2 ก.ย. 2022 เวลา 11:19 • การศึกษา
กระปุกบัญชี-07.ภาษีป้าย และโรงเรือน
ภาษีป้ายและโรงเรือนอาจเป็นภาษีที่หลายคนมองข้าม เพราะปัจจุบันเปิดกิจการกันแบบออนไลน์มากขึ้นไม่ค่อยมีหน้าร้าน แต่ถ้ามีออฟฟิศ บริษัท ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเสีย
เรามาค่อยๆ ดูกันทีละตัวค่ะ
ภาษีโรงเรือน : ภาษีตัวนี้เกิดจาก การมีรายได้จากที่ดินและอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในรูปค่าเช่าอย่างเช่น เราเช่าออฟฟิศในตึก เจ้าของตึกก็จะต้องเสียภาษีโรงเรือนตัวนี้
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเจ้าของออฟฟิศที่มาเช่า จะเกี่ยวกับเราก็ต่อเมื่อตอนทำสัญญาเจ้าของตึกหรือเจ้าของออฟฟิศที่แบ่งเช่า ผลักภาระภาษีโรงเรือนมาให้เรา โดยแจ้งว่าผู้เช่า จะต้องเสียภาษี โรงเรือนเอง ทุกๆปี ถ้าไม่อ่านสัญญาดีๆ ก็จะไม่รู้ว่าเราต้องเสียภาษีตัวนี้ด้วย
ส่วนถ้าเราไม่ได้ไปเช่าออฟฟิศแต่เรามีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้เช่า แล้วเกิดรายได้ เราก็จะต้องเสียภาษีโรงเรือน จากการประเมินเป็นรายปีของเจ้าหน้าที่
โดยภาษีโรงเรือนและที่ดิน จะคิดจากค่ารายปีของทรัพย์สิน ในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปีที่เราได้รับประโยชน์
ส่วนการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) จะต้องยื่นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปีถัดไป โดยยื่นได้ที่สำนักงานเขต ณ พื้นที่ที่ทรัพย์สินตั้งอยู่
ภาษีอีกตัวหนึ่งที่มาคู่กัน เรามีบริษัทมีสถานที่ตั้ง มีอาคาร มีออฟฟิศ ส่วนใหญ่ก็ต้องมีป้ายชื่อกำกับ บ่งบอกถึงสถานที่และบริษัทว่ามีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร ซึ่งก็หนีไม่พ้นภาษีตัวต่อไปที่เราจะคุยกัน ภาษีนั้นก็คือ ภาษีป้ายนั่นเองค่ะ
ภาษีป้าย : ส่วนใหญ่จะเสียจาก ชื่อบริษัท ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า หรือป้ายโฆษณาที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท
อัตราภาษีของราคาป้าย ก็จะคิดเป็นตารางเซ็นติเมตร และมีอัตราที่แตกต่างกันออกไป ตามตัวอักษรที่ใช้ ตัวอักษรภาษาไทยอย่างเดียวก็ราคาหนึ่ง ภาษาอังกฤษก็ราคาหนึ่ง หรือภาษาไทยกับภาษาอังกฤษปนกันก็อีกราคาหนึ่ง
อัตราภาษีป้ายใหม่ เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ.2564 โดยกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้ายไว้ดังนี้
1.ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
(1-ก) ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ เสียอัตราภาษีป้าย 10 บาท ต่อขนาดป้าย 500 ตร.ซม.
(1-ข) ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ (1-ก) เสียอัตราภาษีป้าย 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
2.ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และ หรือปนกับภาพ และหรือเครื่องหมายอื่น
(2-ก) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ เสียอัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
(2-ข) ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ (2-ก) เสียอัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
3.ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
(3-ก) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ เสียอัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
(3-ข) ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ (3-ก) เสียอัตราภาษีป้าย 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
จะเห็นว่า ราคาป้าย ข้อ 1,2 และ 3 นั้นแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นก่อนจะทำป้ายโฆษณา หรือป้ายชื่อบริษัทคิดให้ดีๆ ว่าจะเอาตัวอักษรไหนขึ้นก่อนหรือหลัง เป็นไทย หรือต่างประเทศ แล้วจะมีรูปหรือไม่ วางที่ตำแหน่งไหน ถ้าวาง layout ดีๆ เราก็จะเสีย ภาษีป้ายในราคาที่เหมาะสม แค่เปลี่ยนหรือ สลับตำแหน่ง ตัวอักษรหรือรูปภาพเท่านั้น
■ สรุป หลักง่ายๆ ■
เราคนไทย  อยู่ในประเทศไทย อักษรไทยที่จะสื่อความหมายนั้นจึงราคาถูกที่สุด
ถ้าอินเตอร์ขึ้นมาหน่อย มีอักษรไทยและอังกฤษคู่กัน ก็ต้องเสียเงินเพิ่มกับความอินเตอร์ และ ถ้าให้ความสำคัญกับความอินเตอร์เป็นพิเศษ โดยให้ภาษาอังกฤษนำหน้า อยู่ข้างบน หรือขึ้นหน้าก่อน ก็บวกราคาเพิ่ม ให้กับความอินเตอร์กันไป
ส่วนถ้าอินเตอร์ล้วน ไม่มีภาษาไทยเลยอันนี้  ก็จ่ายราคาเต็มอัตราความอินเตอร์ที่มาใช้ พื้นที่ในประเทศไทยขึ้นป้ายอักษรของชาติอื่น
ภาษีโรงเรือนและภาษีป้ายก็คงจะคร่าวๆ แค่นี้ค่ะ ที่ต้องรู้ไว้บ้าง เมื่อถึงเวลาใกล้เสียภาษีจะได้คำนวณ และประมาณการค่าใช้จ่าย หมุนเงินได้ทัน ไม่ต้องจ่ายช้าให้เสียค่าปรับ หรือ ไปกู้เงินมาจ่ายเพื่อเพิ่มดอกเบี้ยในอนาคต เพราะภาษี 2 เจ้านี้เขามาทักทายเราปีละครั้ง บุ๊คมาร์คแจ้งเตือนไว้ในปฎิทินหน่อยทุกต้นปีก็ดีนะคะ
แล้วพบกันใน EP ถัดไปนะคะ
♧♧ มาค่อยๆ หยอดกระปุกบัญชีวันละนิด พิชิตการเงินในอนาคตกันค่ะ ♧♧
◇ กระปุกบัญชี : Kapookbunchee ◇
Yuu : ยู
กระปุกบัญชี-07.ภาษีป้าย และโรงเรือน
โฆษณา