25 ส.ค. 2022 เวลา 00:59 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คิดยังไงว่า เราจะซื้อ SSF ได้เท่าไหร่??
การลงทุนในกองทุนประหยัดภาษี SSF สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้ SSF จะมีเพดานที่สามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งไม่ควรซื้อเกินเพดานที่ซื้อได้ เพราะส่วนที่ซื้อเกินไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และส่วนที่ซื้อเกินนั้น เมื่อขายแล้วได้กำไรต้องนำส่วนต่างกำไรมายื่นภาษี ถึงแม้ส่วนที่ซื้อเกินนั้นจะถือจนครบกำหนดขายได้ก็ตาม
ดังนั้นซื้อน้อยกว่าได้ แต่ไม่ควรซื้อเกินสิทธิ
จะเห็นว่า เงินลงทุนใน SSF สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บ. แล้วแต่จำนวนไหนต่ำกว่า
เงินได้ที่ต้องเสียภาษี บางคนไม่แน่ใจว่า หมายถึงรายได้ตรงไหน หมายถึงรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย หรือเงินได้สุทธิก่อนที่มาเข้าคิดอัตราภาษีรึป่าว หรือรายได้อะไร
ลองมาดูตัวอย่างกัน
มนุษย์เงินเดือน โสด มีเงินเดือน 40,000 บ. รายได้เงินเดือนทั้งปี 480,000 บ.
มีหักเงินประกันสังคม 7,200 บ. (ทั้งปี 65 นี้)
มีหักเงินสะสมเข้า PVD ที่ที่ทำงานมีสวัสดิการให้ เดือนละ 10% ของเงินเดือน คือ เดือนละ 4,000 บ. ทั้งปีก็เท่ากับ 48,000 บ.
มีรายได้อื่นๆ ของปี 65 คือ
- ปีนี้มีการขาย LTF เดิมที่ครบกำหนด ที่ทำตามเงื่อนไขอย่างถูกต้อง ได้เงินทั้งหมด 100,000 บ. เป็นต้นทุนเดิมที่ซื้อ 80,000 บ. จึงเป็นส่วนต่างกำไร 20,000 บ.
- ได้เงินปันผลจากกองทุนจากทั้ง LTF และ SSF ที่ลงทุนรวม 40,000 บ. (แต่ตรงนี้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% เหลือเงินเข้าบัญชีจริงคือ 36,000 บ.)
เราใช้ตรงไหนมาคิดว่าซื้อ SSF ได้เท่าไหร่
เงินได้ที่ต้องเสียภาษี หมายถึงเงินได้ที่กฎหมายถือว่าเป็นเงินได้ที่ต้องนำมาเสียภาษี ดังนั้นดูในส่วนของรายได้ที่เข้ามาว่าเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี หรือเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ที่นำมาคิดตรงนี้ได้ก็จะเป็น
- เงินเดือนทั้งปี 600,000 บ. เป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี เป็นรายได้ตาม 40(1)
- เงินได้จากกำไรส่วนต่างจากการขาย LTF แบบถูกเงื่อนไข ได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้น รายได้ 30,000 บ. ตรงนี้นำมาคิดคำนวณเพื่อซื้อ SSF ไม่ได้
- รายได้จากเงินปันผล 40,000 บ. สามารถนำมารวมเพื่อซื้อ SSF ได้ เพราะเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เป็นรายได้ 40(4) โดยใช้ยอดก่อนหักภาษี ณ ที่จ่ายนะ
ดังนั้น เงินได้ที่ต้องเสียภาษี ที่จะมาคิดเพื่อซื้อ SSF ได้คือ 480,000 + 40,000 บ. เท่ากับ 520,000 บ.
เพดานของ SSF คือ ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บ. แล้วแต่จำนวนไหนต่ำกว่า
ซึ่ง 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีคือ 156,000 บ. (ซึ่งก็ไม่เกิน 200,000 บ.
ดังนั้นเราจะซื้อ SSF ได้สูงสุด 156,000 บ. ซื้อน้อยกว่านี้ก็ได้แล้วแต่เรา แต่ไม่ควรซื้อเกินนี้
ถ้าเราอยากได้ค่าลดหย่อนมากกว่านี้ ก็ต้องไปหาค่าลดหย่อนอื่นๆ มาเพิ่ม เพราะ SSF จะซื้อได้สูงสุดเท่านี้
และเมื่อนำ SSF มารวมกับ RMF/ PVD/กบข./ ประกันบำนาญ/ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช. แล้ว ลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บ. นะ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#กองทุนรวม
#ลดหย่อนภาษี
#วางแผนภาษี
#SSF
#กองทุนประหยหัดภาษี
#กองทุนรวมเพื่อการออม
#คิดภาษี
#ค่าลดหย่อน
โฆษณา