28 ส.ค. 2022 เวลา 03:17 • ความคิดเห็น
Fossilization - เมื่อบางอย่างในตัวเราถูกแช่แข็ง
"ฟอสซิล" (fossil) คือซากของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน
1
ตอนที่ผมเรียนปริญญาโทด้านภาษาและการสื่อสารที่นิด้า ในหัวข้อการเรียนภาษาที่สอง (Second Language Acquisition - SLA) คำว่าฟอสซิลถูกนำมาใช้ในบริบทที่ผมนึกไม่ถึง
ในเชิง SLA นั้น fossilization คือการที่ภาษาที่สองของเราไม่สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้แล้ว
เราอาจเคยเห็นใครหลายคนย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองนอกตอนโตแล้ว แต่แม้จะอยู่มาแล้วหลายสิบปีก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่องอยู่ดี ยังใช้แกรมม่าร์ผิด ยังติดสำเนียงไทย ต่อให้รับ input เป็นภาษาที่สองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้พูดได้ดีขึ้น ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ลิ้นแข็ง" ไปแล้วนั่นเอง
3
ผิดกับคนที่ไปต่างประเทศตั้งแต่วัยเด็ก ได้เรียนที่นั่นแค่ไม่กี่ปีก็สามารถพูดอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ
1
สำหรับคนที่อยากเก่งภาษาที่สอง กระบวนการ fossilization จึงเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะหากถูก fossilized หรือแช่แข็งไปแล้ว ความฝันที่จะพูดได้เหมือนเจ้าของภาษาก็เหมือนจะดับลงไปด้วย*
-----
สำหรับคนวัย 30 ปลายๆ ถึง 40 กลางๆ ที่โตมาในยุคเฟื่องฟูของแกรมมี่และอาร์เอส เชื่อว่าเราน่าจะร้องเพลงของศิลปินคนโปรดได้หลายคน
ส่วนคนที่ชอบฟังเพลงฝรั่ง ก็อาจตกหลุมรักวงดนตรีเท่ๆ อย่าง Nirvana, Greenday, Metallica, Radiohead, และ Oasis
การเป็นวัยรุ่นในยุค 90 นั้นมันแสนจะคลาสสิคในความทรงจำของเรา และทุกวันนี้เราก็ยังฟังเพลงของพวกเขาเหล่านั้นอยู่แม้วันเวลาจะผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้วก็ตาม
ถ้าเปิดเพลงดังๆ ที่เกิดในช่วง 1990-2000 เราน่าจะร้องได้เกือบทุกเพลง แต่ถ้าเป็นเพลงที่เกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะร้องได้แค่ไม่กี่เพลงทั้งๆ ที่จำนวนศิลปินและจำนวนเพลงมีให้เลือกฟังหลากหลายมากกว่าเดิมตั้งไม่รู้กี่เท่า
เคยมีคนวิเคราะห์ว่า ที่เราหยุดฟังเพลงใหม่ๆ เพราะว่าวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการก่อร่างสร้างตัวตน เราจึงเปิดโอกาสให้มีสิ่งที่จะประทับใจและฝังใจเราได้ง่าย (impressionable) แถมเรายังมีเวลาเหลือเฟือจนสามารถฟังเพลงเดิมๆ ซ้ำๆ ได้เป็นสิบเป็นร้อยรอบ
3
แต่พอเราโตขึ้นมา มีภาระหน้าที่ต้องทำ ก็เลยไม่ค่อยเหลือเวลามาเริ่มต้นกับเพลงใหม่ๆ และศิลปินใหม่ๆ เท่าไหร่ เราจึงสบายใจที่จะฟังเพลงที่เราคุ้นเคยมากกว่า
1
การฟังเพลงของใครหลายคนจึงเหมือนถูก fossilized เอาไว้เช่นกัน
-----
ในหนังสือ Think Again ของ Adam Grant มีย่อหน้าหนึ่งเขียนไว้ว่า
"Rethinking isn’t a struggle in every part of our lives. When it comes to our possessions, we update with fervor. We refresh our wardrobes when they go out of style and renovate our kitchens when they’re no longer in vogue. When it comes to our knowledge and opinions, though, we tend to stick to our guns. Psychologists call this seizing and freezing.
We favor the comfort of conviction over the discomfort of doubt, and we let our beliefs get brittle long before our bones. We laugh at people who still use Windows 95, yet we still cling to opinions that we formed in 1995."
ถ้าเป็นเรื่องข้าวของเรามักจะอัพเดตกันอย่างขยันขันแข็ง แต่พอเป็นเรื่องความรู้หรือความคิดเห็นเรากลับยึดมั่นถือมั่นกันน่าดู
ถ้าเราเห็นใครใช้ Windows 95 เราคงหัวเราะในใจ แต่เราเองกลับยึดติดในความเชื่อที่เราสร้างเอาไว้ตั้งแต่ปี 1995
ลองสำรวจตัวเองว่าใน 1 ปีที่ผ่านมาเราได้เปลี่ยนความเชื่อในเรื่องใดบ้าง ถ้ายังคิดไม่ออกก็ลองขยายเวลาเป็น 3 ปี 5 ปีดู
1
หากพบว่าผ่านมา 5 ปีแล้ว ความเชื่อของเรายังเหมือนเดิม ก็มีความเป็นไปได้สองทาง หนึ่งคือความเชื่อของเรานั้นถูกต้องแน่แท้ หรือไม่อย่างนั้นความเชื่อของเราก็ถูก fossilized ไปเรียบร้อยแล้ว
Fossilization ทางการฟังเพลงนั้นอาจไม่เสียหาย อย่างมากก็แค่พลาดโอกาสที่จะได้ฟังอะไรใหม่ๆ
Fossilization ทางภาษาที่สองนั้นถือเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องทางกายภาพด้วย แต่ตราบใดที่เรายังสื่อสารให้คนเข้าใจได้ ผลกระทบทางลบคงมีไม่มากนัก
แต่ Fossilzation ทางความคิดและความเชื่อนั้นอันตราย เพราะโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย สิ่งที่เคยใช่มันอาจจะไม่ใช่อีกต่อไป
ข่าวดีคือ fossilzation ทางความคิดนี้ไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ หากเรากล้าเปิดใจ กล้าจะยอมรับว่าที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้มีมุมมองที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเสมอไป เราก็จะ think again ได้อีกครั้ง
อย่าปล่อยให้ fossilization ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์กันเลยนะครับ
* การพูดได้เหมือนเจ้าของภาษาไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าหมายสูงสุดของคนที่เรียนภาษาที่สองนะครับ บางคนพูดติดสำเนียงภาษาแม่ก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบ
2
โฆษณา