12 ก.ย. 2022 เวลา 07:57 • ไลฟ์สไตล์
3 ความหมายทำไมต้องเป็น “ไก่โต้ง” บนชามตราไก่
Google Doodle เป็นลูกเล่นที่กูเกิ้ลจะเลือกงานศิลปะ บุคคลสำคัญ หรือเรื่องราวสำคัญมาสร้างเป็นตัวการ์ตูนเพื่อยกย่องเฉลิมฉลองผ่านหน้า Search หน้าแรก วันนี้ (12 กันยายน 2565) กูเกิ้ลเลือก “ชามตราไก่”​ มาพูดถึง
ไก่บนGoogleDoodleหน้าตาเหมือนไก่แจ้เลย
เล่าถึงชามตราไก่ มาจาก “ไก่” อันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง ความยาวนานมาจากต้นตระกูล “ธนบดีสกุล” เป็นชาวจีนที่มีฝีมืองานเซรามิก ผู้คิดค้นและผลิตชามตราไก่ขึ้นมาเป็นเจ้าแรก เดิมโรงงานอยู่ที่ราชเทวี แต่ด้วยความต้องการของตลาดจึงไปผลิตที่จังหวัดลำปาง ซึ่งมีดินที่เหมาะสมสำหรับขึ้นรูปชาม
***ความหมายที่ 1 ไก่เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดลำปาง***
ชามตราไก่เกิดขึ้นครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 8 โรงงานตั้งที่ราชเทวี ราว พ.ศ. 2484 มีช่างทำเซรามิก 3 - 4 คน ผลิตด้วยวิธีการเผาใส่เตาฟืน เหตุผลว่าทำไมต้องทำเป็นรูปไก่ มาจากตราสัญลักษณ์จังหวัดลำปาง
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นิยมรับประทานอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวกันมากขึ้น ชามจึงเป็นพาชนะที่ต้องใช้กันแทบทุกท้องที่ การจำหน่ายชามตราไก่จึงเฟื่องฟูขึ้น
ชามตราไก่เริ่มแรกวาดด้วยสีแดง แต่ถ้าจะเผาให้แดงสวยจะผ่านการเผาหลายครั้ง ต้นทุนสูง ยุคต่อมาจึงปรับเปลี่ยนเป็นไก่สีเขียว ใส่สีเขียวเข้าไปด้วย เป็นใบไม้ ต้นไม้
***ความหมายที่ 2 ไก่เป็นสัญลักษณ์แห่งความขยัน***
การวาดไก่ ยังมีความหมายอื่น ชาวจีนเชื่อว่า “ไก่ตัวผู้” เป็นผู้นำครอบครัว เป็นสัญลักษณ์ของความขยัน ดังนั้นลวดลายไก่ Original จึงเป็นไก่ตัวผู้ (คาดว่าเป็นไก่โต้ง แต่บางโรงงานวาดไก่แจ้) เพราะมีความหมายที่ดี
ความน่าทึ่งก็คือ ชามตราไก่ที่ผลิตออกมา ไก่แต่ละตัวต้องมีจำนวนหงอน หาง และแฉก ที่ผ่าน QC กันมาแล้ว วาดไปกี่หมื่นตัว จากนัดวาดกี่คนก็จะหน้าตาเหมือนๆ กัน
ภาพไก่บนชามตราไก่จากโรงงานIndraOutlet*ภาพผมถ่ายเอง*
***ความหมายที่ 3 ไก่เป็นสัญลักษณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม***
เนื่องจาก “ไก่” เป็นตราสัญลักษณ์ของจอม ป. และยุคนั้นมีนโยบาย “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย”​ คนยุคนั้นจึงมีความเป็นชาตินิยม สัญลักษณ์ไก่ อาจจะมีความหมายเป็นศิลปะที่ศิลปินนำมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานบนชามตราไก่ก็ได้ แต่เนื่องจากทุกวันนี้ผ่านมา 2 - 3 รุ่นทายาทแล้ว เราก็ไม่อาจสอบถามจากตัวศิลปินได้โดยตรงว่า ทำไมถึงวาดเป็นรูป “ไก่”
ปัจจุบัน “ชามตราไก่” โรงงานต้นฉบับต้นๆ ของประเทศ ที่ยังทำต่อเนื่องอยู่ คือโรงงานอินทราเอาท์เลท indra outlet เป็นศูนย์เซรามิกที่ใหญ่ที่สุดของลำปาง และยังมี “พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี” ของต้นตระกูลผู้ทำชามตราไก่ เปิดให้เยี่ยมชมและซื้อหา กลับบ้าน (สั่งออนไลน์ก็ได้)
อย่างไรก็ดี ชามตราไก่เป็นที่แพร่หลายในกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ ยุคที่ยังมีก๋วยเตี๋ยวเรืออนุสาวรีย์ ชามตราไก่ก็ถูกนำมาใช้แทบทุกร้าน ล้างง่าย แตกก็ซื้อใหม่ไม่เป็นไร ทุกวันนี้มีชามลายอื่น ชาติอื่นตีตลาด แต่ชามตราไก่ก็เป็นที่หนึ่งในใจคนไทย ตราบใดที่ยังมีร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือ
โฆษณา