23 ส.ค. 2022 เวลา 13:30 • ประวัติศาสตร์
ก่อนจะเป็นเจ้าหญิง:ครบรอบ 25 ปี การจากไปของเจ้าหญิงไดอานา
1
ย้อนกลับไปในวันที่ 29 กรกฎาคม เมื่อ 41 ปีก่อน ณ มหาวิหารเซนต์ปอล ผู้คนทั่วโลกกว่า 750 ล้านคนต่างชมการถ่ายทอดสดงานแต่งงานของคนหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ทุกอย่างดูสวยงามราวกับเทพนิยาย เจ้าชายหนุ่มผู้เป็นมกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษแต่งงานกับสาวสวยจากครอบครัวชนชั้นสูง
แน่นอนว่าเรื่องราวหลังจากนั้นทุกคนพอจะทราบได้ว่า มันได้กลับกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่ฝังแน่นและถูกนำมาเล่าซ้ำอีกหลายครั้งผ่านซีรี่ย์ ภาพยนตร์ และสารคดี
เนื่องในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ จะเป็นวันครบรอบการจากไปของเจ้าหญิงไดอานา ผู้เป็นทั้งไอคอน เป็นแรงบันดาลใจ เป็นผู้สร้างแรงกระเพื่อมอันยิ่งใหญ่ให้กับราชวงศ์วินเซอร์แห่งอังกฤษผ่านสงครามการ PR
เพจเขาคนนั้นในวันวาน ขอพาไปย้อนรอยถึงช่วงชีวิตก่อนจะมาเป็นเจ้าหญิงไดอานา รวมถึงตระกูลสเปนเซอร์ของเธอว่ามีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์อย่างไรกับราชวงศ์วินเซอร์บ้าง เชิญตามมาอ่านกันเลยค่ะ
ก่อนจะเป็นเจ้าหญิง
เรื่องราวเริ่มขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1961 เมื่อเจ้าหญิงไดอานา หรือไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ ถือกำเนิดขึ้น แม้ตามมาตรฐานราชวงศ์จะนับว่าเธอเป็นสามัญชน แต่เธอก็เกิดในตระกูลชนชั้นสูงเก่าแก่ที่สืบทอดฐานันดรศักดิ์มากมาย อาทิ ดยุคแห่งมาร์ลบะระ เอิร์ลสเปนเซอร์ เอิร์ลแห่งซันเดอร์แลนด์ และ ไวเคานท์เชอร์ชิลล์ โดยปู่ของไดอานามีตำแหน่งเป็นเอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 7 และพ่อของเธอเป็นไวท์เคานต์อัลธอร์พ ณ ขณะนั้น
ชีวิตครอบครัวในวัยเด็กของไดอานากล่าวได้ว่าไม่ราบรื่นนัก แม่ของเธอหย่าขาดกับพ่อเมื่อเธออายุได้เพียง 6-7 ปี ก่อนจะพาไดอานาไปอยู่ด้วยกันที่ลอนดอนและแต่งงานใหม่กับ ปีเตอร์ ชานด์ คิดด์ เศรษฐีทายาทธุรกิจวอลเปเปอร์ แต่ก็ยังพาเธอไปมาหาสู่กับพ่อแท้ๆของเธอ ขณะที่พ่อเองก็แต่งงานใหม่กับแม่เลี้ยงที่เธอไม่ชอบเอาเสียเลย แต่พ่อของเธอต้องการให้ไดอานาอยู่กับเขามากกว่า อันเป็นเหตุให้เธอต้องตกอยู่ในสงครามการแย่งสิทธิเป็นผู้ปกครองระหว่างพ่อและแม่
ในด้านการศึกษา ไดอานาได้รับการศึกษาตามมาตรฐานใน Silfield Private School in Gayton และ Riddlesworth Hall School ก่อนจะถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนประจำ West Heath Girls' School in Sevenoaks (ซึ่งเธอน้อยใจพ่อเป็นอย่างมากที่ส่งเธอไปที่นั่น)
ชีวิตการเรียนในเรื่องวิชาการเธออาจจะไม่เก่งนัก แต่เธอมีความสามารถโดดเด่นในเรื่องกีฬาและดนตรีเป็นอย่างมาก เธอชื่นชอบการว่ายน้ำ ดำน้ำ เล่นเปียโน และการเต้นบัลเล่ต์
ภาพเจ้าหญิงไดอานาเล่นเปียโน (ที่มา: Woman’s World)
ต่อมาเธอเข้าเรียนที่ Institut Alpin Videmanette ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถาบันหญิงล้วนยอดฮิตที่ชนชั้นสูงชอบส่งบุตรสาวไปเรียนในช่วงยุค 1960s แต่เธอได้ตัดสินใจลาออกภายหลัง และย้ายมาทำงานที่ลอนดอนเป็นพี่เลี้ยงเด็กและครูผู้ช่วยในโรงเรียนอนุบาล รวมถึงรับงานพาร์ทไทม์อีกมากมาย
และในช่วงอายุ 16-17 ปีนี่เองที่เธอเริ่มติดตามพี่สาวไปออกงานสังคมของชนชั้นสูงในลอนดอนอีกครั้ง และได้พบกับเจ้าฟ้าชายชาร์ล เจ้าชายผู้หล่อเหลาราวกับหลุดออกมาจากนิยายรักโรแมนติกของบาร์บารา คาร์ตแลนด์ที่เธอชอบอ่าน แม้ในการพบกันจะเป็นในฐานะที่เขากำลังคบหาดูใจกับซาร่าห์ พี่สาวของเธอ
ซึ่งภายหลังทั้งคู่ก็ไปด้วยกันไม่ได้ และเจ้าชายชาร์ลก็ไปเดทกับคามิลล่า ปาร์กเกอร์ โบลส์ ก่อนจะมาลงเอยแต่งงานกับเลดี้ไดอานา สาวผู้มีความเป็นภรรยาในอุดมคติ ดูเป็นสาวบริสุทธิ์ตามขนบอังกฤษแต่โบราณ และดูเหมาะสมกับการเป็นคู่ชีวิตของเจ้าชายในสายตาผู้ใหญ่
แรงผลักดันที่นำไปสู่การแต่งงาน
ผู้อ่านคงสังเกตได้ว่ามีช่วงเวลาที่ทับซ้อนกันระหว่างการเดทกับคามิลล่า และการแต่งงานกับไดอานาช่างดูไม่สมเหตุสมผล แน่นอนค่ะ ว่าการแต่งงานของทั้งคู่ไม่ได้มาจากความรัก (ข้างเดียวของเจ้าหญิงไดอานา) เพียงอย่างเดียว แต่มีพลังผลักดันอื่นอยู่เบื้องหลังด้วย
เรื่องนี้ต้องไล่เรียงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลสเปนเซอร์กับราชวงศ์อังกฤษ โดยตระกูลสเปนเซอร์ปรากฎขึ้นในประวัติศาสตร์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1066 ในช่วงรัชสมัยของกษัตริย์วิลเลียมผู้พิชิต (ผู้ซึ่งเดินทางไกลจากนอร์มังดีมายึดบัลลังก์) โรเบิร์ต เลอ ดีสเปนเซอร์ นั้น เป็นเจ้าหน้าที่ชาวนอร์มังผู้ดูแลราชการต่างๆในวังที่ติดตามมาด้วยในยุคนั้น ก่อนจะค่อยๆได้รับบรรดาศักดิ์และที่ดิน จนกระทั่งก่อร่างสร้างตระกูลให้ร่ำรวยจากการค้าขนแกะ อีกทั้งมีบรรดาศักดิ์ให้สืบทอดได้ในที่สุด
ในด้านความสัมพันธ์กับควีนอลิซาเบธที่ 2 ก็ยิ่งแน่นแฟ้น และดูเหมือนจะมีการวางแผนการดองกันของสองตระกูลกันมาแต่แรกแล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างย่าของไดอานาและควีนอลิซาเบธที่ 2 โดยคุณย่า ซินเธีย สเปนเซอร์ของไดอานา เป็นต้นห้องคนสนิทที่ดูแลควีนอลิซาเบธที่ 2 มาตั้งแต่ประสูติ อีกทั้งพ่อของไดอานาเองขณะที่ถือบรรดาศักดิ์ไวท์เคานต์อัลธอร์พก่อนหน้านี้ ก็เช่าคฤหาสน์พาร์กเฮาส์ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของพระตำหนักซานดริงแฮมของควีนอลิซาเบธที่ 2 ทำให้ทั้งสองครอบครัวได้พบปะกันบ่อยครั้ง
ประจวบกับช่วงเวลาที่เจ้าชายและเด็กๆตระกูลสเปนเซอร์เริ่มเติบโตเป็นวัยหนุ่มสาว เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะตกต่ำ มีการประท้วงหยุดงาน และเริ่มมีการตั้งคำถามถึงการใช้จ่ายของราชวงศ์ ในขณะนั้นราชวงศ์จึงต้องการกอบกู้สถานการณ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดูใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น การแต่งงานระหว่างมกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษและหญิงสาวสามัญชนจากตระกูลดี มีงานทำและติดดินจึงเป็นคำตอบ เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ที่ดูคร่ำครึ สู่พล็อตนิยายรักสุดโรแมนติกมาปลอบประโลมใจผู้คน
ในส่วนภาพลักษณ์ของเจ้าหญิงไดอานาเอง ก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เธอได้กลายเป็นคู่ชีวิตในช่วงเวลาหนึ่งของเจ้าฟ้าชายชาร์ล เพราะเธอมีภาพของการเป็นสาวน้อยใจดี สวยสง่า ร่าเริง อีกทั้งยังมีงานมีการทำ มีเงินเดือนเป็นของตัวเอง กล่าวได้ว่ามีทั้งภาพตามขนบ และมีจุดร่วมกับคนปกติสามัญที่ต้องทำงานเลี้ยงชีพ
ภาพการหมั้นหมายอย่างเป็นทางการของเจ้าฟ้าชายชาร์ลและเจ้าหญิงไดอานา (ที่มา https://www.readytoask.com/the-engagement-of-prince-charles-and-lady-diana/)
และปัจจัยทั้งหมดนี้ก็นำมาสู่การดองกันของสองตระกูล รวมถึงประโยคสัมภาษณ์อันโด่งดังที่ทั้งคู่ตอบในการถ่ายภาพการหมั้นหมายเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อนักข่าวถามถึงความรู้สึกของคนทั้งคู่ว่ารักกันหรือไม่ ซึ่งเจ้าหญิงไดอานาตอบอย่างไม่ลังเลว่า "แน่นอน" (Of course) ขณะที่เจ้าชายชาร์ลกลับเสริมว่า "ไม่ว่าคำว่ารักมันจะหมายความว่ายังไงอ่ะนะ" (Whatever love means)
จบกันไปอีกบทความแล้วนะคะ เพื่อนๆผู้อ่านท่านใดผ่านมาแวะเวียนอ่าน แอดฝากกดติดตามเพจ เขาคนนั้นในวันวาน ด้วยนะคะ เข้ามาเป็็นเพื่อนกันเยอะๆนะ
โฆษณา