24 ส.ค. 2022 เวลา 00:00 • การเมือง
8 ปี "ประยุทธ์" กับดักประเทศ | #บทบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ
8 ปี "ประยุทธ์" กับดักประเทศ
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ตามที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นหนังสือ เพื่อให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง
เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลา เกินกว่า 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่
ขณะเดียวกันคำร้องดังกล่าวยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเพื่อไม่ให้นายกฯ ใช้อำนาจที่เป็นคุณเป็นโทษได้ ซึ่งคาดกันว่าในวันนี้ 24 สิงหาคม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ และหากรับแล้วจะมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ทั้งนี้ปมการตีความการดำรงตำแหน่ง 8 ปี นำมาซึ่งความเสี่ยง ที่ไม่เฉพาะตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ เองเท่านั้น แต่นำมาซึ่งเป็นความเสี่ยงของประเทศ ที่ต้องเผชิญกับดักที่สำคัญอีกครั้ง
ประการแรก เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ จากกลุ่มที่คิดต่าง เพราะถึงตอนนี้ มีม็อบเกิดขึ้นจำนวนมาก กดดันให้นายกรัฐมนตรี แสดงจุดยืนยุติบทบาท เพราะมองว่าในเชิงประจักษ์ความจริงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี เรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่รอศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย เป็นการตีความทางนิติศาสตร์ ซึ่งผลออกมาอาจจะไม่สอดคล้องกับความรู้สึก
2
ดังนั้นความจริงเชิงประจักษ์ กับ ข้อเท็จจริงทางกฎหมาย จึงเป็นความขัดแย้งกันโดยตรงที่สุ่มเสี่ยงเกิดกับดักความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่ได้ และครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง เพราะต้องอย่าลืมการอ้างความชอบในการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คือเข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง
ขณะเดียวกันผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ทำให้พรรคพลังประชารัฐและ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง เพราะประชาชนไม่อยากเห็นความขัดแย้งและหวังประเทศสงบ เพื่อจะนิ่งพอจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
2
ขณะเดียวกัน ความไม่ชัดเจนในอำนาจนายกรัฐมนตรีว่าจะไปอย่างไรต่อ บวกกับความขัดแย้งรอบใหม่ สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อทิศทางการลงทุน ประเทศสุ่มเสี่ยงจะหยุดนิ่ง ขณะที่เพื่อนบ้านทะยานไปข้างหน้า เพราะต้องอย่าลืมว่าในช่วง 3 ปีที่ทั้งโลกเผชิญโควิดนั้น เศรษฐกิจชะลอตัวกันทั่วหน้ารวมถึงประเทศไทย
ดังนั้นเมื่อโควิดคลี่คลายลง ประเทศไหนจะฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้นอยู่กับว่าใครพร้อมมากกว่า และช่วงเวลานี้เหมาะสมอย่างยิ่งที่ต้องทำตัวเองให้แข็งแกร่งและพร้อมที่สุด แต่เมื่อหันกลับมาดูประเทศไทย กลับเผชิญความเสี่ยงใหม่ จากปมการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี กับดักที่น่าวิตก ที่เราทุกคนต้องเร่งปลดพันธะ เพื่อให้ประเทศพร้อมสำหรับอนาคต
โฆษณา