4 เม.ย. 2023 เวลา 23:39 • สุขภาพ

Series: ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยา - ตอนที่ 9 กำเนิดยาปฏิชีวนะ

ครั้งที่แล้วได้เล่าถึงการผงาดขึ้นสู่อำนาจของ IG Farben กลุ่มบริษัทอันเกรียงไกรของเยอรมันที่มีพนักงานกว่าแสนคน และกลายเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของพรรคนาซีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น พรรคนาซีก็พาเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
หนึ่งในผลผลิตของ IG Farben ก็คือยาปฏิชีวนะ
เราต้องเข้าใจก่อนว่า ทหารที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนใหญ่ไม่ได้ตายเพราะอาวุธสงคราม หากแต่สูญเสียชีวิตจากโรคปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ ซิฟิลิส ไทฟอยด์ คอตีบ สมองอักเสบ หนองใน ตับอักเสบ โปลิโอ ฝีดาษ อหิวาห์ ไข้เหลือง บาดทะยัก หัด
1
โรคเหล่านี้ล้วนมาจากการติดเชื้อ และยิ่งมีความเสี่ยงหากมีบาดแผล
ถึงตอนนี้ทฤษฎีเชื้อโรคก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นแล้ว คนเริ่มเข้าใจปัญหาและเหตุแห่งปัญหา แต่ทุกข์ใหญ่ของคู่สงครามและของโลกเวลานั้นก็คือ จะหาอะไรมาสู้กับเชื้อโรคที่เข้ามาทางบาดแผลได้
ทฤษฎีเชื้อโรค หรือ The germ theory of disease เป็นทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก (จุลินทรีย์) ชนิดที่ก่อโรค จากที่เดิมมนุษย์มักเชื่อว่าโรคเกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาติ
ความจริงนักประวัติศาสตร์พบหลักฐานจารึกบนใบปาปิรุสของยุคอิยิปต์เมื่อ 3,000 กว่าปีที่แล้ว ว่ามีการใช้ "ขนมปังที่ขึ้นรา" และดินเพื่อรักษาโรค และพบบันทึกวิธีการเดียวกันนี้ที่เซอร์เบีย จีน และกรีกโบราณ ตอนนั้นมนุษย์เพียงไม่รู้ว่าจุลินทรีย์เหล่านั้นสร้าง "อาวุธเคมี" ไว้ใช้ต่อสู้กับจุลินทรีย์อีกพวกหนึ่ง
1
นั่นก็คือที่มาของคำว่าปฏิชีวนะ (ปฏิ = ต่อต้าน)
แต่ในยุคใหม่ ยาปฏิชีวนะตัวแรกที่ถูกคิดค้นและนำออกมาใช้คือ ยาซัลฟา (Salvarsan หรือชื่อเคมี Arsphenamines)
ยาซัลฟาสังเคราะห์ขึ้นได้ทางเคมีล้วน ๆ โดยหมอนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ชื่อ เพาล์ แอร์ลิช (Paul Ehrlich, AD1854-1915) และผลิตออกจำหน่ายเป็นสินค้าโดยบริษัท Hoechst ซึ่งยานี้ในเวลาต่อมาพัฒนามาเป็น Neo-salvarsan เป็นยายอดนิยมอย่างยาวนาน
คนยุคนั้นเริ่มเรียกยาแบบนี้กันว่ายาคีโม (chemotherapy)
ความสำเร็จของยาของหมอแอร์ลิช เห็นผลชัดเจนในปี ค.ศ. 1910 เมื่อนำไปใช้รักษาโรคซิฟิลิสที่เป็นโรคติดเชื้อที่รุนแรงและรักษาไม่หายได้ หมอเองต่อมาก็ได้ศึกษาวิชาภูมิคุ้มกันวิทยาอย่างเป็นระบบ และได้รับรางวัลโนเบลด้วย
แต่ในชีวิตบั้นปลายหมอแอร์ลิชกลับต้องทนทุกข์รับสภาพที่ถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วย นอกจากโชคร้ายที่เป็นชาวยิวในเยอรมันแล้ว หนึ่งในสาเหตุของความไม่พอใจก็คือผลกระทบข้างเคียงที่ร้ายแรงของยาคีโมนี่เอง
1
เพาล์ แอร์ลิช ผู้สังเคราะห์ยาซัลฟา (Photo Credit: nobelprize.org)
ไม่นานงานของหมอแอร์ลิชก็ถูกสืบทอดโดย แกร์ฮาร์ท โดมัค (Gerhard Domagk, AD1895-1964) พยาธิแพทย์และนักจุลชีววิทยาชาวเยอรมันในแลปของบริษัท Bayer
เขาสังเกตเห็นว่าสีย้อมผ้าสามารถนำมาย้อมแบคทีเรียบางชนิดให้มองเห็นและค้นพบได้ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ นี่เป็นการค้นพบที่สำคัญมาก
นวัตกรรมสำคัญของแอร์ลิช ที่หมอโดมัคหยิบมาพัฒนาต่อคือ เขาเอาสารสังเคราะห์จากอุตสาหกรรมสีย้อมผ้าที่มีจำนวนหลากหลายมาก ๆ รวมทั้งสังเคราะห์เพิ่ม มาทำเป็นห้องสมุดของสารเคมี (compound library) แล้วทยอยนำทีละตัวมาทดสอบกับแบคทีเรียว่าสารตัวไหนฆ่าเชื้อได้ผลบ้าง ตัวที่ไม่มีผลก็คัดทิ้งไป เหลือสารที่มีฤทธิ์แรงที่สุดมาพัฒนายา
1
ปรากฏว่านี่คือการวางรากฐานในการค้นหายา (drug discovery) ให้อุตสาหกรรมยาในปัจจุบัน
หมอโดมัคค้นพบ "พรอนโตซิล" ยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อได้กว้างขวางมาก ๆ ในระยะแรกวงการแพทย์ไม่ได้สนใจ แต่ต่อมาสร้างชื่อเสียงโด่งดังที่อเมริกาเพราะถูกส่งไปใช้รักษาและช่วยชีวิตของลูกชายของประธานาธิบดีรูสเวลท์ ที่ติดเชื้อจากแบคทีเรีย Streptococcus จนหายขาด เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก
แต่ขณะที่ยาใหม่ที่ทรงพลังนี้ยังไม่มีการควบคุม บางครั้งก็ทำให้เกิดโศกนาฎกรรมได้เช่นกัน เช่นในปี 1937 ยุคที่การกำกับดูแลยายังไม่เข้มงวด บริษัทอเมริกันชื่อ Massengill ได้ขายยาที่มีสารออกฤทธิ์ของพรอนโตซิลในรูปยาน้ำโดยใช้สาร diethylene glycol เป็นตัวทำละลาย
นอกจากจะเร่งรีบขาย ไม่ได้ทดสอบความเป็นพิษของสูตรยาแล้ว เพื่อให้บริโภคง่าย บริษัทยังเติมสารปรุงรสน้ำผลไม้ลงไปด้วย ขายอยู่ได้ไม่กี่เดือนก็เป็นเหตุให้คนตายไป 105 คน สาเหตุไม่ใช่เกิดจากตัวยาหลัก แต่เป็นเพราะพิษของตัวทำละลายที่ใช้ ดันไปทำลายตับและไตอย่างรุนแรง
1
เหตุการณ์นี้ถือเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาสร้างความมั่งคั่งก็ว่าได้ ส่งผลให้นักเคมีผู้คิดค้นสูตรยาของบริษัทนี้ถึงกับฆ่าตัวตายเพราะความรู้สึกผิด และรัฐบาลเร่งออกกฎหมาย Federal Food, Drug, and Cosmetic Act ในปีถัดมา เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นก้าวแรกของการกำกับความปลอดภัยของยาอย่างเป็นระบบในสหรัฐ
ผลงานของโดมัคทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล แต่โชคร้าย (อีก) ที่ถูกรัฐบาลนาซีกดดันให้ปฏิเสธรางวัล ถึงขึ้นถูกคุมขังตัว แต่เมื่อสิ้นสงครามเขาก็ได้ไปรับรางวัล และมีผลงานที่ช่วยพัฒนายาต้านวัณโรค และการใช้เคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
วันนี้ถ้าหมอโดมัคยังมีชีวิตอยู่ก็คงต้องอุทานด้วยความทึ่งว่า My God! อุตสาหกรรมปัจจุบันยังใช้กระบวนการเดิมของยุคนั้นค้นหายากันอยู่
แม้ว่าขนาดของ "ห้องสมุดสารเคมี" ที่สมัยก่อนมีจำนวนเป็นหลักร้อยถึงพัน มาในปัจจุบันนี้มีจำนวนเป็นหลักล้านแล้ว แต่นี่ก็คืออีกหนึ่งมรดกของอุตสาหกรรมสีย้อมผ้าเมื่อ 100 ปีก่อน ที่มอบให้กับอุตสาหกรรมยา
เป็น 100 ปีที่ยาปฏิชีวนะได้เปลี่ยนโลกไปมาก ยืดอายุเฉลี่ยของมนุษย์ออกไปได้อีกถึง 23 ปี
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารไม่ว่าฝ่ายเยอรมัน อังกฤษ หรืออเมริกา ต่างก็พกพายาซัลฟาพร้อมที่จะใช้กินหรือทาแผล ภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองทวีปต่างก็ผลิตยาปฏิชีวนะออกมาเป็นร้อย ๆ ตัน เพื่อให้มี "อุปกรณ์เสริม" ที่จำเป็นในสงคราม
เป็นเรื่องย้อนแย้งที่น่าขันอย่างยิ่ง ที่ยาที่ช่วยชีวิตทหารอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกค้นพบที่ห้องแลปของข้าศึกในเยอรมัน ในปีที่ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ โดยกลุ่มบริษัทที่ต่อมาผู้บริหารถูกนำขึ้นศาลพิพากษาอาชญากรสงครามที่นูเรมเบิร์ก
1
ในที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรก็สลายกลุ่ม IG Farben ออกเพื่อลดอำนาจผูกขาดของเยอรมัน (อีกครั้ง) หากแต่ยังเต็มใจที่จะใช้ยาปฏิชีวนะที่คิดค้นโดยเยอรมันต่อไป
แต่โลกยังไม่ได้ปลอดภัย เพราะมีเชื้อโรคอีกหลายชนิดที่ยาซัลฟาและพรอนโตซิลฆ่าไม่ได้
ยาปฏิชีวนะจากเคมีสังเคราะห์รุ่งเรืองอยู่ไม่นาน ก็มาถึงการค้นพบยาเพนิซิลินจากเชื้อรา โดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ชาวสก็อตที่เราคุ้นหูกันดีคือ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Sir Alexander Fleming, AD1881-1955)
เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง (Photo Credit: Imperial War Museums)
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญเมื่อปี ค.ศ. 1928 แทบเป็นการย้อนกลับไปค้นพบว่า ที่แท้สารจากธรรมชาตินี่เองที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรคได้ชะงัดที่สุด
เราได้เล่าไปแล้วถึงการค้นหายาที่มาจากสีที่ใช้ย้อมเชื้อโรคได้ และมองเห็นใต้กล้องจุลทรรศน์ ส่วนเชื้อโรคชนิดที่ย้อมสีไม่ติดเรายังไม่มียาที่ใช้ต่อสู้เลย
การมาถึงของยาเพนิซิลิน (ที่ไม่ได้มีที่มาจากสีย้อมผ้า) จึงทำให้มนุษย์มีอาวุธมหัศจรรรย์ที่ฆ่าเชื้อโรคที่เหลือเหล่านี้ได้เกือบหมด
1
เพนนิซิลินไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์เม็ดเลือดขาว และนักเคมีในเวลาต่อมาได้พัฒนาจนสามารถสกัดให้อยู่ในรูปของผลึกที่มีความบริสุทธิ์และเข้มข้นกว่าของเดิมถึง 40,000 เท่า ทําให้สามารถนํามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้จริงจัง
1
ถึงช่วงท้ายสงคราม เพนนิซิลินก็ถูกผลิตออกมาขนานใหญ่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม เพื่อส่งไปช่วยทหารฝ่ายสัมพันธมิตรสู้ศึกกับฝ่ายอักษะ
เพนนิซิลิน รักษาชีวิตทหารฝ่ายสัมพันธมิตรไว้ได้มหาศาล อัตราการตายจากโรคปอดบวมในกองทัพสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่ 1 สูงถึง 18% แต่ในครั้งที่ 2 อัตราตายลดลงเหลือเพียง 1%
ยาที่ช่วยทหารอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกค้นพบที่ห้องแลปในเยอรมัน ในปีที่ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ โดยกลุ่มบริษัทที่ต่อมาผู้บริหารถูกนำขึ้นศาลพิพากษาอาชญากรสงครามที่นูเรมเบิร์ก
โธมัส เฮเกอร์ ผู้เขียน The Demon Under the Microscope
และจากนั้นเริ่มต้นสู่ยุคทองของยาปฏิชีวนะจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จนถึงจุดสูงสุดช่วงทศวรรษที่ 1950
ทว่าชัยชนะนี้ของมนุษยชาติอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ เพราะผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะยังคงเป็นสิ่งที่ตามมาหลอกหลอนบริษัทยาและผู้ใช้ยาอยู่เสมอ เพียงแต่คราวนี้ผลข้างเคียงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกับผู้ใช้ยาเป็นรายคน แต่กระทบใหญ่มหาศาลไปทั้งโลก เพราะยิ่งโลกใช้ยาปฏิชีวนะกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบว่าเจอ "เชื้อโรคดื้อยา" มากเท่านั้น
หลัง ๆ ยาปฏิชีวนะที่มีใช้กันอยู่เริ่มไม่ได้ผล และที่ใช้ได้ผลก็อาจจะใช้อยู่ได้อีกไม่กี่ปี สิ่งที่น่ากังวลคือบริษัทยายักษ์ใหญ่จำนวนมากของโลกได้ละทิ้งงานวิจัยด้านนี้ไปแล้ว มีน้อยรายจริง ๆ ที่จะวิจัย พัฒนา และพยายามสร้างยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ด้วยเหตุผลทางธุรกิจเป็นหลัก
เมื่อยาปฏิชีวนะไม่เป็นตลาดที่น่าสนใจของบริษัทยาที่ทรงพลังอำนาจ เรื่องนี้ปัจจุบันจึงกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่เร่งด่วนและซีเรียสมาก เราคงหาโอกาสมาคุยเรื่องนี้กันเต็ม ๆ ต่อไปในอนาคต
1
ข้อมูลอ่านเพิ่มเติม
สงครามที่ไม่มีวันชนะ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค โดย นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา
โฆษณา