12 ก.ย. 2022 เวลา 08:35 • สุขภาพ
โลกไม่สดใส วัยรุ่นซึมเศร้า
ระยะนี้มีวัยรุ่นมาขอตรวจเรื่องโรคซึมเศร้าบ่อยขึ้น ในโรงเรียนต่างๆพบว่านักเรียนเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ ทำไมจึงเกิดโรคนี้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะหลังการระบาดของโรคโควิด 19 และเราจะป้องกันแก้ไขอย่างไร
...
โรคซึมเศร้านั้นพบว่าเกิดขึ้นบ่อยในช่วงอายุ 3 ช่วง คือ วัยรุ่น วัยกลางคน และวัยสูงอายุ สมัยก่อนพบบ่อยที่สุดคือ วัยกลางคน อายุประมาณ 40 ปี แต่ในระยะหลังพบว่า วัยรุ่นกำลังจะแซงวัยกลางคน พบได้บ่อยในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา
นักเรียนบางคนจูงพ่อแม่มาขอพบจิตแพทย์ บางคนครูแนะนำมาเพราะมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง กรีดข้อมือ
กรีดแขนกรีดขา
หรือพยายามฆ่าตัวตาย
หลายคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ได้เข้าไปทำแบบสอบถามเรื่องโรคนี้ ที่มีเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ได้อ่านเรื่องโรคนี้จากเว็บ
ได้ความรู้ในสื่อสังคมจนมั่นใจว่าเป็นโรคนี้
ได้รับคำแนะนำให้มารักษากับจิตแพทย์ เพราะรักษาหายได้
คนที่เคยเป็นแล้วรักษาหายเป็นปกติ ช่วยแนะนำผู้ที่เพิ่งเริ่มเป็น ว่ากินยารักษาหาย หายแล้วหยุดยาได้ ทำให้หมอได้รักษาผู้ป่วยโรคนี้อย่างรวดเร็วครับ
เมื่อก่อนผู้ป่วยซึมเศร้าเข้าพบจิตแพทย์ต่ำมาก เพียงร้อยละสิบ คือ ผู้ที่ป่วยจริง 100 คนนั้น มีเพียง 10 คนที่พบจิตแพทย์
ปัจจุบันตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 30-50 ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก
เพราะการรักษาเร็วได้ผลดี และป้องกันการฆ่าตัวตายได้
ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นในขณะนี้ เกิดจากหลายเหตุ เช่น ความเครียด วัยรุ่นมีความเครียดสูงตามวัยอยู่แล้ว ยังมีความกังวลหรือความหวาดกลัวจากเหตุภายนอก เป็นตัวกระตุ้นให้ซึมเศร้า
ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ นานเข้าก็จะกลายเป็นโรคซึมเศร้า
หลังเหตุภัยพิบัติ โรคระบาดใหญ่อย่างโควิด 19 สถิติโรคซึมเศร้าจะสูงขึ้น มีการฆ่าตัวตายเยอะขึ้น
ปัจจัยอื่นๆ เช่น การกักตัวแยกตัวอยู่บ้าน การเรียนและทำงานที่บ้านนานๆ ขาดสังคม ขาดมนุษยสัมพันธ์
พ่อแม่ก็เครียดสะสม เกิดการกระทบกระทั่งกันในบ้าน
พ่อแม่ที่เครียดเรื่องเศรษฐกิจการเงิน อาจกระตุ้นให้ลูกเครียดไปด้วย
ครูอาจารย์ที่เครียด อาจกดดันนักเรียนให้เครียดได้
บางครั้งพ่อแม่หรือครูควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ อาจมาลงกับนักเรียน
วัยรุ่นเครียดมักมีพฤติกรรมก้าวร้าวเกเร ทำให้ครูเครียดอีก เกิดความเครียดเร้ากันไปมาเป็นวงจรไม่รู้จบ
รวมถึงการกลั่นแกล้งรังแกกัน การลงโทษที่ไม่หมาะสม ล้วนมีผลต่ออารมณ์นักเรียนได้เสมอ
นอกจากนี้ ในช่วงที่เรียนออนไลน์กันนานๆนั้น เด็กจำนวนมากเริ่มเล่นเกมไปด้วย
เพราะเบื่อเรียน
เรียนยาก ไม่สนุก
เครียด จำเจซ้ำซาก
อารมณ์ตกได้ง่าย
เล่นเกมสนุก จนควบคุมเวลาได้ยาก
หยุดเล่นเองไม่ได้
เล่นมากจนไม่เรียน
หลบเลี่ยงหน้าที่ต่างๆ กลายเป็นโรคติดเกมครับ อาการที่พบร่วมด้วยบ่อย คือ อารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย
โกรธรุนแรงเวลาถูกห้ามเล่นเกม
บางคนถึงกับทำร้ายพ่อแม่ได้ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ความเครียดและอารมณ์ซึมเศร้า ทำให้เด็กวิ่งเข้าหาเกม เพราะเกมช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นชั่วคราว
เมื่อหยุดเล่นอารมณ์ตก ก็ต้องกลับไปเล่นอีก
เกมจึงช่วยแก้ไขสภาพอารมณ์ได้ชั่วคราว
ตอนเล่นสนุกจนลืมวันลืมคืน
คลายเครียด
สนุกได้ชั่วครู่
เป็นการเยียวยาตนเองระดับหนึ่ง
แต่เมื่อต้องกลับไปเรียนจะเผชิญความเครียดได้น้อยลง เบื่อเรียน การเรียนตกลง ไม่มีแรงจูงในการเรียน และการมีชีวิต และซึมเศร้าตามมา
โรคซึมเศร้าจึงเป็นปัญหาที่มีผลและมีสาเหตุมากมายซ่อนอยู่ มีปัจจัยภายนอกที่ต้องช่วยกันป้องกัน
รีบค้นหานักเรียนที่เป็น
และให้ถึงการรักษาฟื้นฟูรวดเร็ว
ช่วยกันให้ความรู้ว่าโรคนี้รักษาหายได้
ไม่ใช่โรคจิตโรคประสาทที่น่าอับอาย
รักษาหายเหมือนปกติกลับไปเรียนได้
คนที่เคยเป็นแล้วช่วยประชาสัมพันธ์ให้น้องใหม่รีบเข้ามาพบจิตแพทย์โดยเร็วนะครับ
หวังว่าเปิดเทอมแล้วได้กลับมาเรียนในโรงเรียนคราวนี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคซึมเศร้าในนักเรียนนะครับ
และครูอาจพบเด็กเป็นโรคซึมเศร้าได้ในโรงเรียน พบแล้ว รีบแนะนำให้มารับการรักษาโดยเร็วนะครับ
ไฮไลท์
“เมื่อก่อนนั้นผู้ป่วยซึมเศร้าเข้าพบจิตแพทย์ต่ำมาก เพียงร้อยละสิบ คือ ผู้ที่ป่วยจริง 100 คนนั้น มีเพียง 10 คนที่พบจิตแพทย์ แต่ปัจจุบันตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 30-50 ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะการรักษาเร็วได้ผลดี และป้องกันการฆ่าตัวตายได้”
บทความหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2565
โฆษณา