15 ส.ค. 2022 เวลา 01:00 • ข่าว
น้ำตกบนดอยสุเทพ ปนเปื้อนแบคทีเรีย อันตรายต่อสุขภาพ
อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นอุทยานแห่งชาติขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่
แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวพากันขึ้นไปเยี่ยมชมธรรมชาติไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นต่อเดือน
ความงามของธรรมชาตินั้นอุดมไปด้วยน้ำตกที่สวยงาม ขนาดใหญ่ น้ำตกห้วยแก้ว น้ำตกมณฑาธาร น้ำตกแม่สา ที่ชวนให้อย่างทอดร่างทิ้งตัวลงสัมผัส กวักน้ำมาลูบหน้า มาดื่มกิน
หรือแม้แต่จุดเล็กๆ อย่างน้ำตกรรับเสด็จ ก็ยังเป็นที่แวะเวียนถ่ายรูปกันอยู่มากมาย
แต่ภายใต้ความชุ่มฉ่ำเหล่านั้น กลับมีมัจจุราชซ่อนตัวอยู่ภายใน
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เปิดประเด็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเอาไว้ว่า…
“มีการสำรวจเก็บตัวอย่างน้ำจากลำห้วยต่างๆ บนดอยสุเทพ พบว่า น้ำตกแห่งนี้ เป็นจุดที่มีค่าของปริมาณ E.coli ปนเปื้อนสูงที่สุด”
‘อีโคไล’ - E.coli คือ แบคทีเรียที่พบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ หลายสายพันธุ์ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย บางสายพันธุ์เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือมีไข้
โดย นพ.รังสฤษฎ์ อธิบายว่า “เพราะเหนือน้ำตกนี้ขึ้นไป คือ ชุมชนขนาดใหญ่ ร้านค้านับร้อย รองรับ นักท่องเที่ยว ที่มาวัดพระธาตุดอยสุเทพ นับหมื่นคน ต่อวัน โดยไม่มีระบบจัดการน้ำเสียที่จริงจังของเสีย สิ่งปฏิกูล ถูกทิ้งลงทางน้ำธรรมชาติ”
“ขอฝากเตือนไว้ สำหรับผู้ผ่านทาง และนักวิ่ง นักปั่นทุกท่าน อย่าเอาน้ำตกเย็นๆ ตรงนี้ มาล้างหน้ากัน แทนที่จะได้ความสดชื่น เดี๋ยวจะไม่สบายเอาครับ”
โดยข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงมาจากงานวิจัยเรื่อง “คนดอยสุเทพกับการจัดการน้ำเสียแบบมีส่วนร่วม” ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2560
ตามเอกสารระบุว่า คุณภาพน้ำของลำห้วยผาลาด ช่วงที่ไหลผ่านชุมชนดอยสุเทพมีความเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นตามทิศทางการไหลผ่านชุมชนดอยสุเทพ
โดยเฉพาะส่วนที่ไหลผ่านชุมชนไปแล้ว (บริเวณน้ำตกรับเสด็จ) พบว่าคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก และไม่เหมาะจะนำไปใช้ประโยชน์ใดๆ
จากการรายงานเพิ่มเติมของสำนักข่าวไทยพีบีเอส พบว่า ที่ผ่านมามีหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาตรวจสอบแหล่งน้ำแล้วและอยู่ระหว่างการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย
ขณะที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ได้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยอย่างสม่ำเสมอ แต่เป็นการตรวจสอบกลิ่นและสีและเท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบในเรื่องของเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำมากนัก
ในงานศึกษาว่าด้วยเรื่อง “คนดอยสุเทพกับการจัดการน้ำเสียแบบมีส่วนร่วม” ยังพบพบว่าคนบนดอยสุเทพมีความรู้ความเข้าใจในการบำบัดน้ำเสียในระดับปานกลาง และมีส่วนร่วมในการบำบัดน้ำเสียค่อนข้างน้อย
สาเหตุเป็นเพราะประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องปัญหาน้ำเสีย ยังไม่เคยมีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการจริงๆ จังๆ ที่ผ่านมาทราบแต่คำพูดจากปากต่อปาก
อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยดังกล่าวก็พบสัญญาณทางบวก เมื่อผู้คนบนดอยสุเทพยินดีให้ความร่วมมือถ้ามีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการบำบัดน้ำเสีย และผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ยังยินดีเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการบำบัดน้ำเสียอีกด้วย
#IsLIFE #Ecoli #Waterfall
อ้างอิง
น้ำตก อีโคไล E.coli waterfall. โดย นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ https://bit.ly/3SRX3kE
งานวิจัย คนดอยสุเทพกับการจัดการน้ำเสียแบบมีส่วนร่วม https://bit.ly/3JUgKnS
ระวังแบคทีเรียปนเปื้อนในน้ำตกบนดอยสุเทพ https://youtu.be/0MOYFfBf3kM
Photo นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
โฆษณา