3 ก.ย. 2022 เวลา 08:59 • ประวัติศาสตร์
พระนเรศวร : ศึกพระมหาอุปราชา ยกแรก
พระมหาธรรมราชาสวรรคต พ.ศ. 2133 สมเด็จพระนเรศมีอายุได้ 35 ปี ก็ขึ้นครองราชย์ และตั้งพระเอกาทศรถให้เป็นพระมหาอุปราช ต่อมาอีก 8 เดือนพม่าก็มาใหม่หลังจากหายหน้าไป 3 ปี
 
จุดเริ่มต้นของศึกครั้งนี้มาจากเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังแข็งเมืองขึ้นมา (ถ้าในหนังนเรศวรก็คือคุณชุมพร เทพพิทักษ์ พ่อศรราม ที่มีลูกสาวคือเลอขิ่น รับบทโดยคุณทราย เจริญปุระ เจ้าฟ้าเมืองคังมีตัวตนจริงนะครับ แต่เลอขิ่นนี่ท่านมุ้ยแต่งขึ้นมา)
พม่าเห็นว่าการที่เมืองคังกล้าหือเพราะเห็นไทยแข็งเมืองแล้วพม่าปราบไม่ได้เลยเอาอย่าง ตราบใดที่ยังปราบไทยไม่ได้ก็จะมีเมืองอื่นๆ เอาอย่างไทยต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นต้องปราบไทยให้ได้
สาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ พม่าคาดว่าเมื่อพระมหาธรรมราชาสวรรคต พระนเรศและพระเอกาทศรถน่าจะแย่งสมบัติกัน เพราะเวลาอยุธยาผลัดแผ่นดินทีไรมักเป็นแบบนี้ตลอด จึงเป็นโอกาสดีที่จะเข้ามาโจมตีไทย
พระเจ้านันทบุเรงจึงให้จัดกองทัพ 200,000 คน ให้พระยาพะสิม (เจ้าเก่า แพ้ไปทีนึงแล้ว) และพระยาพุกามเป็นทัพหน้า พระมหาอุปราชาเป็นทัพหลวง เดินทัพมาทางด่านพระเจดีย์ 3 องค์ (พม่าชอบมาทางนี้เพราะเดินทัพมาถึงอยุธยาได้เร็ว ประมาณ 2 สัปดาห์ก็ถึง แต่ถ้าต้องการเพิ่มกำลังพลและเพิ่มเสบียงก็จะเข้ามาทางเหนือแล้วตีกวาดลงมาเรื่อยๆ ก็จะใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะถึงอยุธยา)
พระนเรศวรทราบข่าวทัพพม่า จึงนำทัพไปต้านพม่า ไม่รอให้บุกมาถึงอยุธยา (ยุทธวิธีของพระนเรศเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการรบของอยุธยาที่เคยมีมาตลอด ก็คือท่านจะจัดทัพทุ่มกำลังไปต้านทัพข้าศึกไม่ให้มาประชิดกรุง เพราะที่ผ่านมาอยุธยาจะตั้งรับในตัวเมืองโดยตลอดอย่างเคยที่เล่ามา แล้วเล่นเกมยื้อจนกระทั่งพม่าขาดเสบียงหรือหน้าน้ำหลากมาพม่าก็จะถอยกลับไปเอง
มีครั้งเดียวที่พระนเรศท่านตั้งรับในอยุธยาแล้วส่งแค่หน่วยกองโจรไปก่อกวนต้านทัพและตัดเสบียงพม่าก็คือศึกนันทบุเรงที่เป็นศึกก่อนหน้าครั้งนี้ พูดง่ายๆคือ ท่านนิยมเกมรุกมากกว่าเกมรับ)
แผนของพระนเรศคราวนี้คือจัดทหารกองเล็กๆไปรักษาเมืองกาญจนบุรี จุดประสงค์ก็คือเพื่อลวงข้าศึก แล้วซุ่มพลไว้อีกที่หนึ่ง (คล้ายกับแผนลวงตอนรบพระเจ้าเชียงใหม่) เมื่อพระมหาอุปราชายกมาถึงเมืองกาญจนบุรี ทัพไทยก็ออกไปปะทะ แล้วแกล้งทำสู้ไม่ได้ ถอยหนีลงมา พม่าก็ได้ใจไล่ตาม เมื่อมาถึงพื้นที่ซึ่งพระนเรศซุ่มทัพ พระองค์ก็เข้าตะลุมบอนทัพพม่า เล่นเอาทัพหงสาแตกไม่เป็นขบวน (เจอ surprise attack) ถูกทัพอยุธยาฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก พระยาพุกามตายในที่รบ และจับพระยาพะสิมไว้ได้
ทัพหน้าพม่าแตกหนีไปปะทะทัพหลวง ชุลมุนวุ่นวายจนทัพหลวงแตกไปด้วย (เอาเข้าไป) พระมหาอุปราชาเกือบโดนทหารไทยจับไว้ได้ เดชะบุญยังหนีทัน
เมื่อกลับไปถึงหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงโกรธมากที่แพ้มาอีกแล้ว สั่งให้ประหารแม่ทัพนายกองทั้งปวง พระมหาอุปราชาให้ภาคทัณฑ์ไว้ ให้ยกทัพมาแก้ตัวใหม่ (ก็คือศึกยุทธหัตถีที่ผมจะไว้เล่าครั้งต่อไป เป็นยกที่ 2)
แค่นี้ก่อนละกันนะครับ จริงๆศึกนี้ตอนแรกผมว่าจะไม่เล่าเพราะมันไม่ใคร่มีอะไร พวก highlight ของสงครามไทยรบพม่าสมัยพระเจ้านันทบุเรงคือศึกครั้งที่ 1, 3, 5 ( 1 = ศึกพระยาพะสิม&พระเจ้าเชียงใหม่, 3 = ศึกนันทบุเรง, 5 = ศึกยุทธหัตถี) แต่ถ้าไม่เล่าก็เหมือนขาดอะไรไปอย่างนึงเลยต้องจัดสักหน่อยครับ
#ซอกหลืบประวัติศาสตร์อยุธยา
#พระนเรศวร
1
เพิ่มเติม : บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมผมถึงไม่พูดถึงพระเอกาทศรถเลย คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าองค์ขาวท่านรบเคียงข้างองค์ดำตลอด พี่น้องคู่นี้ผูกพันรักใคร่กันมาก องค์ดำว่ายังไงองค์ขาวว่าตามตลอด ยอมรับนับถือองค์ดำประดุจบิดาอีกคนหนึ่ง มีครั้งหนึ่งเรือพระที่นั่งของพระนเรศจะโดนกระสุนปืนยิง พระเอกาทศรถท่านรีบสั่งให้เอาเรือของท่านไปขวางทางปืนทันทีเพื่อบังเรือพระนเรศไว้ ดังนั้นการผลัดแผ่นดินหลังจากพระมหาธรรมราชาสวรรคตจึงเป็นไปอย่างราบรื่นมาก (พม่าคาดผิดอย่างแรง)
เมื่อพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์ต่อจากพระนเรศ ท่านได้เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า สัมพันธไมตรีทางการค้ากับประเทศตะวันตกเจริญรุ่งเรือง ทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังเพิ่มขึ้นมหาศาล บ้านเมืองปราศจากสงครามยาวนาน (ใครจะกล้ามารบด้วยล่ะครับ คนแถบนี้กลัวพระนเรศจนหัวหดไปหมดแล้ว ชาวต่างชาติถึงกับขนานนามพระนเรศว่าราชันย์แห่งไฟ เนื่องด้วยความเด็ดขาดทางการปกครองและความดุดันในสนามรบของท่าน)
ภาพประกอบ : อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
โฆษณา