22 ส.ค. 2022 เวลา 01:08 • สิ่งแวดล้อม
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 44 | ซีรี่ย์ ‘สัตว์ลายเสือ’ ประจำเดือนสิงหาคม
สัตว์ลายเสือตัวนี้ แค่ได้ยินชื่อก็ฟังดูน่าเกรงขามเพราะมีนามที่หมายถึงพยัคฆ์ติดครีบ แต่ความจริงแล้วสัตว์ตัวนี้กลับเป็นขวัญใจของเหล่านักดำน้ำและสัตว์ตัวนั้นก็คือ ‘ฉลามเสือดาว’ 🦈🐆นั่นเอง
https://www.maldivesunderwaterinitiative.com/megafauna-sightings
ซีรี่ย์สัตว์ลายเสือที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ที่มีลายคล้ายเสือพาดกลอน🐅 แต่วันนี้เราเปลี่ยนมาทำความรู้จักกับฉลามที่มีลายเป็นจุดๆ คล้ายเสือดาว🐆กันบ้าง
ฉลามเสือดาว หรือ Leopard shark เป็นฉลามที่ไม่มีอันตรายกับมนุษย์ หรือนักดำน้ำแต่อย่างใด แต่ที่มาของชื่อก็คงมาจากลักษณะภายนอกที่เป็นสีเหลืองสลับลายจุดบนตัวคล้ายลายของเสือดาวนั่นเอง
ที่ว่าไม่ดุร้ายและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ก็เพราะเจ้าฉลามชนิดนี้ไม่มีฟันที่มีลักษณะแหลมคม หรือเขี้ยวแหลมๆเหมือนฉลามนักล่าทั่วไป แต่มันจะมีฟันละเอียดเล็กๆเป็นผืนอยู่ในปาก ฟันเหล่านี้มีไว้ใช้บดและขบอาหารมากกว่าการกัดและฉีกเหยื่อ
เป็นฉลามที่มีนิสัยรักสงบ ชอบนอนกบดานนิ่งๆอยู่บนพื้นทราย ใช้เวลาส่วนใหญ่ในตอนกลางวันไปกับการนอนพรางตัวอยู่บนพื้นทราย และออกว่ายหากินในเวลากลางคืน อาหารของเจ้าฉลามเสือดาวจึงเป็นสัตว์ทะเลจำพวกกุ้งมังกร หอย ปลาหมึก ที่อยู่ตามพื้นทรายและแนวปะการังเป็นส่วนใหญ่
ลักษณะทั่วไปเป็นปลาฉลามขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนล่ำ มีสันนูนเป็นแถวบริเวณด้านบนและข้างลำตัว จะงอยปากสั้น ตาเล็ก จมูกมีหนวดสั้นๆ
ลักษณะเด่นคือครีบหางยาวขนาดใหญ่คล้ายใบมีด หางยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว มีจุดดำหรือน้ำตาลกระจายทั่วลำตัว ทั้งโลกมีเพียงสกุลเดียวและชนิดเดียวก็คือ เจ้าฉลามเสือดาว
แต่ก็มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ฉลามม้าลาย (Zebra shark) เพราะในตอนเล็กๆขณะเป็นฉลามวัยอ่อนจะมีสีน้ำตาลดำคาดขาวคล้ายๆม้าลาย
Illustration © Marc Dando Via. https://www.sharks.org/zebra-shark-stegostoma-fasciatum
ในรูปด้านบนเป็นภาพเปรียบเทียบฉลามเสือดาวตอนโตเต็มวัยกับในวัยอ่อน โดยตัวอ่อนด้านล่างจะเป็นสีเหลือง ส่วนด้านบนจะเป็นสีน้ำตาลเข้มและจะมีแถบสีเหลืองเป็นล่องๆ คล้ายม้าลาย แต่เมื่อโตขึ้นลายตามตัวก็จะมีสีเหลืองสลับลายจุดบนตัวคล้ายลายของเสือดาวนั่นเอง
ซึ่งลูกฉลามเสือดาวนั้นมักจะไม่ค่อยได้เห็นกัน เพราะลูกปลาขนาดเล็กอาจจะเข้าไปอยู่ในบริเวณน้ำกร่อยหรือน้ำจืด แถบป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำได้ จนกระทั่งโตขึ้นมามีสีสันลวดลายเหมือนพ่อแม่จึงค่อยว่ายน้ำกลับขึ้นมาอาศัยอยู่ตามพื้นทรายและแนวปะการัง
ไข่ฉลาม? กระเป๋านางเงือก🧜‍♀️?
ความพิเศษหนึ่งของฉลามเสือดาวก็คือเป็นฉลามที่ ‘ออกลูกเป็นไข่’ เพราะฉลามส่วนใหญ่มักจะออกลูกเป็นตัว
โดยนอกจากฉลามเสือดาวแล้วก็ยังมีฉลามบางชนิดที่ออกลูกเป็นไข่ เช่น ฉลามทราย ฉลามกบ และพวกฉลามหน้าดินอีกหลายชนิด
โดยแม่ฉลามจะวางไข่ติดกับวัตถุใต้น้ำ แล้วปล่อยให้ไข่ฟักเองตามธรรมชาติ ไข่เป็นแคปซูลส่วนใหญ่รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยม เหมือนกระเป๋าถือแบน ๆ เปลือกของไข่หนาและเหนียว ที่มุมมีเส้นใยสำหรับใช้ยึดกับวัตถุใต้น้ำไม่ให้ไข่หลุดลอยไป เมื่อนำมาส่องกับแสงจะเห็นไข่แดงขนาดใหญ่ลอยอยู่ในของเหลวภายใน
หากไข่ได้รับการผสม ไข่นี้จะพัฒนาเป็นตัวอ่อน และฟักออกมา ส่วนแคปซูลหรือเปลือกไข่ ก็จะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ ส่วนใหญ่มาเกยอยู่ตามชายหาด ในอดีตผู้คนไม่รู้จักไข่ฉลาม จึงเรียกเปลือกไข่ที่พบเหล่านี้ว่า “กระเป๋านางเงือก (Mermaid's purses)”
Image credit: DeAgostini/Getty via. https://www.livescience.com/62325-shark-egg-embryo-gif.html
และนี่คือภาพของไข่ฉลามซึ่งภายในไข่จะประกอบด้วยตัวอ่อนและถุงไข่แดง (yolk sac ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของตัวอ่อน) ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงกันน้ำและสามารถป้องกันสัตว์ผู้ล่าได้ด้วยเนื่องจากปกติแม่ฉลามจะหลังวางไข่แล้วจะไม่เฝ้าลูกและจะปล่อยให้สู้ชีวิตเอง
สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งดำน้ำที่สามารถพบเห็นฉลามเสือดาวได้เป็นประจำ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นสำคัญเพราะมีไม่มีกี่แห่งในโลกเท่านั้นที่สามารถพบเห็นฉลามเสือดาวได้ง่าย
1
แต่ปัจจุบันพบว่าฉลามเสือดาวสามารถพบเห็นได้ไม่ง่ายเมื่อเทียบกับอดีต จากเดิมที่เคยพบได้เป็นประจำ เช่นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ก็พบเห็นฉลามเสือดาวได้ยากมากในปัจจุบัน
ภัยคุกคามที่สำคัญของฉลามเสือดาวคือการประมง แม้ประชากรฉลามเสือดาวจะมีไม่นักที่จะตกเป็นเป้าหมายในการจับ แต่ก็มักถูกจับโดยบังเอิญอยู่เสมอ ฉลามเสือดาวที่ถูกจับได้จะถูกใช้ประโยชน์ทั้งตัว และมีไม่น้อยที่ถูกเก็บไว้ในกระชังเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มารับประทานอาหารทะเล
1
นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีการจับเพื่อกินเนื่องจากมีเนื้อที่อร่อย รวมทั้งลูกฉลามเสือดาวก็อาจเป็นเหยื่อที่ถูกจับไปขายให้กับศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ เนื่องจากเป็นฉลามที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในอควาเรียมได้ง่าย
https://www.rufford.org/projects/christine-dudgeon/spot-the-leopard-shark-thailand-community-based-photo-identification-monitoring-program-for-leopard-sharks-stegostoma-fasciatum-in-thailand/
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา