14 ว่าด้วยเรื่องของ “คุณจะเปลี่ยนไป” เนื้อหามีดังนี้
Topic:
1) ความยากของการวางแผนระยะยาว
2) The End of History Illusion คืออะไร?
3) 2 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอในเวลาที่คุณทำการตัดสินใจในระยะยาว
อยากรู้แล้วใช่ไหมคะว่า ตัวคุณจะเปลี่ยนไปหรือเปล่า? ถ้าอยากรู้ตามมาอ่านกันเลยค่ะ!
การวางแผนการเงินระยะยาวนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ แต่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปทั้งโลกที่หมุนรอบตัวคุณ เป้าหมาย และความปรารถนาของคุณ สิ่งหนึ่งที่สามารถบอกได้ก็คือ “พวกเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร”
อีกสิ่งหนึ่งที่คุณต้องยอมรับคือ ตัวคุณเองในวันนี้ก็ไม่รู้ว่าตัวคุณในอนาคตจะต้องการอะไรอีก และความจริงก็คือ น้อยคนนักที่จะรู้
มันเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจในระยะยาว เมื่อมุมมองที่คุณมีต่อสิ่งที่คุณต้องการในอนาคตนั้นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไป
The End of History Illusion คือสิ่งที่นักจิตวิทยาใช้เรียกบุคคลที่เชื่อว่าพวกเขาตระหนักดีแล้วถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวเองในอดีตที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ตระหนักว่าบุคลิก ความปรารถนา และเป้าหมายของพวกเขามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต
ครั้งหนึ่งแดเนียล กิลเบิร์ต นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคยกล่าวเอาไว้ว่า
“ในทุกช่วงของชีวิต เราทำการตัดสินใจที่จะมีอิทธิพลต่อตัวตนที่เราอยากจะเป็นในอนาคตอย่างมาก และเมื่อเราได้เป็นคนๆ นั้น เราก็ไม่ได้ตื่นเต้นกับการตัดสินใจของเราเสมอไป
ดังนั้นวัยรุ่นจึงยอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับรอยสักที่คนวัยหนุ่มสาวยอมจ่ายเงินเพื่อลบมัน คนวัยกลางคนรีบหย่าร้างกับคนที่ตนเองในวัยหนุ่มสาวรีบเร่งแต่งงานด้วย
ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่าทำงานอย่างหนักเพื่อให้หลุดพ้นจากสิ่งที่ผู้ใหญ่วัยกลางคนทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้มันมา เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก”
@การเงิน
คุณจะเห็นได้ว่าสิ่งนี้มีความสำคัญและส่งผลกระทบกับการวางแผนการเงินระยะยาวอย่างไร
ชาร์ลี มังเกอร์ กล่าวไว้ว่า กฎข้อแรกของการทบต้นคือ “อย่าไปขัดจังหวะมันโดยไม่จำเป็น”
แต่คุณจะไม่ขัดจังหวะมันได้อย่างไร ในเมื่อแผนการเงิน อาชีพ การลงทุน ค่าใช้จ่าย งบประมาณ หรืออะไรก็ตามแต่ของคุณเปลี่ยนไปตามจังหวะชีวิต?
สมมติว่าคุณมีความสุขกับรายได้ที่ต่ำมาก หรือเลือกทำงานอย่างไม่รู้จบเพื่อแสวงหารายได้ที่สูงขึ้น ไม่ว่าทางไหนต่างก็เพิ่มโอกาสที่ว่า วันหนึ่งคุณจะพบว่าตัวเองจมอยู่กับความเสียใจ
เชื้อเพลิงของภาพมายาคติในอดีต คือ การที่ผู้คนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ส่วนใหญ่ได้ ดังนั้น ข้อดีของแผนการที่สุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นความเรียบง่ายของการไม่ค่อยมี หรือความรู้สึกตื่นเต้นกับการมีแทบทุกอย่างนั้นจะค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลา
แต่ข้อเสียของความสุดโต่งเหล่านี้ ทั้งการไม่มีเงินใช้จ่ายยามเกษียณ หรือความเสียใจเมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงชีวิตที่ตัวเองหมกมุ่นอยู่กับการไล่ล่าหาเงิน จะกลายมาเป็นความเสียใจที่คงทนถาวร
ความรู้สึกเสียใจและเสียดายจะเจ็บปวดมากเป็นพิเศษเมื่อคุณละทิ้งแผนเดิม และรู้สึกว่าคุณต้องวิ่งไปในทิศทางอื่นให้เร็วขึ้นสองเท่าเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป
คำแนะนำของเฮาเซิลคือ...
การตั้งเป้าให้มีเงินออมประจำปีในระดับพอประมาณ มีเวลาว่างมากกว่าเวลาที่ใช้ในการสัญจรเดินทาง และอย่างน้อยมีเวลาให้กับครอบครัวพอประมาณตลอดช่วงชีวิตในการทำงานนั้น เพิ่มโอกาสที่คุณจะสามารถทำตามแผนและหลีกเลี่ยงความเสียใจได้
เฮาเซิลบอกว่า...
แรงงานที่น่าเวทนาที่สุดที่เขาพบคือ คนที่ยึดมั่นในอาชีพเพียงเพราะมันตรงกับสายเรียนที่พวกเขาตัดสินใจเรียนเมื่อตอนอายุ 18
ในเวลาที่คุณยอมรับในเรื่องภาพมายาคติของประวัติศาสตร์ คุณจะตระหนักดีว่าโอกาสที่คุณจะยังคงสนุกกับงานที่เลือกในวัยเยาว์นั้นต่ำในวันที่คุณโรยรา
เคล็ดลับคือ การยอมรับความจริงของการเปลี่ยนแปลงและก้าวต่อไปข้างหน้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้
ต้นทุนจม (Sunk cost) หรือการตัดสินใจยึดติดกับความพยายามในอดีตที่ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้นั้น เป็นเหมือนปีศาจร้ายในโลกที่ผู้คนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
พวกมันทำให้ตัวตนในอนาคตของเราต้องตกเป็นนักโทษของตัวตนที่ผ่านมาซึ่งแตกต่าง มันส่งผลเลวร้ายพอๆ กับการให้คนแปลกหน้ามาตัดสินชะตาชีวิตของคุณ
การยอมรับแนวคิดที่ว่า คุณควรจะละทิ้งเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ในวันที่คุณยังเป็นอีกคนออกไปอย่างไรความปรานีนั้น อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการลดความเสียใจในอนาคต เมื่อเทียบกับการใส่เครื่องพยุงชีพและดึงดันที่จะไปต่อในแบบเดิม
ยิ่งคุณทำมันเสร็จเร็วขึ้นเท่าไหร่ คุณยิ่งสามารถกลับมาหาการทบต้นได้เร็วขึ้นมากเท่านั้น
อ่านจบแล้วเป็นยังไงบ้างคะ?
ตอนนี้งานที่คุณทำอยู่ตรงกับสายที่คุณเรียนมาหรือไม่? งานที่คุณทำอยู่ใช่งานเดียวกับที่คุณเคยฝันตอนเด็กๆ หรือเปล่าคะ?
วันนี้เป้าหมายในชีวิตของคุณ ยังเหมือนเดิมอยู่อีกไหม?
คุณในปัจจุบันนี้ เปลี่ยนไปจากอดีตแล้วใช่หรือไม่?
โฆษณา