13 ก.ย. 2022 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
ร้านค้า #คนละครึ่ง ที่เป็นบุคคลธรรมดา
ต้องเสียภาษียังไง มีเรื่องอะไรทีต้องรู้บ้าง ?
อันดับแรก กลับมาที่หลักการก่อน นั่นคือ ถ้ามีรายได้จากการทำธุรกิจหรือประกอบอาชีพใดๆ ก็ตาม หากกฎหมายไม่ยกเว้นภาษีให้ รายได้นั้นต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ แต่จะเสียมาก น้อย หรือไม่เสีย ก็อยู่ที่การคำนวณภาษีแต่ละประเภทครับ
ปกติแล้ว ร้านค้า #คนละครึ่ง ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปแบบของบุคคลธรรมดา นั่นแปลว่า มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแน่นอน โดยรายได้ในส่วนของร้านค้าแบบนี้ จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ตามกฎหมาย
และหากเป็นการขายอาหารเครื่องดื่มต่าง ๆ ก็จะสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ได้ หรือ จะหักค่าใช้จ่ายตามจริง (ต้องมีหลักฐาน) ก็ได้เช่นเดียวกัน
หลังจากนั้นก็วางแผนลดหย่อนภาษีตามปกติ เหมือนชีวิตบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ทั่วไป ซื้อประกัน กองทุน ดูแลคนในครอบครัว ฯลฯ
โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ว่านี้ มีหน้าที่ต้องยื่นทั้ง ภาษีเงินได้ครึ่งปี (ภ.ง.ด.94)และ ภาษีเงินได้ประจำปี (ภ.ง.ด.90) ด้วยครับผม
นอกจากภาษีเงินได้แล้ว ก็ต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขของการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเปล่า
นั่นคือ มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีไหม ?
ในกรณีที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท แล้วไม่ใช่ธุรกิจที่ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้อง โดยต้องศึกษาเพิ่มเรื่องของการ +VAT 7% การตั้งราคาขาย การออกใบกำกับภาษี และการยืนแบบ ภ.พ. 30 ตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
และแน่นอนว่า ต่อให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี ไม่ใช่เสียแค่ตัวใดตัวหนึ่ง
และท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดของการจัดการภาษี คือ การมีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่ค้าพ่อค้าทั้งหลายควรจัดการรายรับรายจ่ายให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาภายหลังกับทางสรรพากรครับ
โดยยอดขายที่เอามาใช้ในการคำนวณภาษี จะต้องเป็นยอดรวมที่ได้รับจากลูกค้า (ถุงเงิน) บวกด้วยเงินสนับสนุนที่ได้รับจากภาครัฐ (คนละครึ่ง) ซึ่งทั้งหมดนี้จะถือเป็นรายได้ที่ใช้ในการคำนวณภาษี
และถ้าหากมีรายได้อื่นจากการทำงาน ก็ต้องเอาส่วนนั้นมารวมยื่นภาษีด้วย จะเลือกแค่คนละครึ่ง หรือ ยื่นแค่รายได้จากการทำงานอื่นๆ อย่างเดียวไม่ได้ครับ
#TAXBugnoms #ภาษี #คนละครึ่ง
โฆษณา