9 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Plan 75 : ทางแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยในญี่ปุ่น เมื่อผู้สูงวัยกลายเป็นบุคคลไร้ค่า?
“แม้เราจะมีลูก แต่ก็ยังโดดเดี่ยว สุดท้ายชีวิตก็มีแค่ตัวเรา”
Plan 75 คือหนังที่ได้รับรางวัล Un Certain Regard
และถูกพูดถึงอย่างมากในเทศกาลหนังเมืองคานส์
ล่าสุดยังได้เป็นตัวแทนหนังญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลออสการ์ 2023 อีกด้วย
 
โดยหนังเล่าถึงอนาคตสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันจนทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐจึงออกมาตรการให้คนที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปที่ประสงค์จบชีวิตตัวเอง
สามารถลงมาทะเบียนเลือกวันจบชีวิตได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจะได้รับเงิน 1 แสนเยนไว้ใช้ทำอะไรก็ได้ก่อนจบชีวิตลง ถือเป็นค่าตอบแทนที่พวกเขายอมเสียสละเพื่อประเทศ
ในบทความนี้ Bnomics จึงอยากจะมาเล่าให้ฟัง ว่าทำไมญี่ปุ่นถึงกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว แล้วในอนาคตอาจจะต้องมีนโยบายแบบในหนัง Plan 75 ออกมาใช้หรือไม่?
📌 ทำไมญี่ปุ่นถึงเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว?
สัดส่วนของประชากรสูงวัยในญี่ปุ่น เริ่มเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 1950
จนกระทั่งในปี 2021 ผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 65 ปี ในญี่ปุ่น สูงที่สุดแตะระดับ 36.4 ล้านคน
 
โดยสัดส่วนของผู้สูงวัย คิดเป็น 29.1% ของประชากรในประเทศ ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
1
และยังคาดว่าในปี 2040 ญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนผู้สูงวัยถึง 35.3% เนื่องจากเป็นช่วงที่เหล่าเบบี้บูมเมอร์ อายุ 65 ปีพอดี
วิกฤติสังคมสูงวัยของญี่ปุ่นนั้น เกิดจากปัจจัยหลักๆ 2 อย่าง คือ
1) อายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
โดยในปี 2019 อายุคาดเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นอยู่ที่ 87.45 ปี สำหรับผู้หญิง และ 81.41 ปี สำหรับผู้ชาย
2) อัตราการเจริญพันธุ์ลดลง
ในญี่ปุ่น ยุคเบบี้บูมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่อยู่ราวๆ 9 - 20 ปี และนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970
อัตราการเจริญพันธุ์ในญี่ปุ่นก็เริ่มลดลงต่ำกว่าอัตราการเกิดทดแทน (ผู้หญิง 1 คน มีลูก 2 คน) ก่อนที่อัตรานี้จะลดลงเรื่อยๆ
จนทำให้หลังจากทศวรรษ 2010 ประชากรญี่ปุ่นเริ่มลดลง ประกอบกับการที่คนญี่ปุ่นแต่งงานน้อยลง และอายุเฉลี่ยเมื่อแต่งงานครั้งแรกสูงขึ้น
2
เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้หญิงมักจะนิยมแต่งงานกับผู้ชายที่มีหน้าที่การงานมั่นคง และมีการศึกษาสูงกว่าตนเอง แต่ในปัจจุบันงานที่มั่นคงตลอดชีวิตนั้นหาได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ วัฒนธรรมญี่ปุ่นยังมักจะโยนภาระภายในบ้านให้ผู้หญิงรับผิดชอบ แล้วด้วยความที่ผู้หญิงญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ทำงานนอกบ้าน การแต่งงานหรือการมีลูก
จึงอาจเป็นการเพิ่มหน้าที่ภรรยาและหน้าที่แม่ให้ต้องรับผิดชอบไปพร้อมๆ กับการทำงานนอกบ้าน ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่ค่อยสนใจการแต่งงานเหมือนในอดีต
📌 ตลาดแรงงานที่เต็มไปด้วยคนสูงวัย
เมื่อคนเกิดใหม่น้อยลง คนที่จะเข้าวัยกำลังแรงงานก็น้อยลง ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่สัดส่วนระหว่างคนสูงอายุต่อวัยแรงงานสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD โดยอัตราส่วนการพึ่งพิง (Age dependency ratio)
ในปี 2018 อยู่ที่ 47.1% นั่นหมายถึงว่า จะมีคนนอกวัยแรงงานราวๆ 47 คนที่ต้องการการพึ่งพิง ต่อประชากรวัยแรงงาน 100 คน และคาดว่าในปี 2060
ประชากรวัยแรงงาน 1 คน จะต้องแบกรับผู้สูงอายุ 1 คน
ทำให้ตลาดแรงงานของญี่ปุ่น เต็มไปด้วยคนสูงวัย และมีคนรุ่นใหม่เข้าไปน้อยลงๆ
ในปี 2012 อัตราการมีส่วนร่วมกำลังแรงงานลดลงไปต่ำสุดที่ 59.1% ก่อนที่ในปี 2019 จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 62.1 แต่ก็ยังต่ำกว่าในอดีตอยู่ดี
ในปัจจุบัน หลายๆ บริษัทเริ่มมีนโยบายจ้างพนักงานที่เกษียณอายุไปแล้วแต่ยังมีศักยภาพอยู่ ทางรัฐบาลจึงเริ่มแพลนที่จะปรับกฎหมายให้พนักงานสามารถทำงานต่อได้จนกว่าจะอายุ 70 ปี ซึ่งจากตัวเลขสถิติการทำงาน
ก็พบว่าในปี 2020 มีแรงงานที่อายุเกินกว่า 65 ปีอยู่ถึงเกือบ 9 ล้านคน
คิดเป็นสัดส่วน 13.3% ของแรงงานทั้งหมด
1
ส่งผลให้อายุเฉลี่ยที่คนออกจากระบบแรงงานจริงๆ ไม่ใช่ 60 ปีอีกต่อไป แต่กลายเป็นอายุ 71 ปี สำหรับผู้ชาย และอายุ 69 ปี สำหรับผู้หญิง
📌 ภาระทางการคลังเมื่อประชากรมีแต่คนสูงวัย
ลองคิดดูว่าคนๆ หนึ่ง ทำงานตั้งแต่อายุ 20 ไปจนถึง 60 เท่ากับระยะเวลาทำงาน จ่ายภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนบำนาญ คือ 40 ปี
1
ถ้าหลังจากเกษียณไปแล้วยังมีชีวิตต่ออีก 30 ปี ในระหว่างนั้นไม่ได้ทำงานอะไร แต่ยังรับเงินบำนาญ และใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐอยู่เรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น
ในขณะที่จำนวนแรงงานรุ่นใหม่ๆ ที่ช่วยกันส่งเงินเข้ากองทุนบำนาญลดลง แค่นี้ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่แล้ว ว่าเงินในกองทุนจะพอไปได้อีกนานแค่ไหน และรัฐจะทำอย่างไรกับงบประมาณสวัสดิการที่จะต้องเพิ่มขึ้นทุกปี
ในปี 2018 งบประมาณรายจ่ายรัฐของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ คิดเป็น 10.9% ของ GDP และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.1% ในปี 2030
โดยประมาณการว่ารัฐต้องมีรายจ่ายงบประมาณด้านสุขภาพคิดเป็นจำนวนเงินโดยเฉลี่ย 337,000 เยน ต่อประชากร 1 คน และเมื่อจำแนกไปตามอายุ พบว่าประชากรที่อายุต่ำกว่า 75 ปี จะใช้งบประมาณ 222,000 เยน ต่อคน
1
ในขณะที่หลังจากอายุ 75 ปีขึ้นไป จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า อยู่ที่ราวๆ 939,000 ต่อคน (ดังนั้นใน Plan 75 การออกนโยบายให้คนอายุ 75 ปีขึ้นไปจบชีวิตโดยสมัครใจ และยังให้เงิน 1 แสนเยน ก็อาจจะดูคุ้มค่าเมื่อมองในมุมงบประมาณรัฐ)
อีกทั้งยังมีปัญหาว่าผู้สูงอายุที่ยากจนนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และส่วนใหญ่มักจะเป็นหญิงชรา ในปี 2018 อัตราผู้มีผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีที่ยากจน คิดเป็น 19.6%
เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่ 13.5% ทำให้เกิดกรณีที่ผู้สูงอายุลักเล็กขโมยน้อยเพื่อให้ถูกส่งเข้าคุก หรือผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวและเสียชีวิตเพียงลำพัง (เรียกว่า kodokushi ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นในเกาหลีใต้เช่นกัน)
หลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เริ่มเล็งเห็นถึงปัญหาสังคมสูงวัย
ในปี 1994 รัฐบาลได้ออก Angel Plan เพื่อช่วยเหลือครอบครัวในการจะมีลูก
เพิ่มบริการดูแลเด็ก ส่งเสริมนโยบายลาไปเลี้ยงลูกสำหรับทั้งพ่อและแม่ รวมถึงให้เงินอุดหนุนการเลี้ยงดูลูก เพื่อหวังจะเพิ่มจำนวนประชากร
1
นโยบายนี้ถูกปรับเปลี่ยนอยู่หลายต่อหลายครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันมากขึ้น
อย่างล่าสุดก็มีแนวคิดที่จะปรับระบบการลาไปเลี้ยงดูลูกหลังคลอด ให้ขยายออกไปนานขึ้นและยังได้รับเงินมากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าผลตอบรับยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร และแนวทางยังไม่ชัดเจนว่าจะหาเงินงบประมาณมาอุดหนุนจากไหน
ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นจึงยังเต็มไปด้วยประชากรสูงวัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ และมีเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ จนเริ่มฉายแววให้เห็นปัญหางบประมาณการคลัง
ถ้าใช้หลักคณิตศาสตร์ เมื่อเพิ่มจำนวนคนเกิดไม่ได้ เราก็อาจจะเปลี่ยนไปเพิ่มจำนวนคนตายแทน
แต่ในความเป็นจริง เราคงยังไม่สามารถมีนโนบายแบบในหนังเรื่อง Plan 75 ได้ หรือต่อให้มีจริงๆ ก็คงจะกลายเป็นที่ถกเถียงในประเด็นมนุษยธรรมอยู่มากว่าคนที่มีอายุเกิน 75 ปี ไม่ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่งั้นหรือ?
ดังนั้นสิ่งที่อาจจะพอเป็นไปได้คืออย่างน้อยอาจต้องมีการส่งเสริมการออม และการซื้อประกันชีวิตตั้งแต่วัยทำงาน เสริมสร้างค่านิยมดูแลสุขภาพที่ดี
เพื่อที่วันข้างหน้า คนสูงวัยจำนวนมากจะไม่ต้องกลายเป็นประชากรที่ต้องพึ่งพิงงบประมาณรัฐ
แต่กลายเป็นคนสูงวัยที่มากด้วยประสบการณ์ และยังสามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้อยู่
แล้วคุณล่ะ คิดเห็นกับเรื่องนี้ยังไง?
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ : Loaded Films Ltd. (有限会社ローデッド・フィルムズ)
#APEC2022Thailand #APEC2022COMMUNICATIONPARTNER

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา