9 ก.ย. 2022 เวลา 00:03 • ความคิดเห็น
วิชาทำเกิน
ผมเคยเขียนเรื่องวิชาทำเกินไปอยู่หลายครั้งในหลายๆมุมว่าการที่เราทำเกินนั้นจะทำให้คนระดับปานกลางโดดเด่นขึ้นมา
หรือช่วยมวยรองให้พอสู้กับรายใหญ่ได้ พอเขียนเรื่องนี้ก็จะมีคำถามว่าการที่ “ทำเกิน” นั้นมันจะเสียเวลา เสียพลังงานหรือไม่ถ้าเราเองก็ยังไม่รู้เลยว่าคนที่เรา “ทำเกิน” ให้นั้นจะเห็นคุณค่าหรือจะได้อะไรกลับมารึเปล่า
ก็เป็นคำถามที่น่าพิจารณาสำหรับคนที่มีทางเลือก แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนักหรือไม่ได้เก่งกาจอะไร วิชานี้น่าจะไม่ใช่วิชาเลือกแต่เป็นวิชาบังคับเอาก็ได้
เมื่อวานนี้ จั๊กแห่งครัวแล้วแต่จั๊ก เล่าให้ฟังถึงความประทับใจที่มีต่อ แพน เจ้าของร้านแมนสุขภัณฑ์ ที่เป็น SME ขายของเหมือนคนอื่นทั่วๆไป จั๊กกำลังสร้างบ้านใหม่และต้องซื้อสุขภัณฑ์อยู่หลายห้องเพราะเป็นบ้านใหญ่อยู่พร้อมกันหลายครอบครัว จั๊กก็พูดคุยซักถามกับร้านทั่วๆไปรู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะได้มาทำนองเป็นส่วนลดถ้าจะซื้อ
แต่พอคุยกับแพนแห่งร้านแมนสุขภัณฑ์ เขากลับไม่ได้ทำแค่นั้น แพนขอแบบบ้านไปศึกษาอย่างละเอียด พร้อมกลับมาด้วยคำแนะนำเป็นเล่มว่าห้องนี้ต้องใช้เครื่องสุขภัณฑ์อะไรบ้าง ละเอียดจนถึงหมุดถึงน็อตตัวเล็กๆ พร้อมราคาเปรียบเทียบอย่างครบถ้วน และมีข้อเสนอที่ทำให้ประหยัดโดยเทียบรุ่นกับยี่ห้อต่างๆมาให้ด้วย และทิ้งท้ายไว้ว่า ไม่ใช้ผมก็ไม่เป็นไรนะครับ แต่ข้อมูลนี้อาจจะเป็นประโยชน์ไว้ต่อราคาคนอื่นได้
จั๊กเล่าบอกว่า เห็น Proposal ที่ตั้งใจทำขนาดนี้ ไม่ใช้ก็ดูจะใจร้ายเกินไป แถมก็หายสงสัยแล้วว่าทำไมพอถามคนเรื่องว่าจะใช้ใครดี ถึงมีแต่คนแนะนำแมนสุขภัณฑ์ ไม่ใช่เพราะราคา แต่เป็นเพราะความใส่ใจที่เกินมาตรฐานร้านอื่นๆไปมาก
1
J.I.B computer ที่ปัจจุบันมียอดขายเป็นหมื่นล้าน ก็เริ่มมาจากร้านเล็กๆอยู่ในซอกที่เซียร์ รังสิต จิ๊บ สมยศ เชาวลิต รวบรวมเงินที่มีอยู่ไม่มากมาลองเปิดร้านดู ทุนจิ๊บมีน้อยมากจนไม่สามารถสต๊อกของได้ ต้องไปซื้อกล่องเปล่ามาวางให้ดูว่ามีของ แถมคู่แข่งในห้างนั้นก็มีแต่ร้านใหญ่ๆที่ขายตัดราคาเต็มไปหมด
1
จิ๊บใช้วิธีที่ต่างออกไปจากร้านใหญ่ เขาใช้เวลาอธิบายสเปกคอมพ์ให้ลูกค้าอย่างใจเย็น บางทีใช้เวลาเป็นชั่วโมง ถามจุดประสงค์การใช้งาน ทำราคาเปรียบเทียบ พยายามเข้าใจลูกค้าว่าอยากได้อะไร แน่นอนว่าพอทำราคามาแล้วก็จะแพงกว่าร้านใหญ่ ลูกค้าก็มักจะขอใบราคาแล้วพยายามไปเดินดูร้านใหญ่ซึ่งจะถูกกว่าจิ๊บเสมอ ร้านใหญ่ก็แค่ดูใบราคาจิ๊บแล้วลดราคาเอา
แต่ด้วยความเกรงใจที่จิ๊บช่วยดู ช่วยเขียนสเป๊กให้ ลูกค้าก็จะกลับมาต่อราคาจิ๊บอีกรอบให้ได้เท่าร้านใหญ่ จิ๊บก็จะยกมือไหว้และบอกตรงๆว่าเป็นร้านเล็ก อาจจะต้องขายแพงกว่าสามสี่ร้อยบาท แต่รับรองว่าถ้ามีปัญหาจะดูแลให้อย่างเต็มที่ ซึ่งจิ๊บก็จะทำแบบนั้นจริงๆ ทำให้ลูกค้าเริ่มบอกต่อ จิ๊บก็เริ่มขยายร้านได้จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นหลายร้อยร้านได้ในปัจจุบัน
1
สโลแกนของ J.I.B ในวันเริ่มต้น จนน่าจะถึงวันนี้ก็คือ “ร้านเล็กๆแต่ตั้งใจทำ” ซึ่งผมอยากจะวงเล็บว่า ตั้งใจทำ (เกิน) แถมไปด้วย
ปิดท้ายด้วยเรื่องระดับอินเตอร์อีกซักเรื่องนะครับ เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ผมได้ยินเรื่องนี้ก็ยังจำได้ไม่ลืม สมัยนั้นผมทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีแต่แข่งกันลดค่าธรรมเนียมอยู่ตลอดเวลา แต่มีครั้งหนึ่งที่มีบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่ของสวิสขอขึ้นค่าธรรมเนียมจากกองทุนใหญ่แห่งหนึ่งของเอเชีย แน่นอนว่าคำตอบแรกก็คือไม่มีทาง แถมทางกองทุนใหญ่ถามกลับด้วยว่า ทำไมต้องขึ้นค่าธรรมเนียมให้ด้วย
บริษัทสวิสแห่งนี้ ไม่อธิบายมาก แต่ส่งเอกสารที่เรียกได้ว่าแทบท่วมห้อง (ยี่สิบปีก่อนยังไม่มีอีเมล์ หรืออินเตอร์เนตที่แพร่หลายนะครับ ) เขาเก็บข้อมูลไว้ทุกอย่างตั้งแต่งานวิจัยที่ทำ การโทรหาดูแลกองทุนว่าใครโทรบ้าง โทรเพื่ออะไร คุยกี่หน มีผลสำเร็จอะไรบ้าง
มีงานอะไรที่เขาทำให้อยู่ตลอดเวลาที่กองทุนอาจจะไม่รู้หรือเปลี่ยนคนดูแลไปหลายรอบแล้วบ้าง เป็นจำนวนและปริมาณงานที่มหาศาลที่กองทุนคาดไม่ถึง และรู้สึกได้เลยว่ามากกว่าบริษัทหลักทรัพย์แห่งอื่นมาก ก็เลยยอมให้ขึ้นค่าธรรมเนียมได้ เป็นเคสที่พิเศษมากๆในตอนนั้น
แพน จิ๊บ หรือบริษัทสวิส คงไม่ได้ตั้งคำถามอะไรเรื่องทำเกินแล้วจะได้อะไรหรือไม่ จิ๊บอาจทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่น จะตัดราคาก็สู้ไม่ได้ แพนก็อาจจะทำเพราะความใส่ใจส่วนตัว เป็นความชอบที่เห็นลูกค้าประทับใจ บริษัทสวิสก็อาจจะวางแผนไว้อย่างดีว่าทำเกินแล้วก็ต้องสามารถแสดงให้เห็นได้เมื่อถึงเวลา
วิชาทำเกินเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ถ้ามีตัวอย่างที่ได้พบเจอก็จะมาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ
โฆษณา