4 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • หนังสือ
เริ่มต้นลงทุนง่าย ๆ ด้วยกองทุนรวม
ตอนที่ 2 ประเภทของกองทุนรวมตามนโยบายการลงทุน
1. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
เป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง โดยจะลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น (หลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจว่าตราสารหนี้คืออะไร เดี๋ยวตอนที่ 3 ผมจะมาอธิบายให้นะครับ)
ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในบรรดากองทุนทั้งหมด และผลตอบแทนนั้นก็ทำกำไรได้ใกล้เคียงกับเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ จึงเหมาะสำหรับคนที่วางแผนในการเก็บออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน หรือนักลงทุนที่ต้องการพักเงินนั่นเองครับ
2. กองทุนรวมตราสารหนี้ (General Fixed Income Fund)
มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาอีกหน่อย ขออธิบายคร่าว ๆ ไว้ก่อนนะครับว่า "ตราสารหนี้" ก็เปรียบเสมือนว่า เราเป็นเจ้าหนี้ ให้ลูกหนี้ยืมเงินไปแล้วได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นดอกเบี้ย ซึ่งประสิทธิภาพในการได้เงินคืนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า เราให้ใครยืมเงินไป ถ้ายิ่งลูกหนี้มีเครดิตดี มีความมั่นคงสูง ก็อาจจะได้เงินคืนกลับมามากกว่าลูกหนี้ที่มีเครดิตไม่ดีนั่นเองครับ
ซึ่งรายละเอียดของตราสารหนี้ผมจะมาเจาะลึกให้ตอนที่ 3 นะครับ ตอนนี้ใครยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไรครับ เอาเป็นว่ามันมีความเสี่ยงสูงขึ้นมาจากกองทุนตลาดเงินนิดนึงครับ แหะๆ
3.กองทุนรวมผสม (Balanced Fund)
เป็นกองทุนที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก ตราสารหนี้ หรือหุ้น แต่จะลงทุนในสัดส่วนของหุ้นตั้งแต่ 35 - 65% จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแต่ ผู้จัดการกองทุนก็ยังมีการกระจายความเสี่ยง ด้วยการนำสัดส่วนที่เหลือไปลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำอยู่ ทำให้ความเสี่ยงที่ออกมานั้น อยู่ในระดับกลางๆครับ
4.กองทุนรวมผสมยืดหยุ่น (Flexible Portfolio Fund)
คล้ายกับกองทุนรวมผสม แต่ไม่มีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ซึ่งผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกอัตราส่วนการลงทุนได้เอง เช่น ช่วงเวลาหนึ่งตลาดหุ้นตกหนัก ก็อาจจะปรับอัตราส่วนการลงทุนในหุ้นให้น้อยลง เมื่อตลาดหุ้นมีแนวโน้มจะกลับมาก็ปรับอัตราส่วนการลงทุนในหุ้นให้มากขึ้น ซึ่งเรียกได้ว่า ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้จัดการกองทุนล้วน ๆ เลยครับ ความเสี่ยงของกองทุนประเภทนี้ก็จะมีตั้งแต่ความเสี่ยงน้อยไปถึงความเสี่ยงสูงเลยครับ
5.กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds)
เป็นกองทุนรวมที่ไปลงทุนในกองทุนรวมอีกทีนึง โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65% ซึ่งจะสะดวกมากถ้าเป็นการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถกระจายความเสี่ยงไปในหลายกองทุนได้ แต่ก็อาจจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อนเป็นข้อแลกเปลี่ยน
6.กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund)
เรียกอีกอย่างนึงว่ากองทุนหุ้นนั่นเอง ขออธิบายคำว่า "หุ้น" คร่าวๆ นะครับ (เดี๋ยวตอนที่4จะมาลงลึกให้นะครับ) หุ้นก็คือการที่บริษัทนั้นได้นำหุ้นออกมาจำหน่าย เพื่อให้นักลงทุนที่ต้องการจะเป็นหุ้นส่วนของบริษัทเข้าซื้อ และบริษัทนั้นก็นำเงินที่หุ้นส่วนให้มาไปขยับขยายกิจการ เมื่อกิจการทำกำไรก็นำเงินมาแบ่งให้หุ้นส่วนอีกทีหนึ่ง (เหมือนให้คนอื่นมาเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทน่ะครับ)
ซึ่งกองทุนหุ้นนั้น ผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินที่มากองรวมกันไปลงทุนในหุ้นต่างๆ เราจึงไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจหุ้นแต่ละตัวให้ยุ่งยาก แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูง เหมาะสำหรับคนที่รับความเสี่ยงสูงได้ กองทุนประเภทนี้ก็ได้แก่ SET50 , SET100 เป็นต้น
7.กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ (Sector Fund)
คือกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นที่มีการดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกัน เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มสุขภาพ เป็นต้น ข้อดีก็คือ ถ้าหุ้นในกลุ่มที่เราลงทุนไปกำลังอยู่ในช่วงเติบโต เราก็มีโอกาสได้กำไรค่อนข้างสูง ส่วนข้อเสียก็คือ เนื่องจากมันเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มเดียวกัน ถ้าช่วงไหนอุตสาหกรรมกลุ่มนั้นซบเซา โอกาสขาดทุนกระจุยกระจายก็ยิ่งสูง จึงเหมาะสำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง และมีการวางกลยุทธ์ที่ดีครับ
 
เรียบเรียงบทความจาก
หนังสือ : กองทุนรวม 101
ผู้เขียน : ธนัฐ ศิริวรางกูร
จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
ติดตามบทความดีๆ จากหนังสือดีๆ ได้ที่
โฆษณา