20 ส.ค. 2022 เวลา 06:30 • หนังสือ
อ่านแล้ว - จัดระบบความคิด จัดระเบียบชีวิตด้วย Bullet Journal
ในหมู่คนที่ชอบขีดเขียนจดบันทึกด้วยระบบแมนนวล
คือ จดลงบนกระดาษจริงๆ ด้วยปากกาหรือดินสอ
เกือบทุกคนน่าจะเคยได้ยิน “Bullet Journal” มาบ้างแล้ว
ไม่ผ่านหู ก็ผ่านตา…
Bullet journalling หรือเรียกสั้นๆ ว่า Bujo
เป็นวิธีการจดบันทึกส่วนตัว
ใช้หลักการ “-“ หรือที่เราเรียกว่า “bullet”
คือ การหยิบเฉพาะหัวเรื่องและสาระ
มาบันทึกกิจกรรม ความคืบหน้า และหมวดหมู่ (collection)
เป็นวิธีที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ด้วยหลักการที่เรียบง่าย
เปิดโอกาสให้แต่ละคนมี วิถีบูโจ เป็นของตัวเอง
ผู้คิดค้นบูโจนั้นคือ คุณ Ryder Carroll เด็กหนุ่มซึ่งประสบปัญหาในชีวิตประจำวัน จากการ ADHD
ผู้ป่วย ADHD จะมีเรื่องมากมายในใจ ความคิดมากมายในหัว ที่แสนจะยุ่งเหยิงและยากจะจัดระเบียบ
คุณ Ryder ได้พัฒนาระบบการจัดระเบียบตัวเอง
และเผยแพร่สู่นักจด ในชื่อ Bullet Journalling method
Ryder Carroll (https://www.rydercarroll.com/)
คุณ Ryder ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับวิถีบูโจ
อธิบายหลักการและขั้นตอนอย่างละเอียด
ละเอียดมากจนกระทั่งเราเรียกว่า ไบเบิ้ลบูโจ
ในบางหมู่มวลชนนักจด ก็ได้กล่าวถึงหนังสือของคุณ Ryder ไว้ว่า เน้นความเป็นมาและหลักการ
ถ้าหากมีหนังสือที่มุ่งเน้นการปฏิบัติจริง หรือตัวอย่างการใช้จริงมากขึ้นคงดี
เล่มนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเล่มในกลุ่มดังกล่าว
ดังคำโปรยบนปก “สะดวก ง่าย และใช้ได้ผลจริง”
แม่อ่านจบแล้ว โลมาขอถ่ายรูปด้วยค่ะ
ผู้เขียนมีนามปากกาว่า “Marie”
เป็นบล๊อกเกอร์สาวชาวญี่ปุ่น
จัดจำหน่ายฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ WE
ราคา 250 บาท
เป็น pocket book ที่ไม่หนามาก ราว 185 หน้า
หนังสือประกอบด้วย 4 ตอนหลัก
ตอนที่ 1 กล่าวถึง หลักการ
ตอนที่ 2 กล่าวถึง วิธีใช้งานตามแบบฉบับของผู้เขียน
ตอนที่ 3 กล่าวถึง ตัวอย่าง collection ต่างๆ
และตอนที่ 4 ได้หยิบตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัวของชาวบูโจมารวมรวบไว้จำนวนหนึ่ง
ส่วนตัวเห็นว่า อ่านสบาย อ่านแป๊บๆ ก็จบ
จะอ่านเป็นเล่มแรกก่อนทำบูโจ
หรืออ่านเป็นเล่มต่อจากฉบับต้นตำรับก็ดี จะได้เห็นตัวอย่างการปรับปรุงให้ตรงตาม “ตัวตน” ของผู้ใช้ได้มากขึ้น
เพราะชีวิตของแต่ละคนมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน
บาง component ที่ผู้คิดค้นตั้งไว้
อาจจะไม่สอดคล้องกับวิธีจดบันทึกของเราก็ได้
และหลักการที่แท้จริงของบูโจ
คือ สมุดเปล่าหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้าม เท่านั้น
คุณไม่จำเป็นต้องซื้อสมุดบูโจราคาแพงจากผู้ผลิตยี่ห้อดัง
ขอแค่เพียงสมุดสักเล่ม
สมุดบางรูปแบบ อาจจะใช้ง่ายกว่าอีกแบบ
แต่ไม่ว่าจะเป็นสมุดแบบไหน
ก็ไม่สำคัญมากเท่า คุณหยิบมันมาจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ หรือไม่
แล้วถ้าจดบ้าง หยุดบ้างล่ะ?
นั่นก็คงไม่เป็นไร
เพราะเราเอง ก็เพิ่งจะหยิบสมุดมาอีกเล่ม
แล้วพยายามจดบูโจอีกครั้ง
หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ
โดยไม่โบยตีความล้มเหลว 10 รอบก่อนๆ
#บูโจ
#จดบันทึก
#clarityofmind
โฆษณา