16 ก.ย. 2022 เวลา 10:18 • ธุรกิจ
เทรนด์ Virtual Influencer
ส่งผ่านวัฒนธรรมในโลกจริง สู่การทำเงินใน Digital Economy
Virtual Influencer อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง เกิดขึ้นจากนวัตกรรม Virtual Human ที่วิวัฒนาการจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อทำให้ระบบสามารถเข้าถึงมนุษย์ได้โดยไม่รู้สึกถึงเทคโนโลยีในฐานะหุ่นยนต์ ระบบปฏิบัติการจะสามารถประมวลผลและตอบโต้ได้ในทันที แรกเริ่มอาจตอบโต้ได้เพียงแค่โค้ดหรือข้อความ และพัฒนาเป็นระบบผู้ช่วยเสียง อย่าง Siri บนระบบ IOS หรือ Alexa จากอุปกรณ์ Amezon Echo
.
จากเสียงได้พัฒนาเป็นรูปร่างที่เคลื่อนไหวได้ ทำให้ระบบใกล้เคียงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น อะไรที่มนุษย์ทำได้ Virtual Human ก็ต้องทำได้ แรกเริ่มอาจทำได้เฉพาะบนพื้นที่ดิจิทัลเท่านั้น อย่างเกม The Zim หรือตัวการ์ตูนในเกมประเภท MMORPG ซึ่งย่อมาจาก Massive Multiplayer Online Role-Playing Game
.
ในสารคดี We Need to Talk About A.I. ที่อำนวยการสร้างโดย Leanne Pooley และ James Cameron เล่าว่าวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ได้ใช้เวลาพัฒนามาตลอดระยะเวลา 100 ปีของมนุษยชาติ พัฒนาการของ AI ในแต่ละรุ่น ส่งผลต่อมุมมองของผู้คนในแต่ละยุค
โดยเฉพาะช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นับเป็นคลื่นลูกใหญ่ในวงการเทคโนโลยีที่ AI สามารถประมวลผลได้ทั้งรูปแบบเสียงและกราฟิกเคลื่อนไหว จนมาถึง AI รุ่นปัจจุบัน ที่สร้างสรรค์ด้วยโปรแกรม CGI เลียนแบบหน้าตาและร่างกายมนุษย์ ความเสมือนที่แทบจะเหมือนจริง สามารถทำให้ผู้คนน้อมรับความสำเร็จในวิวัฒนาการรุ่นนี้ และเรียกตัวตนเหล่านี้ว่า “Virtual Human”
.
อาจเป็นได้ทั้งความสำเร็จและความหวาดกลัว เพราะการมีตัวตนที่สามารถโลดแล่นไปมาได้ทั้ง 2 โลก ทั้งในโลกดิจิทัลและบนโลกจริงแบบ AR มีข้อได้เปรียบสำหรับธุรกิจในตลาดดิจิทัล โดยพวกเขาเหล่านี้สามารถเข้าถึงกิจวัตรประจำวันของผู้คนได้จากไลฟ์สไตล์ในโลกจริงและความแฟนตาซีในโลกเสมือนจริง โดยเฉพาะการเข้าถึงในฐานะ Virtual Influencer อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ซึ่งเป็นได้ทั้งอาชีพนาง-นายแบบดิจิทัลในลุคชิคๆ ไปจนถึงตัวแทนแอมบาสเดอร์แบรนด์หรือบริษัทได้ตรงตามโจทย์ของลูกค้า
.
จริงอยู่ที่ Virtual Influencer เป็นผลงานสร้างสรรค์จากโปรแกรมกราฟิกคอมพิวเตอร์ แต่การประสานตัวตนให้อยู่ในบริบทของสิ่งมีชีวิต ย่อมได้ผลลัพธ์ที่กว้างกว่าในแง่อายุการทำงานที่ไม่หมดอายุขัย และการเปิดกว้างทางความคิดที่หลากหลาย จากตัวตนที่ไม่สมบูรณ์แบบหรือสมบูรณ์แบบจนแฟนตาซี ปัจจุบันได้กลายเป็นจุดขายสำหรับตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในยุคนี้ไปแล้ว
.
Virtual Influencer มักถูกสร้างให้มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนมาตั้งแต่เกิด เพื่อดึงกลุ่มความสนใจสำหรับคนในวัฒนธรรมย่อยหรือผู้คนที่มีไลฟ์สไตล์แบบเดียวกัน กลยุทธ์ตลาดผู้มีอิทธิพลนี้ถูกวางกรอบภายใต้ Influencer KOL ซึ่งหมายถึงผู้มีอิทธิพลจะต้องวางกรอบทางความคิด ทัศนคติ และไลฟ์สไตล์ที่แน่นอน เพื่อให้ผู้ติดตามรู้สึกได้ถึงความชัดเจนและมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้คล้อยตาม
.
Imma
Imma มนุษย์เสมือนจริงสัญชาติญี่ปุ่น ที่ได้ขึ้นแท่นเป็น Virtual Influencer หลักของ IKEA Japan ตำแหน่งนี้ไม่ได้ได้มาเพราะความโด่งดังจาก Instagram เท่านั้น แต่เพราะคาแรกเตอร์สาวฮาราจูกุที่ทันสมัย แต่หลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และสร้างไลฟ์สไตล์สำหรับสาวยุคเรวะ ที่ฉลาดใช้ ฉลาดเลือก และรักษ์โลกในแบบชิคๆ ทำให้ Imma ครองตำแหน่งอิเกียเกิร์ลมานานหลายปี
.
Rae
Rae ในชื่อแอ็กเคานต์ here.is.rae บน Instagram และ Weibo จากเดิมที่เป็นเพียงหุ่น CGI ที่เป็นความภาคภูมิใจด้านปัญญาประดิษฐ์ของบริษัท AI Solution ของสิงคโปร์ แรกเริ่มคนสิงคโปร์ยังไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจการมีอยู่ของ Virtual human มากนัก มีเพียงกลุ่มธุรกิจที่มุ่งเน้นจะยัดผลิตภัณฑ์ใส่มือ Rae แล้วขายของให้ตรงโจทย์ลูกค้า
.
แต่ด้วยความแน่วแน่ในคาแรกเตอร์ที่สร้างมาโดยมีจุดประสงค์ในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมสตรีตอาร์ตตรงสไตล์คนพื้นถิ่นเชื้อสายจีนในสิงคโปร์ แม้จะเปลี่ยนทรงผมก็ต้องไปตัดกับช่างท้องถิ่น ทุกการเคลื่อนไหวของ Rae ถูกออกแบบให้เป็นดั่งแบรนด์แอมบาสเดอร์ประจำชาติ แฟนคลับชาวต่างชาติหลายคนรู้จักเรื่องราวใหม่ๆ ในประเทศสิงคโปร์ผ่านตัวเธอ ถึงแม้ Rae จะมีอายุช่วงวัยเจนซี แต่สามารถเชื่อมต่อกิจกรรมสไตล์แอนะล็อกได้ลงตัว จึงไม่แปลกที่เธอจะกลายเป็นขวัญใจสำหรับสายสตรีตและชาวมิลเลนเนียลในสิงคโปร์ได้
.
Lu do Magalu
Lu do Magalu มนุษย์เสมือนจริงสัญชาติบราซิล ซึ่งทำรายได้ในตลาดกลุ่ม Virtual KOL มากที่สุดในปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงอาจไม่โด่งดังสำหรับแฟนต่างชาติ แต่เธอสามารถสร้างยอดขายในสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศได้ทะลุเพดานขาย จนขึ้นแท่นเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านไลฟ์สไตล์สำหรับคนบราซิลยุคใหม่ ซึ่งมีผลต่อตลาดอุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ของบราซิลไปแล้ว
.
แม้ Virtual Influencer จะทำให้รู้สึกตื่นเต้นในช่วงแรก แต่สำหรับคนบางกลุ่มแล้วมนุษย์เสมือนเหล่านี้กลับไม่สามารถดึงดูดความสนใจได้เลย โดยเฉพาะเจนเนอเรชั่นซีบางกลุ่มที่มองว่ามนุษย์เสมือนเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ของบริษัทเท่านั้น เจนซี 48% มีทัศนคติเชิงลบกับ CGI ที่เป็นแอมบาสเดอร์ของบริษัท แต่ในทางตรงกันข้ามคนเหล่านี้จะยอมรับ Virtual human ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้จริงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคมและขับเคลื่อนวัฒนธรรม มากกว่าความสามารถในการขายผลิตภัณฑ์ให้แก่แบรนด์สินค้า
.
.
เรื่อง : กมลกานต์ โกศลกาญจน์
ภาพจาก :
ที่มา :
#humanitas #virtual #influencer #digital #economy #trend
โฆษณา