25 ส.ค. 2022 เวลา 09:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้จักกับ “หุ้น Laggard”
Image Credit: Pixabay
ณ สมมุติฐานที่ตลาดกระทิง (Bull Market) หากเรากำลังเปรียบเทียบหุ้นหลายๆ ตัวที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน จะมีหุ้นอยู่ส่วนหนึ่ง หรือส่วนใหญ่ที่มีการปรับราคาสูงขึ้นไปตามสภาวะ หรือปัจจัยของตลาด ณ เวลานั้น
แต่ในทางกลับกัน ก็จะมีหุ้นในอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ยึดติดอยู่กับทิศทางของกลุ่มอุตสาหกรรมเลย โดยอาจจะมีปัจจัยพื้นฐาน “อ่อนแอ” กว่าอยู่บ้าง เช่น ความสามารถในการทำธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการทำกำไร สถานะทางการเงิน หรือหุ้นที่ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) เป็นต้น
โดยหุ้นกลุ่มนี้มักจะขยับตัวแบบเชื่องช้า ซึมๆ หงอยๆ เหมือนไม่ค่อยจะสนใจอะไรสักเท่าไร ซึ่งนักลงทุนมักจะเรียกหุ้นกลุ่มนี้กันว่าหุ้น “Laggard”
Image Credit: Pixabay
โดยหากเรามองกันตามหลักจิตวิทยาการตลาดแล้วละก็...นักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าหุ้นกลุ่มนำตลาดมักจะได้รับผลประโยชน์ในการลงทุนมากกว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลง
และส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่มี Market Cap. (มูลค่าตามราคาตลาด) สูง มีความเคลื่อนไหวในการซื้อขายอยู่ตลอดเวลาในระดับ High-Volume หรือมีหุ้นให้เข้า-ออกกันได้ตลอดเวลา รวมถึงมีความปลอดภัยในการลงทุนมากกว่า
ส่วนหุ้น Laggard ที่กำลังจะพูดถึงนี้ มักจะเป็นหุ้นที่ได้รับความนิยมลำดับรองๆ ลงมา ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กและราคาถูกกว่า และส่วนมากจะค่อยๆ ปรับตัวตามกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ไปด้วยความนวยนาด เชื่องช้ากว่า หรืออาจจะเพราะนักลงทุนยังมองไม่เห็นหรือเป็นหุ้นที่ยังไม่ถูกค้นพบ ทำให้ราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นไป
โดยที่หุ้นตัวใหญ่ๆ ในหมวดเดียวกันราคาปรับขึ้นกันไปไกลแล้ว แต่หุ้น Laggard กลับเพิ่งขยับตัว (ช้าๆ) ตามมาไกลๆ
## แล้วหุ้นตัวไหนละคือ หุ้น Laggard? ##
1. หากเปรียบเทียบกับหุ้นกลุ่มนำตลาดแล้ว จะมีขนาดเล็กกว่า และราคาถูกกว่า
2. ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น “อ่อนแอ” กว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
3. เป็นหุ้นที่อยู่นอกสายตา ไม่ค่อยมีนักวิเคราะห์จัดทำบทวิเคราะห์
4. ขยับขึ้นไม่มากเทียบเท่ากับกลุ่มนำตลาด
5. พื้นฐานธุรกิจหลัก หรือ Core Business โตได้ตามปกติ แต่ไม่มี New Engine หรือ New S-Curve มาเสริมเสน่ห์หรือดึงความสนใจ
6. หรืออาจจะไม่ปรับตัวตามหุ้นกลุ่มนำตลาดเลย หรือกว่าจะปรับตัวตามก็หมดรอบไปแล้ว
Image Credit: Pixabay
## ยกตัวอย่าง ##
หุ้น A หุ้น B หุ้น C และหุ้น D ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานเหมือนกัน ซื้อขายในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ทั้ง 4 บริษัทมีคุณภาพด้านปัจจัยพื้นฐาน หรือการประเมินมูลค่า (Valuation) ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับการเติบโตของยอดขาย กำไรสุทธิ ความสามารถการแข่งขัน และนักวิเคราะห์ก็ได้ประเมินการดำเนินธุรกิจในเชิงบวกคล้ายๆ กัน
ทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นไปพร้อมๆ กัน เมื่อประกาศงบการเงินออกมา ทั้ง A, B, C และ D มีผลการดำเนินงานที่ดีในระดับใกล้เคียงสูสีกัน ราคาหุ้นทั้งหมดจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกัน ยกเว้นเพียงแค่หุ้น D ที่ราคาหุ้นกลับไม่ค่อยขยับไปไหนเลย
พฤติกรรมของหุ้น D แบบนี้จะถูกเรียกว่าเป็น หุ้น Laggard คือ หุ้นที่ราคายังไม่ปรับขึ้นตามหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งๆ ที่ปัจจัยพื้นฐานไม่มีความแตกต่างกัน
Image Credit: Pixabay
นอกจากปัจจัย 2-3 ข้อข้างต้นที่บอกความเป็น Laggard แล้ว ยังมีวิธีให้พิจารณากันอีกอย่างหลากหลาย เช่น การกรองหุ้น Laggard ผ่านสัญญาณทางเทคนิค ด้วยการเปรียบเทียบราคาหุ้นกับดัชนีของตลาด (SET Index) หรือดัชนี SET100 หรือดัชนี sSET
โดยหุ้นตัวไหนที่มีสัญญาณซื้อสูง เทคนิคสวย แต่ราคาขยับขึ้นต่ำกว่าดัชนีตลาดที่เราใช้ในการเทียบเคียง แสดงว่าเข้าข่ายเป็นหุ้น Laggard จากนั้นก็ทำการศึกษาข้อมูล และวิเคราะห์กันอีกทีก่อนตัดสินใจลงทุน
นอกจากนี้ อาจจะใช้วิธีการออกแบบธีม (Theme) หุ้น Laggard ที่กำหนดขึ้นมาเองได้ด้วยตัวเอง เช่น เลือกหุ้น Laggard ด้วยธีมอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ หุ้นปันผล หุ้นโครงการเมกกะโปรเจค หรือเลือกหุ้น Laggard ผ่าน SET50 หรือ SET100 ก็ย่อมได้
ตัวอย่างเช่น คัดกรองหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม SET50 หรือ SET100 ที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อในช่วง 1 เดือนหลังมาตรการผ่อนปรนจากสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น แต่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวต่ำกว่าตลาดอย่างน้อย 3% ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นต้น
Image Credit: Pixabay
เมื่อเรารู้จักหุ้น Laggard กันมากขึ้นแล้ว ก็น่าจะทำให้เราสามารถวางแผนปรับพอร์ตหุ้นของเราให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงในการทำกำไรได้อย่างสูงสุดตามระยะเวลา หรือประเภทของหุ้นตัวนั้นๆ อย่างเหมาะสม
ซึ่งโดยปกติแล้วหุ้น Laggard จะเหมาะกับการลงทุนในระยะสั้น ๆ เพื่อรับผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น (Capital Gain)
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะต้องทำการศึกษาข้อมูลของหุ้นตัวนั้นๆ และทำการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจซื้อขาย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะขาดทุนให้เหลือน้อยที่สุด
Reference:
- บล.เอเซียพลัส
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited
โฆษณา