16 ส.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ฝันร้ายของผู้บริโภคกำลังจะจบลง…เมื่อเงินเฟ้ออาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
📌 ของแพงสุด…แล้วหรือยัง?
ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหารสดพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ก็ได้เผชิญกับราคาแก๊สโซลีน ที่สูงขึ้นไปถึง 44% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ส่วนราคาอาหารสดก็พุ่งขึ้นไปถึง 13.1% ซึ่งถือว่าเป็นการขึ้นราคาที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1979
ลองนึกภาพตามง่ายๆ
ถ้าปีก่อนคุณซื้อไข่ 1 แผง ด้วยเงิน 100 บาท ปีนี้คุณต้องใช้เงิน 138 บาท เพื่อซื้อไข่จำนวนเท่าเดิม
ถ้าปีก่อนคุณซื้อแป้ง ถุงละ 100 บาท ปีนี้คุณต้องใช้เงิน 122.7 บาท เพื่อซื้อแป้งจำนวนเท่าเดิม
ถ้าปีก่อนคุณซื้อไก่ โลละ 100 บาท ปีนี้คุณต้องใช้เงิน 117.6 บาท เพื่อซื้อไก่จำนวนเท่าเดิม
แต่จากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่ 8.5% ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 8.7% ก็อาจทำให้เราเริ่มเบาใจลงได้บ้างเพราะดูเหมือนว่าเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดที่สูงสุดไปแล้วและฝันร้ายของผู้บริโภคทุกครัวเรือนคงใกล้จบลงเต็มที
📌 ทำไมถึงคิดว่าเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว?
  • ราคาพลังงานโดยรวม ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงในช่วงก่อนหน้าก็ได้ลดลงไปประมาณหนึ่งแล้ว โดยในเดือนกรกฎาคม ราคาลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนราคาแก๊สโซลีนก็ลดลง 7.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จึงทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเริ่มผ่อนคลายลงไปบ้าง
  • ปัญหา Supply shortage เริ่มหมดไป เนื่องจากความต้องการสินค้าค่อยๆ ลดลง ในขณะที่ทางด้านอุปทานก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้ทันความต้องการได้แล้ว ซึ่งช่วยลดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง เห็นได้จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมัน ข้าวสาลี และทองแดง ในเดือนล่าสุดก็ลดลงแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากอุปสงค์ทั่วโลกที่ลดต่ำลง และเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน สหรัฐฯ และยุโรป ในขณะที่ทางด้านค่าขนส่ง โดยเฉพาะค่าเช่ารถบรรทุกในเดือนกรกฎาคม ก็ลดลง 11.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • เงินเฟ้อคาดการณ์เริ่มลดลง โดยเมื่อดูจาก 10-year breakeven inflation rate ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่สะท้อนว่านักลงทุนมองอัตราเงินเฟ้อในอนาคตเป็นอย่างไร พบว่าตัวเลขนี้อยู่ที่ราวๆ 2.44% จาก จากที่ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณืนี้เคยสูงที่สุดทะลุ 3% ในช่วงปลายเดือนเมษายน
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 ปี และ 10 ปี เริ่มลดลง นับตั้งแต่ที่พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งโดยปกติแล้วผลตอบแทนพันธบัตรนี้จะไม่ลดลง หากคนคาดว่าเงินเฟ้อจะยังเร่งตัวสูงขึ้น (ถ้านักลงทุนคาดการณ์ว่าอนาคตเงินเฟ้อจะสูง นักลงทุนก็จะต้องการพันธบัตรที่ผลตอบแทนสูงๆ เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงเงินเฟ้อ)
  • หุ้นวัฏจักรเริ่มดูเหมือนจะมีศักยภาพดีกว่าหุ้นกลุ่มสินค้าจำเป็น ซึ่งโดยปกติหุ้นกลุ่มวัฏจักรจะมีความผันผวนขึ้นลงไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจมากกว่าหุ้นกลุ่มสินค้าจำเป็น
อย่างไรก็ตามถึงแม้เงินเฟ้อจะออกมาดีกว่าที่คาด แต่แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อก็ไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว
เพราะนอกจากอัตราเงินเฟ้อ 8.5% จะมีองค์ประกอบที่ผันผวนและปรับตัวได้รวดเร็วแล้ว ยังมีส่วนที่ราคามีความหนืด (sticky portion) ถึง 5.8% ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้เวลาปรับได้ยากกว่าราคากลุ่มพลังงาน ดังนั้นราคาในกลุ่มนี้จะไม่ค่อยสามารถเปลี่ยนแปลงได้บ่อยๆ ประกอบไปด้วย
  • ค่าเช่า ส่วนใหญ่สัญญาเช่ามักจะทำเป็นรายปีขึ้นไปอยู่แล้ว จึงทำให้ค่าเช่านั้นเปลี่ยนแปลงได้ยากในระยะสั้น โดยปกติแนวโน้มของค่าเช่านั้นมักจะเป็นไปตามราคาบ้าน อย่างไรก็ตามถึงแม้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งติดต่อกัน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับบ้านเริ่มผ่อนคลายตัว จนทำให้ราคาบ้านก็อาจจะลดลงตามไปด้วย แต่ค่าเช่าบ้านในเดือนกรกฎาคม ยังคงเพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ดี
1
  • ค่าจ้าง โดยปกติแล้วค่าจ้างก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ไม่ได้ลดกันได้ง่ายๆ และค่าจ้างในสหรัฐฯ เองก็เพิ่มมาตั้งแต่ปีก่อน เนื่องจากตลาดแรงงานในขณะนั้นค่อนข้างจะตึงตัว สำหรับในเดือนกรกฎาคม ค่าจ้างรายสัปดาห์โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคาดว่ายังคงมีแรงกดดันเชิงบวกขึ้นอีก เนื่องจากอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ
นั่นจึงทำให้เป้าหมายที่จะลดเงินเฟ้อให้ไปอยู่ที่ระดับ 2% นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ในตอนนี้เราก็อาจจะเรียกได้ว่ากำลังมาถูกทาง แต่ว่าจะถึงปลายทางเมื่อไหร่ และอย่างไร ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในตอนนี้…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER
โฆษณา