23 ส.ค. 2022 เวลา 09:53 • ประวัติศาสตร์
**พระมหาธรรมราชา : ผู้ร้ายตลอดกาลแห่งหน้าประวัติศาสตร์ไทย ??** (ตอนที่ 11)
ช่วงที่กองทัพพระเจ้านันทบุเรงมาล้อมอยุธยา นักพระสัตถา (หรือที่รู้จักกันดีในชื่อพระยาละแวก) เจ้าเมืองเขมร ซึ่งเคยมาขออ่อนน้อมต่ออยุธยา คาดการณ์ว่าศึกครั้งนี้ไทยคงจะไม่รอดเพราะพม่าจัดมาชุดใหญ่คอมโบ้เซ็ต จึงแต่งทัพมาตีเมืองปราจีนบุรี ซึ่งเป็นเมืองชายแดนไทย-เขมร ขณะนั้นชาวเมืองปราจีนบุรีก็ถูกเกณฑ์มารักษากรุง จึงไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้ป้องกันเมือง
อันที่จริงพระยาละแวกก็ต้องการเลิกสวามิภักดิ์ต่ออยุธยาอยู่แล้ว เนื่องจากศึกครั้งที่พระยาพะสิมมากับพระเจ้าเชียงใหม่นั้น พระยาละแวกได้ส่งน้องชายคือพระศรีสุพรรณคุมทัพเขมรมาช่วยอยุธยารบ แต่พระศรีสุพรรณคงเขม่นพระนเรศเป็นทุนเดิม เลยออกแนวตีรวน พระนเรศก็พยายามข่มใจกลัวจะเสียความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและเขมร แต่พระศรีสุพรรณแทนที่จะรู้ตัวกลับเป็นหนักกว่าเดิม เค้ารบกันกับทัพพระเจ้าเชียงใหม่อย่างดุเดือดตัวเองก็ไม่เอาทัพเขมรออกไปช่วยรบ
มิหนำซ้ำตอนทัพพระเจ้าเชียงใหม่ถอยกลับไปอย่างรีบร้อนนั้นได้ทิ้งข้าวของมีค่าต่างๆไว้เยอะแยะ
พระศรีสุพรรณก็ถือโอกาสจิ๊ก (คงเอาไปแบบเปิดเผยแหละครับ แต่ใช้คำว่าจิ๊กน่าจะเหมาะสมกว่า) ส่งกลับไปเป็นบรรณาการแก่พี่ชายตัวเอง แต่สิ่งที่ทำให้พระนเรศทนไม่ไหวที่สุดคือ มีครั้งหนึ่งที่เรือพระที่นั่งของพระนเรศผ่านค่ายของพระศรีสุพรรณ พระศรีสุพรรณกลับนั่งเต๊ะท่าไม่แสดงความเคารพพระนเรศ ซึ่งเป็นการเสียมารยาทมากเพราะตัวเองเป็นเจ้าของประเทศราชซึ่งมาสวามิภักดิ์อยุธยา พระนเรศย่อมมีศักดิ์ศรีเหนือกว่า
พระนเรศพยายามอดกลั้นมานานแล้ว ครั้งนี้มันเหลืออดจริงๆ เลยสั่งให้ทหารตัดหัวเชลยชาวล้านช้างที่จับมาด้วย แล้วเอาไปเสียบประจานหน้าค่ายของพระศรีสุพรรณ (ล้านช้างกับล้านนาเขาเป็นพันธมิตรกันอยู่แล้ว ดังนั้นไม่แปลกที่จะมีทหารล้านช้างมาช่วยทัพล้านนาของพระเจ้าเชียงใหม่รบ แต่ซวยมาก โดนตัดหัวเรียบทั้งที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร ไทยเขม่นเขมร ดันมาตัดหัวลาว)
พระศรีสุพรรณเจอไม้เด็ดนี้เข้าไปตกใจขวัญหนีดีฝ่อแทบช็อคตอนกลับเข้าค่าย รีบยกทัพกลับเขมรไปด้วยความโกรธ พระยาละแวกเห็นท่าทางแปลกๆเลยถามว่าเกิดอะไรขึ้น พระศรีสุพรรณก็รีบฟ้องว่าอยุธยาไม่ให้เกียรติเลย พระนเรศมองชาวละแวกเป็นขี้ข้าตลอด ละแวกช่วยอยุธยารบอย่างสุดใจขาดดิ้น (ฮั่นแน่ จริงอ่ะ) แต่พระนเรศไม่สำนึกถึงบุญคุณเลย แถมยังตัดหัวเชลยมาเสียบประจานเยาะเย้ยหน้าค่ายของเราอีก
พระยาละแวกฟังน้องชายใส่ไฟ (และใส่สีตีไข่) แล้วก็ของขึ้นสิครับ ประกาศก้องท้องพระโรงว่า อยุธยาทำแบบนี้ไม่ให้เกียรติชาวละแวกเราเลย นับแต่นี้ต่อไปอยุธยาและละแวกจะไม่เป็นสุวรรณปฐพีเดียวกันอีก ดังนั้นเมื่อเห็นอยุธยากำลังเจอศึกใหญ่จากพม่า พระยาละแวกจึงไม่รีรอที่จะมาตลบหลังทันที
ย้อนกลับไปด้านบนนะครับที่กำลังเล่าค้างเรื่องเขมรยกมาตีปราจีนบุรี (โม้เพลินไปหน่อย) เขมรสามารถยึดปราจีนบุรีได้อย่างง่ายดายเพราะคนโดนเกณฑ์ไปช่วยรบในอยุธยาหมด แต่ก็ยึดปราจีนได้ไม่นานเพราะเมื่อเสร็จศึกพม่าแล้ว สมเด็จพระนเรศวรก็ให้พระยาศรีไสยณรงค์คุมกองทัพไปขับไล่เขมรออกไปได้สำเร็จ พอถึงฤดูแล้งในปีนั้น พระนเรศก็ยกกองทัพออกไปตีเขมร ตีได้เมืองพระตะบองและโพธิสัตว์ กะจัดการเขมรขั้นเด็ดขาด ถือโอกาสตอดนิดตอดหน่อยไทยมานานแล้ว
แต่พอเดินทัพเข้าไปในเมืองเขมร การส่งเสบียงอาหารทำได้ยากขึ้น ไพร่พลเริ่มขาดแคลนเสบียง และพระองค์ก็ยังไม่ไว้ใจทางพม่ากลัวว่าจะยกมาในช่วงนี้ เลยเลิกทัพกลับพระนคร
คาดว่าศึกที่ไทยยกทัพไปเขมรครั้งนี้พระนเรศเป็นผู้บัญชาการรบทั้งหมด เพราะพระมหาธรรมราชาขณะนั้นก็อายุมากแล้ว และต่อมาไม่นาน ก่อนที่พม่าโดยพระมหาอุปราชาจะยกทัพมาตีอยุธยาอีก (เป็นศึกที่ 4 ในสมัยพระเจ้านันทบุเรง) สมเด็จพระมหาธรรมราชา หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1 กษัตริย์ที่มีชีวิตโลดโผนและผ่านร้อนผ่านหนาวมากที่สุดองค์หนึ่งของอยุธยาก็สวรรคตอย่างสงบ ส่งต่อราชบัลลังก์เข้าสู่ยุคของพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังที่สุดของไทยระดับอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลคือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เป็นอันว่าผมได้เล่าเกี่ยวกับชีวิตของพระมหาธรรมราชาตั้งแต่ต้นจนจบแล้วนะครับ อาจไม่ละเอียดมากนักแต่คิดว่าเก็บประเด็นสำคัญได้ทั้งหมด คงพอเป็นข้อมูลในการพิจารณาได้ว่าท่านเป็นรัฐบุรุษหรือผู้ทุรยศ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเขียนในตอนที่ 12 ต่อไป โดยจะเป็นแนวบทวิเคราะห์จากที่เล่ามาทั้งหมด โปรดติดตาม (นะๆๆๆๆ)
เพิ่มเติม : เหตุผลที่เรียกเจ้าครองเขมรว่าพระยาละแวก เพราะอาณาจักรเขมรมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองละแวก ปัจจุบันคืออำเภอกำปงตระลาจ จังหวัดกำปงชนัง
#ซอกหลืบประวัติศาสตร์อยุธยา
#พระมหาธรรมราชา
ภาพประกอบที่ 1 : แผนที่เขมร ลองดูสิครับอีกนิดเดียวทัพพระนเรศก็ถึงละแวกแล้ว แต่ท่านตัดสินใจเลิกทัพกลับไปก่อน
ภาพประกอบที่ 2 : พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่เรียบเรียงขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อหาเริ่มต้นตั้งแต่สถาปนากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยามาจนกระทั่งกรุงแตกสิ้นสมัยอยุธยา ผมใช้เล่มนี้เป็นหลักครับ ร่วมกับฟังอ.สุเนตร
โฆษณา