30 ส.ค. 2022 เวลา 10:25 • สิ่งแวดล้อม
ภัยแล้งและคลื่นความร้อนผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สถานการณ์เรื่องภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือแม้แต่ในเอเชียอย่างจีน และปากีสถาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยการที่โลกเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
โดยเฉพาะการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และพลังงานฟอสซิลต่างๆ เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงอย่างภัยแล้ง คลื่นความร้อน และน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ทั่วโลก
รายงานจาก Global Drought Observatory ระบุว่า 47% ของพื้นที่ในทวีปยุโรป มีสัญญาณเตือนภัยแล้วว่า พื้นดินในยุโรปนี้มีความแห้งสนิท ในขณะที่พื้นทีอีก 17% ของยุโรปนั้น เป็นพื้นที่เตือนภัยเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว สามารถเติบโตได้ช้า และอาจตายได้ในที่สุด
นักวิชาการยังมีคำเตือนว่า ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในยุโรปนี้ จะส่งผลกระทบทั้งด้านพืชผลทางการเกษตร และอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ยุโรปทางตอนใต้อาจได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลานานหลายเดือน
อีกทั้งแม่น้ำหลายสายในยุโรปเริ่มแห้งเหือดมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคพลังงานในยุโรป อย่างไฟฟ้าพลังน้ำ ความสามารถในการผลิตจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญถึง 20% ประกอบกับปัญหาพลังงานที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในยุโรป จึงยิ่งส่งผลให้ทวีความรุนแรงจนอาจกลายเป็นวิกฤตพลังงานในที่สุด
ยกตัวอย่างเช่นเมืองลัวโรซองซ์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา แม่น้ำลัวร์แห้งเหือดมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จนสามารถเห็นเนินทราย และผู้คนสามารถเดินข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำได้
ความแห้งแล้งในยุโรปดังกล่าว เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่รุนแรง ประกอบกับสภาวะโลกร้อนขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากในหลายภาคส่วน หากเหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ประเทศยุโรปทางใต้อย่าง สเปน, อิตาลี, โปรตุเกส, ฝรั่งเศส, และอีกหลายประเทศ จะมีความแห้งแล้งที่รุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และจะขยายวงกว้างไปอย่างต่อเนื่อง โดยภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในยุโรปเวลานี้นั้นถือว่ามีความรุนแรงที่สุดในรอบ 500 ปี
ด้านประเทศจีนก็กำลังเจอกับภัยแล้งรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากคลื่นความร้อนที่ยาวนานเป็นประวัติการณ์ ทำให้ภัยแล้งขยายครอบคลุมพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของจีน แม้แต่ที่ราบสูงของทิเบตที่ปกติจะมีอากาศเย็นตลอดเวลา ก็เจอกับภัยแล้งด้วย ซึ่งระดับภัยแล้งในแต่ละพื้นที่ก็มีตั้งแต่ขั้น “รุนแรง” ไปจนถึง “ผิดธรรมดา”
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือแม่น้ำแยงซีที่ไหลยาวตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ ไปจนถึงมณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มากกว่า 370 ล้านคน และเป็นพื้นที่สำคัญทางการเกษตรและมีนิคมอุตสาหกรรมสำคัญตั้งอยู่หลายแห่ง
ทางการจีนคาดว่าในหลายเมืองใหญ่ของจีนจะยังคงประสบกับสภาพอากาศร้อนระดับมากกว่า 40C ต่อไปอีก เช่น เมืองฉงชิ่ง และเมืองเจ้อเจียง
โดยภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในจีนนั้นทำให้จีนเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในมณฑลเสฉวน เมือง เฉิงตู ฉงชิ่ง ซึ่งมีรายงานว่าไฟฟ้าดับเกือบทั้งเมือง เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้นไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เนื่องจากขาดน้ำ ทำให้ต้องมีการตัดกระแสไฟในพื้นที่จำนวนมาก นำไปสู่การที่ประชาชนในพื้นที่ต้องไปรวมตัวกันตามสถานที่ที่ยังพอมีไฟฟ้าเพื่อตากแอร์ หลบจากความร้อนระดับสูงกว่า 40C
ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั้งในยุโรปและจีนนี้ มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่เกิดขึ้นอาจจะผลักดันให้หลายประเทศหันไปหาพลังงานเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมที่ก่อมลภาวะมากมาย หรือพลังงานนิวเคลียร์ก็เป็นไปได้ ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงกว่าเดิมมาก
โฟกัสทุกความเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจและอัดแน่นไปด้วยสาระ 
ที่ TopNewsFocus เลือกสรรมาให้คุณเติมอาหารสมองกันได้ทุกวัน
ติดตาม Topnewsfocus ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา