20 ส.ค. 2022 เวลา 05:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
เรียนรู้และเข้าใจ “ออทิสติก” ผ่านตัวละครจากซีรีส์-หนังดัง
ทำความเข้าใจกลุ่มผู้ที่มีอาการ “ออทิสติก” ผ่านตัวละครจากซีรีส์และภาพยนตร์ดัง ตั้งแต่ “Forrest Gump” หนังดังขึ้นหิ้ง จนถึง “อู ยองอู” จาก “Extraordinary Attorney Woo” ซีรีส์เกาหลีสุดฮิต
เรื่องโดย กฤตพล สุธีภัทรกุล
เรียนรู้และเข้าใจ “ออทิสติก” ผ่านตัวละครจากซีรีส์-หนังดัง
จบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับซีรีส์ “Extraordinary Attorney Woo” เล่าเรื่องของ “อู ยองอู” ทนายความหญิง วัย 27 ปี มีไอคิวสูงถึง 164 มีความจำเป็นเลิศ ตลอดจนกระบวนการความคิดที่เยี่ยมกว่าคนปกติ
แต่เธอพบว่า ตัวเองกำลังมีปัญหาอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับการเข้าสังคม เนื่องจากเธอมีภาวะแอสเพอร์เกอร์ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มสเปกตรัมเดียวกันกับออทิสติก ซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำเรตติ้งสูงขึ้นทุกตอนที่ออกอากาศ จนกลายเป็นซีรีส์ที่ทำเรตติ้งสูงสุดของช่อง ENA สถานีที่ออกอากาศ ด้วยเรตติ้งตอนจบที่สูงถึง 17.5
อีกทั้ง “พัก อึน-บิน” ผู้รับบทเป็น “อู ยองอู” ยังได้รับคำชมว่าสามารถถ่ายทอดลักษณะตัวละครออกมาได้อย่างดีเยี่ยม รวมถึงคนเขียนบทและทีมงานที่ทำการบ้านมาอย่างดี พร้อมเก็บรายละเอียดของผู้ที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ได้อย่างครบถ้วน
เพื่อทำความเข้าใจภาวะออทิสติกและแอสเพอร์เกอร์ให้ดียิ่งขึ้น กรุงเทพธุรกิจได้รวบรวมภาพยนตร์และซีรีส์ที่ตัวละครนำมีภาวะดังกล่าวมาให้ได้ชมกัน ซึ่งนอกจากจะสร้างความเข้าใจให้มากขึ้นแล้ว ภาพยนตร์และซีรีส์เหล่านี้ยังสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้ชมได้อีกด้วย
แต่ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกันก่อนว่า ภาวะออทิสติกและแอสเพอร์เกอร์นั้นคืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร
จากข้อมูลของเว็บไซต์ พบแพทย์ ระบุว่า กลุ่มอาการออทิสติก (Autism Spectrum Disorders: ASD) คือ ภาวะระบบประสาททำงานซับซ้อน ผู้ที่เป็นออทิสติกจะมีความสามารถเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม พัฒนาการทางภาษา และทักษะการสื่อสารด้อยกว่าคนทั่วไป และมักมีพฤติกรรมทำอะไรเหมือนเดิมซ้ำ ๆ เช่น โยนของไปมา สะบัดมือซ้ำ ๆ หรือชอบพูดเลียนแบบ โดยอาการอาจรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ได้ เพราะแต่ละคนมีปัญหาและความรุนแรงที่แตกต่างกัน
ขณะที่ แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome) เป็นความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว อยู่ในกลุ่มสเปกตรัมเดียวกับโรคออทิสติก ส่งผลต่อพฤติกรรม การใช้ภาษา การสื่อสาร และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในสังคม ผู้ป่วยจะมีอาการหมกมุ่นหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ มีความสามารถในการสื่อสารหรือการเข้าสังคมต่ำ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ยึดมั่นในความคิดของตนเอง และจริงจังกับกฎหรือกิจวัตรประจำวัน
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่จัดอยู่ในกลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (High-functioning Autism) โดยจะไม่มีความผิดปกติของสมรรถนะทางสมองหรือการใช้ภาษา พูดเก่ง และดูเหมือนฉลาด อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยหรือเริ่มรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม
โฆษณา