15 ส.ค. 2022 เวลา 17:40 • หนังสือ

หนังสือ "ใต้ร่มแห่งพุทธะ การเดินทางอันเร้นลับ และการแสวงหาทางจิตวิญญาณ"

พระพุทธเจ้ากระทำการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ปุถุชนกระทำการเพื่อประโยชน์ของตนเอง เมื่อพิจารณาก็จะรู้ได้ถึงความต่าง - ศานติเทวะ ศตวรรษที่เจ็ด (หน้า ๒)
การเสร็จสิ้นภารกิจของโพธิสัตว์นั้นหมายถึงว่าทุกคน ทุกสรรพชีวิตได้เป็นอิสระจากความทุกข์แล้ว "ไม่ว่าเราจะบรรลุการรู้แจ้งในวันนี้หรืออีก สิบชาตินับจากนี้ ... กิจของเรายังคงเหมือนเดิม คือทำงานเพื่อความสุขของผู้อื่น" (หน้า ๒๔)
... เหตุใดจิตของพระพุทธเจ้ากับจิตของเราจึงไม่แตกต่างกัน คำพูดของริมโปเชที่ว่า "ธรรมชาติพุทธะในตัวเธอมีความประเสริฐเท่ากับธรรมชาติพุทธะของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์" คำพูดนี้ตราตรึงอยู่ในใจของผมมาก เราทุกคนต่างก็มีศักยภาพในการรู้แจ้ง เราทุกคนสามารถที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ไม่ว่าเราจะเป็นพุทธหรือมุสลิม เป็นคริสต์ เป็นยิว หรือเป็นอเทวนิยม ทุกคนล้วนสามารถที่จะก้าวข้ามขอบเขตที่เราสร้างขึ้นจากอารมณ์ด้านร้าย
... เราไม่ได้แตกต่างจากพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด เพียงแต่เราไม่ได้ตระหนักถึงศักยภาพในการรู้แจ้งที่มีอยู่ภายใน เหมือนกับที่เรามีใบหน้า แต่มันอยู่ใกล้เสียจนเรามองไม่เห็นหน้าของตัวเอง ตราบใดที่เรายังไม่ตระหนักรู้ถึงศักยภาพของการตรัสรู้นี้ เราก็จะจมอยู่ในความฟุ้งซ่านและสับสน ไม่เคยพอใจกับชีวิตของตนเองเลย (หน้า ๓๐-๓๑)
... สถานที่จาริกแสวงบุญอันสูงสุดแท้จริงแล้วอยู่ในภาวะอันลึกล้ำของการปฏิบัติสมาธิและ "หาใช่การเดินทางภายนอกไม่" (ท่านโซเกียล ริมโปเช) (หน้า ๓๓)
... ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอ่านหรือเขียนหนังสือ แต่ควรจะ "ระลึกถึงคำอวยพรและคำแนะนำของครูที่ให้เฝ้าดูธรรมชาติของจิตและอยู่กับสติ ตื่นรู้ในธรรมชาตินั้น การอ่านปรัชญาและทฤษฎีในหนังสือจะยิ่งทำให้ใจฟุ้งซ่านออกจากการเห็นธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวเรา ... และการเขียนจะยิ่งทำให้จิตห่างไกลจากภาวะนั้นยิ่งขึ้นไปอีก (พระวังเดตาเดียว) (หน้า ๔๖)
เราย่อมเป็นไปตามสิ่งที่เราคิด สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายย่อมผุดขึ้นพร้อมกับความคิด เราสร้างโลกขึ้นตามมโนกรรม จงพูดและประพฤติด้วยใจบริสุทธิ์ แล้วความสุขจะตามท่านไป ดุจดั่งเงา ไม่สั่นไหว เราย่อมเป็นไปตามสิ่งที่เราคิด สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายย่อมผุดขึ้นพร้อมกับความคิด เราสร้างโลกขึ้นตามมโนกรรม หากพูดและประพฤติด้วยใจที่ไม่บริสุทธิ์ ทุกข์ย่อมตามท่านไป ดุจล้อย่อมหมุนตาม โคที่ลากเกวียน (หน้า ๗๘-๗๙)
...สวดคาถาที่รู้จักกันดีว่า :
ขอโพธิจิตอันประเสริฐและทรงคุณ
จงผุดในที่ที่ยังมิบังเกิด
และที่ที่บังเกิดแล้ว ก็ขออย่าให้เสื่อมถอย
จงมีแต่ความเจริญ และรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป (หน้า ๘๑)
เมื่อเขามาถึงสำนักพุทธของทาเย โซเกียลได้รับการศึกษาอบรมอย่างเข้มงวดในการพิจารณาคุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ธรรมชาติอันเป็นอนิจจังของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ธรรมชาติของเหตุและผล และความทุกข์อันไม่อาจหนีพ้นได้จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย (หน้า ๙๐)
อติโยคะ ตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่แล้วในดวงจิตของจิตประภัสสรและธรรมชาติแห่งการรู้แจ้ง (หน้า ๙๑)
ทุกข์ทั้งหลายล้วนเกิดแต่เหตุ เหตุปัจจัยที่ว่านี้คืออวิชชา ซึ่งเปรียบเหมือนการตื่นรู้ที่ยังอยู่ในความมืดมน เมื่อการรู้ของเราถูกบดบัง เราจึงไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่นั้นแปรเปลี่ยนไปตลอดกาล การตกอยู่ในความมืดมนตลอดเวลาโดยไม่รู้ว่าทุกสิ่งรวมถึงตัวเรา ล้วนเป็นอนิจจัง ทำให้เราต้องวนเวียนอยู่ในวังวนอันไม่สิ้นสุดของความทุกข์ (หน้า ๙๒)
ทุกครั้งที่ผมกลับมามักจะมีความกระตือรือร้น กระหายที่จะรายงานประสบการณ์เล็กๆน้อยๆในสมาธิ เจ้าอาวาสนัมดรอลจะกลบความตื่นเต้นของผมด้วยคำแนะนำทำนองว่า "อย่าให้ความสำคัญกับประสบการณ์ดีหรือไม่ดี ทำแค่ตามรู้ไปเฉยๆ แมทเตโอ จงปล่อยวางนิสัยที่ชอบตอบสนองกับอารมณ์" "จงมีสติตื่นรู้อย่างเต็มที่ก่อนที่ความคิดจะเข้ามา มันมีอะไร?" ท่านเคยถามหลังจากนิ่งเงียบอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพยักหน้ากับการไม่โต้ตอบของผมและบอกว่า "ใช่ อยู่ตรงนั้นแหละ ทำให้เป็นธรรมชาติ" (หน้า ๑๑๐)
ริมโปเชสอนพวกเราแล้วว่าความพิโรธด้วยกรุณานั้นแตกต่างจากโทสะ เจตนาที่อยู่เบื้องหลังความเกลียดและความโกรธตามธรรมดานั้น มุ่งก่อให้เกิดทุกข์และทำร้ายกัน แต่เจตนาที่อยู่เบื้องหลังความพิโรธของวัชรกีลัย รวดเร็วและแน่วแน่ในการขจัดอุปสรรคและมายาที่ขัดขวางความก้าวหน้าทางธรรมและเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ อริยกิจแห่งความพิโรธอาจมองดูคล้ายกับโทสะ แต่เจตนานั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงด้วยมันผุดขึ้นมาจากความกรุณา (หน้า ๑๑๘)
ปรมาจารย์ที่ยิ่งใหญ่อย่างองค์ปัทมสมภพกล่าวไว้ว่า ความจริงแล้วหาได้มีการแยกจากระหว่างครูกับศิษย์ไม่ เพราะความผูกพันทางใจเป็นสิ่งที่เหนือกว่าความตาย เคนโปบอกผมตอนอยู่ที่ลารุงว่า คุณสมบัติอย่างหนึ่งของความเป็นครูที่แท้คือ มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ศิษย์เจริญในธรรมจนกว่าจะบรรลุความรู้แจ้งสูงสุด ไม่ว่าจะต้องเกิดมาอีกกี่ชาติก็ตาม การอุทิศตนของศิษย์คือความพยายามที่จะซึมซับแก่นแท้ของคำสอน ไม่ว่าครูจะอยู่กับเราหรือไม่ก็ตาม (หน้า ๑๒๘)
...เคนโป ได้สั่งเสียเป็นครั้งสุดท้ายจากเตียงคนไข้ว่า "จงอย่าเบียดเบียนจิตใจของผู้อื่น จงมองพวกเขาด้วยความรักและกรุณา ศิษย์ทั้งหลายของอาตมา พวกเธอจงอย่าละจากปณิธานข้อนี้" (หน้า ๑๓๐)
...'อหิงสา' ซึ่งเทียบได้กับศีลข้อที่หนึ่งของชาวพุทธที่ไม่เบียดเบียนทำร้าย ที่ไม่ใช่แค่ต่อมนุษย์ด้วยกัน แต่ยังหมายรวมถึงสรรพชีวิตทั้งปวงด้วย การไม่เบียดเบียนทำร้ายนี้คือพื้นฐานของขบวนการทางการเมืองของมหาตมาคานธี 'สัตยาเคราะห์' หรือการยืนยันในความจริง เป็นเพราะหลักธรรม สองประการนี้ -ไม่ทำร้ายเบียดเบียน และ ยืนหยัดเพื่อความจริง - ที่ทำให้คานธีสร้างการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิผล จนกระทั่งอินเดียได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรในปี ๑๙๔๗ (หน้า ๑๖๑)
วังเชนบอก "ดูภายนอก การจาริกทางกายเป็นเพียงการเกื้อหนุนรองรับผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเดินทางเข้าไปยังแก่นแท้ภายในของจิตใจตนเอง" (หน้า ๑๗๒)
" เมื่อว่างจากความฟุ้งซ่าน แต่ละก้าวที่เดินรอบขุนเขาจะเป็นการละทิ้งจิตที่ยึดมั่นไว้ในฝุ่นธุลี การนอนกราบกับพื้นดินแต่ละครั้ง ทำให้เรามุ่งสู่ปัญญาญานภายใน ลมหายใจที่เย็นเป็นน้ำแข็งแต่ละเฮือกเป็นความคิดที่ถูกแช่แข็งอยู่กลางอากาศ และระเหยหายไปในตอนกลางวัน การสวดมนต์แต่ละบทเป็นการประกาศสัจธรรมแห่งปัจยาการ (หน้า ๑๗๓)
โศลกของท่านศานติเทวะ นักพรตชาวอินเดียในศตวรรษที่ ๘ มาขับให้ฟัง :
ความสุขใดในโลกหล้า,
ล้วนมาจากความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข
ความทุกข์ใดในโลกหล้า,
ล้วนมาจากความปรารถนาให้ตนเองเป็นสุข
ไยจึงต้องกล่าวให้มากความ
พระพุทธเจ้าทรงกระทำเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น
ปุถุชนกระทำเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง
ดูซิช่างแตกต่างเสียนี่กระไร! (หน้า ๑๗๙)
ผมได้ยินเสียงของโซเกียล ริมโปเช "จิตของเธอจะเป็นอย่างไร เมื่อเธอตาย?" (หน้า ๒๐๙)
" ถ้าคิดให้ไกลเกินกว่าเวลาแค่ สามสิบปี ในอดีตหรืออนาคตผลของการทำดีจะผลิบานขึ้นมาได้ ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก" (หน้า ๒๑๔)
" ถ้าคุณอยากจะมองเข้าไปถึงแก่นแท้ของธรรมชาติของจิตใจ จงอย่าปรุงแต่งหรือเปลี่ยนแปลงอะไร และอย่าจงใจ 'เพ่งสมาธิ' แต่จงปล่อยให้ทุกสิ่งผุดขึ้นมาและจางหายไปอย่างอิสระ โดยไม่ต้องจงใจทำให้มันเกิดและไม่ต้องไปตามความคิดพวกนั้น " วังเชนพูดด้วยเสียงราบเรียบ
"เมื่อรู้ลงไปที่สภาวะธรรมชาติอย่างตรงๆ ความคิดจะถูกละวางไปโดยธรรมชาติ ในทุกขณะและในทุกจริตนิสัย เพียงการทำอย่างนี้เท่านั้นที่เป็นอุบายสากลแห่งการหลุดพ้น จงรักษาสภาวะที่เป็นธรรมชาติเยี่ยงนี้ไว้ ไม่มีอะไรต้องกระทำเลยสักนิดเดียว แค่วางจิตอยู่กับการระลึกรู้ตลอดเวลาเท่านั้น"
... ผมเคยฟังคำสอนทำนองนี้จากวังเชน เรื่องที่เราเป็นทาสของความคิด การยึดติด และทำความคิดให้เป็นตัวเป็นตน และถูกจูงออกไปสู่ความฟุ้งซ่าน... ความคิดที่ผุดขึ้นในใจเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เขาอธิบาย "แต่สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม นี่คือสิ่งที่คุณต้องทำ หรือในกรณีนี้คือ 'ไม่ต้องทำ' อะไรกับความคิดเลย นี่คือประเด็นที่สำคัญยิ่ง" (หน้า ๒๑๖-๒๑๗)
อารามคัลซังเป็นที่ที่ให้กำเนิดในทางธรรมของเตอร์เติน โซเกียล
ถ้ำปีติสุขเป็นที่ที่เตอร์เติน โซเกียลเผยคำสอนพูร์บาเพื่อกำจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการตื่นรู้ของท่าน
ลาซาเป็นที่ที่เตอร์เติน โซเกียลสอนการปฏิบัติพูร์บาเป็นครั้งแรกแก่องค์ทะไลลามะ
และค่ายญาการ์เป็นสถานที่ที่เตอร์เติน โซเกียลดับขันธ์ (หน้า ๒๓๐)
จากหนังสือ "ใต้ร่มแห่งพุทธะ การเดินทางอันเร้นลับ ประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยมนต์ขลัง และการแสวงหาทางจิตวิญญาณ ณ ประเทศธิเบต In the SHADOW of the BUDDHA Secret Journeys, Sacred Histories, and Spiritual Discovery in Tibet"
แมทเตโอ พิสโตโน : เขียน
พินทุสร ติวุตานนท์ : แปล
โฆษณา