18 ส.ค. 2022 เวลา 01:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัตราภาษีดูยังไง คิดยังไง??
ก่อนการวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีนั้น เราควรสามารถคำนวณได้ก่อนว่า เราเสียภาษีประมาณเท่าไหร่ จะได้มาวางแผนภาษีได้ถูกต้องว่า เราควรจะเพิ่มค่าลดหย่อนยังไง เท่าไหร่บ้าง
เมื่อนำรายได้ทั้งปีของเรามาคิด หักด้วยค่าใช้จ่ายที่รัฐกำหนดว่าหักได้เท่าไหร่แล้ว เช่น มนุษย์เงินเดือนนั้น รายได้จะเป็น 40(1) และ 40(2) ซึ่งเมื่อนำรายได้ทั้ง 40(1)+ 40(2) แล้วหักเหมาได้ 50% เงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บ.
พอเราหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็จะนำมาหักค่าลดหย่อนต่างๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บ. PVD, ประกันชีวิต, SSF, RMF เป็นต้น
ซึ่งก็จะเป็นแบบนี้ รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
ตรง “เงินได้สุทธิ” นี้เองที่เราจะนำเข้ามาคำนวณอัตราภาษี ซึ่งอัตราภาษีของเมืองไทย จะใช้เป็นแบบขั้นบันได ตามรูปด้านล่างนะ
การคำนวณอัตราภาษีนี้ เราต้องดูว่าเงินได้แต่ละฐานของเรา เป็นบันไดแต่ละขั้นที่ต้องก้าวไปจากขั้นแรก และบวกสะสมแต่ละขั้นกันไปเรื่อยๆ แบบนี้...
ตัวอย่าง คิดภาษี มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งโสด พ่อแม่ยังมีเงินได้จึงไม่สามารถนำของค่าเลี้ยงดูพ่อแม่มาลดหย่อนได้ มีเงินเดือน 40,000 บ. ต่อเดือน
หัก PVD เดือนละ 4,000 บ. เป็น 48,000 บ. ต่อปี
มีค่าลดหย่อนเพิ่มแค่เรื่องของประกันสังคม ซึ่งปี 65 นี้รัฐมีการปรับลดเงินที่หักเข้าประกันสังคม ซึ่งปกติประกันสังคมจะหักได้ 9,000 บ.ต่อปี ของปี 65 สูงสุดก็จะเป็นแค่ 7,200 บ. ลองดูกันว่า จะเสียภาษีเท่าไหร่
เริ่มจาก
เงินได้ทั้งปี 40,000 บ. X 12 เดือน = 480,000 บ. ต่อปี เป็นรายได้ 40(1)
หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บ. ดังนั้นจะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด ตรงนี้ แค่ 100,000 บ.
ค่าลดหย่อน
ค่าลดหย่อนส่วนตัว รัฐกำหนดให้ลดหย่อนได้ 60,000 บ.
PVD 48,000 บ.
ประกันสังคม 7,200 บ.
เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปคำนวณอัตราภาษี คือ
480,000 – 100,000 – 60,000 – 48,000 -7,200 บ. = 264,800 บ.
มาดูกันที่อัตราภาษีแบบขั้นบันไดกัน ที่ต้องเริ่มกันที่ตั้งแต่ก้าวแรก หรือขั้นแรก แล้วบวกขึ้นไปเรื่อยๆ
เริ่มกันที่ขั้นที่ 1 จากตาราง เงินได้ในขั้นแรก 150,000 บ. แรก ไม่เสียภาษี เพราะฉะนั้น 150,000 บ. แรกของเรา ขั้นนี้ ภาษีที่ต้องเสีย คือ 0
มาขั้นที่ 2 เงินได้ที่มากกว่า 150,000 จนถึง 300,000 บ. เสีย 5% ซึ่งช่วงนี้ ก็คือเงินได้ของเราในช่วงนี้ทั้งหมด คือ 114,800 บ. ก็ต้องถูกนำมาคิดภาษี ในอัรา 5% ขั้นที่ 2 นี้ เราจะเสียภาษี = = 114,800 X 5% = 5,740 บ..
จะเห็นว่าเงินได้เราสุดอยู่ตรงขั้นนี้ ก็ไม่ต้องเดินต่อไปในขั้นถัดไป ทีนี้เราก็เอาแต่ละขั้นที่เราสะสมไว้ในทั้ง 2 ขั้น มาเป็นภาษีที่เราต้องจ่าย แบบนี้
= 0 บ. + 5,740 = 5,740 บ.
สรุป ภาษีที่เราต้องเสียทั้งปีก็จะเท่ากับ 5,740 บ.
การวางแผนภาษีที่ดี เราควรพอคำนวณภาษีตัวเองได้ก่อนว่า เราเสียภาษีเท่าไหร่ จะได้วางแผนกันได้ถูก และอัตราภาษีเป็นลักษณะแบบขั้นบันได ที่เราต้องเอาภาษีที่เราต้องจ่ายในแต่ละขั้นมาบวกสะสมรวมกันไปทีละขั้น แบบตัวอย่างที่แสดงให้ดูนะ
สรุป!! รายการลดหย่อนภาษีปี 65 อ่านเพิ่มเติมจากลิงค์นี้นะ
โฆษณา