22 ส.ค. 2022 เวลา 08:29 • ประวัติศาสตร์
**พระมหาธรรมราชา : ผู้ร้ายตลอดกาลแห่งหน้าประวัติศาสตร์ไทย ??** (ตอนที่ 10)
1
ลักไวทำมูที่พระเจ้านันทบุเรงให้มาปะทะกับพระนเรศคราวนี้เป็นยอดฝีมือที่เก่งทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เจนจบทุกกระบวนยุทธและการตั้งค่ายต่างๆที่มีอยู่ในตำราพิชัยสงคราม เรียกได้ว่าภาคทฤษฎีและปฏิบัตินี่น่าจะพอฟัดพอเหวี่ยงกับพระนเรศซึ่งเป็นศิษย์เอกบุเรงนองผู้ชนะสิบทิศ แต่เพดานบินเหนือกว่าพระนเรศมาก ฉากรบกันผม quote มาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ นะครับ (ส่วนตัวผมชอบพงศาวดารชุดนี้มากที่สุด)
1
" สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทรงม้าพระที่นั่งออกไปทหาร ๓ กอง ทัพล้อมวง ๑,๐๐๐ ถือโตมรและดาบดั้งออกไป ได้รบพุ่งกันแต่ เพลาเช้า ๓ โมงจนถึง ๔ โมงข้าศึกแตกเข้าไปอยู่สักครู่หนึ่ง กลับเอาม้า ๓๐ ออกมายั่วทัพ จึงแต่งเป็นปีกฉนางและกองซุ่มไว้ ปีกหนึ่งลักไวทำมู ปีกหนึ่งทหารทด "
ตามนี้ก็คือพระนเรศไปกับทหาร 3 กอง ทัพของลักไวทำมูมีทหาร 1,000 นายมาล้อม ถือโตมร คือหอกปลายเป็นใบโพธิ์ ใช้แทงก็ได้ พุ่งซัดออกก็ได้ (ดูรูปประกอบด้านล่าง) ส่วนดาบดั้ง คือดาบและดั้งคือแท่งยาวๆ (รูปอยู่ด้านล่างครับ) ถ้าสู้แบบทหารราบก็พอจะเอาดั้งมาใช้รับดาบข้าศึกได้ แต่จุดประสงค์หลักคือเอามาใช้กับทัพม้า โดยทหารจะนั่งลงแล้วเอาดั้งตั้งรับไว้ข้างหน้าขวางทางม้าที่กำลังควบมา
1
ถ้าม้าถอยก็แล้วไป แต่ถ้ามาเร็วม้าก็จะกระโดดข้าม จังหวะที่ม้ากระโดดข้ามดั้งทหารก็จะใช้ดาบฟันขาม้าเพื่อให้ม้าขาหักหรือขาขาดแล้วล้มลง (สงสารม้าจัง) แล้วจึงจับกุมหรือสังหารทหารม้าคนนั้น พม่ากะใช้วิธีนี้จับกุมพระนเรศ พอไม่ได้ผลพม่าก็แกล้งถอย และจัดม้าเหลือ 30 ยั่วให้ทัพพระนเรศตามไป ซึ่งลักไวทำมูจัดทัพซุ่มไว้ จัดทัพแบบปีกฉนาง ก็คือชนาง เป็นเครื่องมือจับปลา (ดูตามรูปด้านล่าง)
ทัพลักไวทำมูจัดเป็นสองปีกที่ล้อมด้านข้าง เลียนแบบขอบของชนาง ทัพพระนเรศเข้ามาตรงกลางเหมือนปลาที่ว่ายเข้ามา ปีกนึงลักไวทำมูคุมเอง อีกปีกเป็นทหารทด ทดก็คือกั้น เหมือนฝายทดน้ำก็คือฝายกั้นน้ำ จุดมุ่งหมายก็คือกั้นไม่ให้พระนเรศหนีออกไปได้
คราวนี้หนังสือบางเล่มสะกดว่า ทหารทศ แล้วแปลว่าคือทหารที่ถืออาวุธ 10 ชนิด ลองนึกภาพตามนะครับว่าทหารมีสองมือแต่ต้องถืออาวุธถึง 10 ชนิดมันจะรบกับใครได้ไหม อาวุธที่ถือคงรบกันเองยุ่งไปหมด ดังนั้นน่าจะเป็น ทหารทด มากกว่า
มาว่าตามพงศาวดารกันต่อนะครับ " สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทรงม้า ทวนไล่ข้าศึกเข้าไป และข้าศึก ๒ ปีกออกหุ้มพระองค์และทหารนั้นเข้าไว้ ลักไวทำมูถือดาบดั้งเข้ามาจะกุมเอาพระองค์ ๆ ทรงแทรกด้วยพระแสงทวนถูกลักไวทำมู ๆ ฟันต้องพระแสงทวนเป็นแผล แต่ลักไวทำมูตาย ทหารทดถือโตมรและหอกใหญ่ตรงเข้ามา ทรงฟันด้วยพระแสงดาบถูกสะพายแล่งล้มลงตาย ก็เสด็จกลับเข้ามาพระนคร "
1
นึกภาพฉากนี้นะครับ พอพระนเรศขี่ม้ามา ทั้ง 2 ปีกก็หุ้มล้อมพระองค์ไว้ ลักไวทำมูถือดาบดั้งเข้ามากะจับตัวพระนเรศ เจอพระนเรศเอาทวนแทงสวน ลักไวเจอไปดอกเดียวถึงกับม่องเท่ง ทหารทดเข้ามาก็เจอพระนเรศฟันด้วยดาบจนขาดสะพายแล่งม่องเท่งไปอีกคน แล้วพระนเรศก็ยกทัพกลับพระนคร
ถ้าไปดูหนังนเรศวรจะเห็นความพิสดารของการตั้งค่ายกลของลักไวทำมู ซึ่งในพงศาวดารไม่ได้พูดถึงขนาดนั้น เหมือนได้รับอิทธิพลจากหนังสงครามของฝรั่งและจีน แต่ทำได้อลังการมากครับ ฉากสู้กันระหว่างพระนเรศและลักไวในหนังก็เหมือนการประลองยุทธของสองยอดฝีมือ แต่ถ้าดูตามพงศาวดารแล้วเหมือนน่าจะชุลมุนกันมากกว่าที่จะลงจากหลังม้ามารบกันแบบเท่ๆ และในหนังก็ให้ลักไวใช้ทวนแทนดาบ คงเพราะปูมาตลอดว่าลักไวคือยอดฝีมือทางทวน แล้วตอนพระนเรศแทงทวนสวนไปลักไวยืนตายแล้วค่อยๆล้มลงมา (ระดับยอดฝีมือ จะตายก็ยังต้องมีมาด)
หนังก็ต้องสร้างแบบนี้แหละครับถึงจะสนุกเพราะถ้าเอาตามพงศาวดารเป๊ะคงนกกระจอกไม่ทันกินน้ำเหมือนเรื่องฤทธิ์มีดสั้นตอนลี้คิมฮวงสู้กับเซี่ยงกัวกิมฮ้ง ยิ่งถ้าเป็นพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐนี่บรรยายการรบครั้งนี้ทั้งหมดแค่ประมาณ 3-4 บรรทัด แถมไม่ได้เอ่ยชื่อลักไวทำมูสักคำ
ฉากรบกันนี่ผมอ่านรอบแรกก็งงมากเพราะมีแต่ศัพท์ทหารและอาวุธโบราณ มาถึงบางอ้อตอนฟังอาจารย์สุเนตรเล่า ท่านเล่า clear และนึกภาพตามได้ชัดเจนเลย แถมยังขยายเพิ่มเติมว่าเมื่อพระนเรศเอาทวนแทงลักไวแล้วปรากฏว่าดึงทวนกลับไม่ได้เพราะทวนติดเกราะพี่ลักไว พอมีทหารพม่าเข้ามาโจมตีซ้ำท่านเลยชักดาบฟันไอ้คนนั้นจนขาดสะพายแล่ง
1
พักรบไม่กี่วัน พระนเรศก็นำทัพเรือยกไปตีทัพพระมหาอุปราชา ซึ่งอยู่ที่ขนอนบางตะนาว (อยู่อยุธยา) แตกพ่าย จนพระมหาอุปราชาต้องถอยทัพออกไปตั้งอยู่ที่บางกระดาน (อยู่ตราด ถอยไปไกลมาก) ดังนั้นจะเห็นว่าทัพพม่าแทนที่จะรุกคืบเข้ามาใกล้อยุธยาได้เรื่อยๆ กลับต้องถอยห่างออกไปกว่าเดิม
กองทัพพม่าล้อมอยุธยามาได้ 5 เดือนแล้วยังตีอยุธยาไม่ได้สักที แถมยิ่งรบก็ยิ่งต้องถอยไกลจากอยุธยาออกไปเรื่อยๆ ไพร่พลประสบปัญหาทั้งอาหารการกินไม่พอ เจ็บป่วยล้มตายไปก็มาก แถมจวนเข้าฤดูฝน เดี๋ยวน้ำมาอีก พระเจ้านันทบุเรงเลยถอดใจ ถอยกลับหงสาไปก่อนดีกว่า (ฝากไว้ก่อนเหอะตองเจ คงคิดแบบนี้) พระนเรศไม่ยอม ตามมารุกไล่พม่าทันที ดูแนวถอยของพม่ามีแม่น้ำใกล้ๆ ท่านจัดทัพเรือบรรทุกปืนใหญ่ ไล่ตามยิงทัพพม่า พม่าถอยอยู่บนบก ไทยยิงขึ้นมาจากแม่น้ำ
1
ทัพพม่าถอยร่นไม่เป็นขบวนเพราะไทยยิงปืนใหญ่ใส่ไม่หยุด พม่ายิ่งถอยไทยยิ่งได้ใจไล่ตามขยี้สาดกระสุนใส่ไม่ยั้ง กะตีให้ทัพพม่าแตกให้ได้ แต่ด้วยกำลังของไพร่พลของทัพพม่าก็ยังเหลืออีกมาก และเห็นว่าพม่าถอยไปขนาดนี้คงทำอะไรอยุธยาไม่ได้แล้ว พระนเรศจึงเลิกทัพกลับอยุธยา
1
หลังเสร็จศึกนี้พระเจ้านันทบุเรงก็ไม่ได้ยกทัพมารุกรานอยุธยาอีก ไทยว่างศึกพม่าไปถึง 3 ปี เรื่องนี้ก็เป็นช่องโหว่ทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง คือไม่มีใครบันทึกว่าพระเจ้านันทบุเรงหายไปไหนทำไมจู่ๆก็ไม่มาโซ้ยกับไทย (นักวิชาการนี่ขี้สงสัยจริงๆ เค้าไม่มาก็ดีแล้ว ดันสงสัยอีกว่าทำไมไม่มา) จริงอยู่ที่ว่าทัพพม่าสูญเสียไพร่พลไปมาก แต่ก็ไม่น่าจะถึงขนาดต้องพักทัพไปถึง 3 ปี มีผู้สันนิษฐานว่าตอนที่ทัพเรือของพระนเรศระดมยิงทัพหงสาอย่างหนักนั้น พระเจ้านันทบุเรงน่าจะได้รับบาดเจ็บหนักพอสมควรจนต้องพักฟื้นยาว
และถัดจากการรบครั้งนี้แล้วศึกกับพม่าอีก 2 ครั้งที่เหลือท่านก็ให้พระมหาอุปราชานำทัพมา พระเจ้านันทบุเรงไม่ได้ออกมารบเองอีกเลย ยิ่งทำให้ข้อสันนิษฐานเรื่องอาการบาดเจ็บจนมี disability ดูมีน้ำหนักมากขึ้น ท่านมุ้ยก็เลยเขียนพล็อตให้กระสุนปืนจากฝ่ายไทยไปยิงโดนที่ประทับของพระเจ้านันทบุเรงแล้วเกิดไฟไหม้ ท่านโดนไฟคลอกจนบาดเจ็บสาหัส จนเสียโฉมแล้วต้องใส่หน้ากากแบบที่เราเห็นในหนังไงครับ
1
ขอย้ำว่านี่คือเรื่องแต่งจากจินตนาการของท่านมุ้ยล้วนๆ เพราะเอาตามหลักฐานข้อมูลที่มีอยู่จริงก็ไม่มีใครรู้ว่าทำไมทัพพม่าอยู่ดีๆก็หายไปเลย 3 ปี และนันทบุเรงก็ไม่ได้ใส่หน้ากากเป็นตุ๊กตาพม่าแบบนี้
ไว้ต่อคราวหน้านะครับ จวนจบแล้ว (จริงๆ ไม่หลอก)
#ซอกหลืบประวัติศาสตร์อยุธยา
#พระมหาธรรมราชา
ภาพประกอบที่ 1 : โตมร (อ่านว่าโตมอน หรือโตมะระ ก็ได้) ฝรั่งเรียก Lance
ภาพประกอบที่ 2 : ลูกศรสีขาวคือดั้ง สีน้ำเงินคือโล่ สีแดงคือเขน
ภาพประกอบที่ 3 : ฉนาง หรือ ชนาง
ภาพประกอบที่ 4 : สังหารลักไวทำมู (เอามาจากไหนจำไม่ได้โหลดมานานแล้ว ไว้เดี๋ยวถ้าหาเจอที่มาจะใส่ไว้ให้นะครับ)
โฆษณา