24 ส.ค. 2022 เวลา 10:17 • ประวัติศาสตร์
**พระมหาธรรมราชา : ผู้ร้ายตลอดกาลแห่งหน้าประวัติศาสตร์ไทย ??** (ตอนที่ 12)
ตั้งแต่นี้ไปจะยกประเด็นต่างๆที่ประวัติศาสตร์โจมตีพระมหาธรรมราชา และบางเรื่องที่คิดว่าน่าจะพูดถึง
1. ท่านไปเข้าข้างพม่าในสงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106
จากที่เล่ามาจะเห็นว่าทัพพม่ามามหาศาลและท่านไม่ได้กำลังจากอยุธยาขึ้นมาช่วย ร่วมกับบางหลักฐานบอกว่าหลังศึกตะเบ็งชะเวตี้ที่ไทยเสียพระสุริโยทัยไป พระมหาจักรพรรดิเสียใจมากเลยออกบวชและตั้งพระมหินทร์ขึ้นว่าราชการแทน (แต่สาเหตุหนึ่งที่ท่านผลักดันให้พระมหินทร์มีบทบาทมากขึ้นเพราะว่าพระมหาจักรพรรดิท่านแทบไม่มีขุมกำลังอะไรของท่านเลย ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ได้ก็เพราะขุนพิเรนทรเทพทำปฏิวัติยึดอำนาจมาให้ ท่านก็ต้องการสร้างคนของท่านขึ้นมาเองบ้าง คล้ายกับเป็นกลุ่ม young turks )
พระมหินทร์ก็เริ่มมี power มากขึ้น และเริ่มมี conflict กับพระมหาธรรมราชา คงเพราะพระมหาธรรมราชาถือว่าท่านอาวุโสกว่าพระมหินทร์ ประสบการณ์ทั้งบู๊และบุ๋นต่างๆ มากกว่าด้วยประการทั้งปวง แต่ดันเป็นแค่เจ้าหัวเมืองเหนือในขณะที่คนที่เด็กกว่ามาคุมอยู่อยุธยา
ดังนั้นด้วยเหตุผลทั้งเรื่องกำลังพลในสงคราม, ความไม่พอใจส่วนตัว, และการประเมินสถานการณ์จากที่เห็นกันอยู่ว่า ทัพพม่าของบุเรงนองจะจัดการกับฝ่ายตรงข้ามรุนแรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของฝ่ายนั้น ถ้าขัดขืนไม่ยอมโดยง่ายพม่าจะฆ่าล้างครัวอย่างเหี้ยมโหด แต่ถ้าไม่ขัดคืนพม่าจะไว้ชีวิตเอาไว้และจะเทครัวเอามาเพื่อเป็นไพร่พลสมทบกับทัพพม่า ท่านประเมินผลได้เสีย ความปลอดภัยในชีวิตของครอบครัวท่าน และมองการณ์ไกลถึงอนาคตของพม่าในยุคบุเรงนอง เทียบกับอนาคตของอยุธยาในมือพระมหินทร์ การเข้าสวามิภักดิ์พม่าน่าจะดีกว่า
*ถ้าเป็นเรา เราจะทำแบบท่านไหม? หรือว่าจะสู้จนตาย?*
2. การแจ้งข่าวไปยังบุเรงนองให้มาชิงตัวพระเทพกษัตรี
ประเด็นนี้ผมพยายามทำใจกลางๆและคิดหลายรอบ ไม่ว่าจะคิดกี่ครั้งๆ ก่อนนึกออกเหตุผลเดียวคือพระมหาธรรมราชาทำเพื่อเอาใจบุเรงนองและรักษาผลประโยชน์ของหงสาวดี ป้องกันไม่ให้อยุธยามีพันธมิตร (จริงๆเรื่องนี้น่าเห็นใจพระไชยเชษฐามากนะครับ เพราะเดิมท่านก็มีมเหสี มีชายา มีลูกเหมือนเจ้าทั่วไป แต่ครอบครัวมาแตกกระสานซ่านเซ็นตอนท่านหนีบุเรงนองจากหลวงพระบางมาอยู่ที่เวียงจันทน์ เป็นการหนีที่รีบด่วนมากจนขนลูกเมียไปด้วยไม่ทัน รอดมาคนเดียว ที่เหลือโดนต้อนกลับไปหงสาหมด ท่านก็หวังจะได้พระเทพกษัตรีมาเป็นมเหสี ก็แห้วอีก)
2
พระมหาธรรมราชาคงต้องการทำทุกอย่างเพื่อซื้อใจพระเจ้าบุเรงนอง เพราะตัวท่านคงไม่ได้หวังเป็นแค่กษัตริย์หัวเมืองเหนือแน่ๆ เหตุการณ์มาถึงขนาดนี้แล้วท่านคงหวังไปถึงตำแหน่งสูงสุดคือกษัตริย์ครองอยุธยา ซึ่งผู้จะส่งได้ถึงฝั่งก็คือพระเจ้าบุเรงนอง และท่านก็คงมั่นใจว่าจะปกครองอยุธยาได้ดีกว่าพระมหินทร์ (โดยมีบุเรงนอง support)
3. ร่วมมือกับพม่าจนทำให้อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1
พม่าอาศัยคนไทย 3 คนเป็นหลักในการเป็นที่ปรึกษาเรื่องข้อมูล คือ 1️⃣ พระมหาธรรมราชาเพราะท่านรู้เรื่องราวต่างๆภายในอยุธยาเป็นอย่างดี และคอยวางแผนต่างๆ 2️⃣ พระยาจักรีเป็นไส้ศึกและดำเนินการภายในอยุธยาและ 3️⃣ พระวิสุทธิกษัตรีที่น่าจะคอยให้ข้อมูลลับและให้ความช่วยเหลือในบางครั้ง ยกตัวอย่างเช่นตอนที่พม่าขาดดินปืนท่านก็แอบส่งออกไปให้ (ผมเคยเล่าไว้แล้วนะครับในตอนพระวิสุทธิกษัตรี) ในหนังนเรศวรเรียกว่า อุปนิกขิต แปลว่าคนสอดแนม หรือจารชน
1
สำหรับพระวิสุทธิกษัตรีนั้นสมัยที่พระมหาจักรพรรดิยังอยู่ท่านก็คงยังสองจิตสองใจ ว่าจะเอายังไงดีเพราะต้องเลือกระหว่างผัวและพ่อ
แต่พอสิ้นพระมหาจักรพรรดิ พระมหินทร์ขึ้นครองราชย์ ท่านก็คงตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะนี่แค่พี่ ไม่ใช่พ่อ
(ไม่รู้ว่าจริงแล้วใครเป็นพี่เป็นน้องแน่นะครับ ระหว่างพระวิสุทธิกษัตรีกับพระมหินทร์ หลักฐานหลายแห่งไม่ตรงกัน)
ยิ่งพระมหาธรรมราชาและพระมหินทร์ก็ไม่ใคร่ถูกกันอยู่แล้วด้วย ความไม่พอใจของพระมหินทร์ที่มีต่อพระมหาธรรมราชานับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในพงศาวดารระบุชัดเจนเลยว่าพระมหาธรรมราชามีบัญชาอะไรลงมาจากพิษณุโลก พระมหินทร์ก็ต้องทำตาม ขอ quote มาให้ดูตามสำนวนเลยนะครับ
"ครั้งนั้น เมืองเหนือทั้งปวงเปนสิทธิ์แก่พระมหาธรรมราชาเจ้า อนึ่ง การแผ่นดินในกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา พระมหาธรรมราชาบังคับบัญชาลงมาประการใด สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินต้องกระทำตามทุกประการ ก็ขุ่นเคืองพระราชหฤไทย"
ดังนี้แล้ว อยุธยาตอนนั้นกษัตริย์ตัวจริงน่าจะคือกษัตริย์พิษณุโลกมากกว่า สั่งอะไรลงมาพระมหินทร์ก็ต้องทำตาม เท่ากับว่าพระมหินทร์นี่เป็นกษัตริย์อยุธยาแค่ในนาม ก็คงอัดอั้นตันใจมาก ในเมื่อความขัดแย้งมันมีมากขนาดนี้สักวันก็ต้องระเบิดออกมาอยู่ดีถึงแม้จะไม่มีพม่ามาเกี่ยวข้อง
และเมื่อมีบุเรงนองเข้ามาพระมหาธรรมราชาท่านก็คงคิดว่ามันเป็นโอกาสทองของท่านแล้วที่จะให้บุเรงนองสนับสนุนเพื่อส่งให้ถึงดวงดาว และท่านก็เหมาะสมกว่าพระมหินทร์ (และอาจจะรวมถึงพระมหาจักรพรรดิ) ด้วยประการทั้งปวงที่จะเป็นกษัตริย์อยุธยา ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะว่าในสมัยนั้นผู้ที่มีความสามารถและมีขุมกำลังอยู่ในมือเท่านั้นจึงจะคู่ควรต่อราชบัลลังก์
4. ข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดคือทรยศต่อชาติบ้านเมืองของตน
ประเด็นนี้ถ้าจะให้ยุติธรรมต้องนึกถึงสถานการณ์และค่านิยมในช่วงเวลานั้นด้วย (คำหรูที่นักวิชาการชอบใช้คือบริบท) ถ้าเราใช้ค่านิยมสมัยปัจจุบันก็แน่นอนว่าท่านทรยศต่อชาติบ้านเมืองชัดเจน
แต่ถ้าย้อนกลับไปดูในสมัยที่พระมหาธรรมราชามีชีวิตอยู่ ตอนนั้นยังไม่มีคำว่า "ประเทศไทย" หรือ "ประเทศสยาม" นะครับ ไม่มีความรู้สึกที่ว่าพิษณุโลกและอยุธยาคือแผ่นดินเดียวกัน ไม่มีความรู้สึกที่ว่าเป็นคนไทยเหมือนกันแบบที่คนเชียงใหม่ คนพิษณุโลก คนกรุงเทพ คนนครศรีธรรมราช รู้สึกกันแบบในปัจจุบันนี้ คำว่าสยามเป็นชื่อเรียกดินแดนและกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ และกลายมาเป็นชื่ออย่างเป็นทางการตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา (และมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ไทย" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482)
เหตุผลที่ใช้ชื่อสยามเพราะใช้ในการทำสนธิสัญญากับต่างชาติซึ่งชาติตะวันตกนั้นมีความเป็น "ประเทศ" ส่วนอาณาจักรสยามประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ พระมหากษัตริย์ไทยจึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า ประเทศสยามเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนและเพื่อให้มีความรู้สึกเป็นประเทศเหมือนธรรมเนียมตะวันตก
แต่ในสมัยของพระมหาธรรมราชานั้นท่านมีแค่อาณาจักรล้านนา (เชียงใหม่และจังหวัดทางเหนือ) หัวเมืองพิษณุโลก อยุธยา ศรีธรรมาโศกราช ต่างคนต่างอยู่เป็นเอกเทศไม่เกี่ยวข้องกัน ยกเว้นจะมี connection ขึ้นมา เช่นน้องสาวเมืองนั้นไปแต่งงานกับเมืองนี้ เมืองนี้ยกลูกสาวให้เมืองโน้น อันนี้เป็นความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ส่วนความสัมพันธ์อีกแบบนึงนั้นขึ้นกับความมีอำนาจ อาณาจักรไหนมีอำนาจเพิ่มขึ้นก็ไม่แปลกที่อาณาจักรอื่นหรือหัวเมืองเล็กๆจะหันไปสวามิภักดิ์
เช่นสมัยก่อนหัวเมืองพิษณุโลกสวามิภักดิ์ต่ออยุธยามาตลอด แต่พอบุเรงนองขึ้นมาเป็นใหญ่และแสดงให้เห็นว่ามีแสนยานุภาพมากกว่าพระมหาจักรพรรดิ ก็ไม่แปลกที่พิษณุโลกจะหันไปซบหงสาวดีและทิ้งอยุธยา
ดังนั้นสมมุติว่าถ้าพระมหาธรรมราชายืนต่อหน้าเราตอนนี้ แล้วเรายกมือชี้หน้าด่าท่านว่า "ท่านน่ะ ทรยศขายชาติ !!" รับรองท่านจะอึ้งแน่นอน ไม่ใช่อึ้งเพราะเสียใจที่โดนด่านะครับ แต่เพราะความงงว่า มึงด่าอะไรกูวะ ไม่เห็นเข้าใจเลย เพราะท่านไม่เคยรู้สึกถึงความเป็นชาติแบบที่พวกเรารู้สึกกัน
ต่อมาเมื่อท่านขึ้นมาเป็นกษัตริย์อยุธยาผมว่าส่วนลึกในใจท่านก็คงอยากประกาศเอกราชแหละ เพราะสิ่งแรกที่ทำเลยคือบูรณะกำแพงขุดขยายคูคลองรอบเมือง และเมื่อพระนเรศวรตัดสินใจประกาศเอกราชท่านก็พูดมาทำนองที่ว่า "พ่อเป็นกษัตริย์ การประกาศเอกราชเป็นหน้าที่ของพ่อ สิ่งที่เจ้าทำมันเร็วเกินไป อยุธยายังไม่พร้อมรบกับศึกใหญ่จากหงสา" ผมไม่ได้ quote คำพูดมาเป๊ะแต่มันเป็นทำนองนี้
และเมื่อมีศึกหงสามาท่านก็ทำหน้าที่เสนาธิการหลัก
ใช้ทั้งประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ เข้าช่วยวางแผนและให้คำปรึกษาแก่พระนเรศอย่างเต็มที่จนอยุธยาไม่เพลี่ยงพล้ำต่อพม่าเลย รวมถึงศึกใหญ่ที่สุดในชีวิตและเป็นศึกสุดท้ายของท่านก็คือศึกพระเจ้านันทบุเรงที่ยกทัพมามหาศาลอย่างที่เล่าให้ฟังแล้ว แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไป ด้วยการวางแผนการศึกที่เยี่ยมยอดของพระมหาธรรมราชา และแม่ทัพที่เก่งกาจดุเดือดเลือดพล่านอย่างพระนเรศวร
ดังนั้น จากทั้งหมดนี้ คิดว่าพระมหาธรรมราชาคู่ควรกับตำแหน่งรัฐบุรุษแห่งอยุธยาไหมครับ ?
จบบริบูรณ์
#ซอกหลืบประวัติศาสตร์อยุธยา
#พระมหาธรรมราชา
โฆษณา