24 ส.ค. 2022 เวลา 00:03 • ความคิดเห็น
เร็ว ช้า หนัก เบา
สมัยที่ผมทำงานเป็นลูกน้องคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมที่แกรมมี่ คุณไพบูลย์จะพูดถึงคำสี่คำนี้บ่อยมากเวลาครุ่นคิดหรือบอกว่าจังหวะไหนควรเคลื่อนอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ คุณไพบูลย์บอกว่าได้ยินคำสอนนี้มาจากนายห้างเทียม โชควัฒนา สุดยอดนักการตลาดแห่งสหพัฒน์ ซึ่งเคยเป็นเจ้านายคุณไพบูลย์อีกทีหนึ่ง เป็นสี่คำที่ผมได้รับอิทธิพลมาใช้ในการคิดอยู่บ่อยครั้ง
ผมได้มีโอกาสอ่านถึงที่มาของสี่คำนี้แบบละเอียดในหนังสือ 100 ปี ดร. เทียม โชควัฒนา 100 ปรัชญาคุณธรรม ที่เป็นหนังสือเล่าประวัติและแนวคิดของนายห้างเทียมไว้อย่างสนุกมาก พอเห็นสี่คำนี้ในหนังสืออีกครั้งก็เลยอยากจะเอามาเล่าสู่กันฟัง
สี่คำนี้นายห้างเทียมก็ได้รับการสอนมาจากการเรียนภาคกลางคืนที่โรงเรียนอึ้งฮุ้นในสมัยนั้น ที่ต้องเรียนภาคกลางคืนเพราะกลางวันต้องช่วยพ่อทำงาน ในหนังสือเขียนไว้ว่า
1
“ คุณครูท่านได้สอนหลักการสำคัญในการทำงาน และในการดำเนินชีวิตซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าอย่างสูงในระยะต่อมาของชีวิต
2
ท่านสอนว่าในการทำงานแต่ละอย่าง ไม่ว่างานนั้นๆจะมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ก่อนลงมือทำจะต้องคิดพิจารณาและคำนึงถึงหลัก 4 ประการคือ
  • ประการที่หนึ่ง งานนั้นจะสามารถทำให้สำเร็จลุล่วงไปภายในเวลาอันรวด “เร็ว” ได้หรือไม่ งานบางอย่างเป็นงานที่รีรอช้าไม่ได้ ต้องรีบทำเหมือนกับสุภาษิตที่ว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก ต้องตัดสินใจเร็ว แก้ไขเร็ว ทำให้จบเร็ว ไม่เช่นนั้นปัญหาที่มีอยู่อาจลุกลามไปใหญ่โตกว้างขวางหรือโอกาสที่มีอยู่อาจสูญเสียไป
1
  • ประการที่สอง งานนั้นถ้าทำแล้วจะเสร็จ “ช้า” นานเวลาใด งานบางอย่างเป็นงานที่ผลีผลามใจร้อนไม่ได้ก็ไม่ควรจะรีบร้อน ต้องใช้เวลาในการแก้ไขพิจารณาอย่างรอบคอบ ค่อยเป็นค่อยไป จะได้ไม่ผิดพลาดบกพร่อง
2
  • ประการที่สาม งานนั้นเป็นงานที่ “หนัก” หรือไม่ งานบางอย่างถ้าจะทำแล้วต้องโหมหนักเอาจริงเอาจังเพราะมีการแข่งขันสูง อาจจำเป็นต้องต่อสู้อย่างรุนแรง นี่คือสิ่งที่ต้องทำอย่างหนักหน่วง
1
  • ประการที่สี่ งานนั้นเป็นงานที่ “เบา” หรือไม่ งานบางอย่างบางเวลาจะโหมเลยทันทีไม่ได้ ที่เคยทำหนักอาจต้องผ่อนลงมา เพราะถ้าทุ่มเทเกินไปก็เสียเวลาและไม่ได้ประโยชน์ งานอย่างนี้ก็ต้องทุ่มเทแต่พอควร
1
จะว่าไปแล้ว หลักการนี้ นักเรียนสามารถจดจำง่ายๆสั้นๆเพียง เร็ว-ช้า-หนัก-เบา “
1
คำสี่คำนี้มีประโยชน์กับคนทำงานมากที่จะควรจะคิดถึงจังหวะที่ดีที่สุดในสี่ข้อนี้ในการบริหารจัดการปัญหาหรืองานที่ได้รับมอบหมาย เพราะถ้าผลีผลามบุกไปทำเลยแล้ว เราก็มักจะใช้ท่าถนัดของเราในการทำงานนั้นๆ เช่นผมเป็นคนใจร้อนก็มักจะทำอะไรเร็วๆ ซึ่งบางงานทำเร็วไปก็จะเสียการหรือไม่ได้ผลเต็มที่ก็มี หรือบางคนถนัดคิดมากแต่งานบางงานต้องลุยเลย ถ้ามัวแต่เสียเวลาวางแผนก็ทำให้เพลี่ยงพล้ำได้
1
การเอาสี่คำนี้มาคิดก่อนทำอะไรนั้นทำให้เราได้ทบทวนถึงผลที่อยากให้สำเร็จของงาน แทนที่จะคิดว่าทำเสร็จเพียงอย่างเดียว แล้วทำให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ต่องานนั้นๆโดยที่ไม่ถูกอารมณ์ครอบงำได้อีกด้วย คาถาสี่คำนี้จึงเป็นเหมือนเครื่องกรองชั้นหนึ่งระหว่างเป้าหมายของงานกับอารมณ์และท่าถนัดส่วนตัวให้สอดคล้องกันขึ้นได้เป็นอย่างดี แม้แต่เรื่องครอบครัว เรื่องการเลี้ยงลูก ฯลฯ ก็เป็นคาถาที่ช่วยกรองสติที่ได้ผลที่ควรมีไว้เป็นยาสามัญประจำหัวกันทุกคน...
2
เร็ว – ช้า — หนัก – เบา ครับ..
โฆษณา