13 ก.ย. 2022 เวลา 11:54 • ข่าว
ฝนรายเดือน กทม. สูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี
ปัญหาน้ำท่วม กำลังทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน แม้จะบริหารจัดการบนระบบจัดการน้ำเดิมของ กทม. แต่ปัจจัยที่แตกต่างคือปริมาณน้ำฝน ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี
ทำไมน้ำระบายไปไหนไม่ได้
กทม. ไม่สามารถปล่อยน้ำได้ตามอำเภอใจ เพราะ มีข้อตกลงที่กรุงเทพฯ ทำร่วมกับกรมชลประทานมานานแล้วว่า น้ำที่สูบออกจากตอนใน ไปประชิดขอบกรุง จะไปต่อที่อื่นได้ ต้องมีเงื่อนไข จากระดับน้ำเป็นสำคัญ
มาดูระบบจัดการน้ำเฉพาะโซนฝั่งตะวันออกของเจ้าพระยา มี 4 ประตูสำคัญ
เริ่มที่
1. สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองเปรมใต้ จะควบคุมน้ำในคลองเปรมประชากร ด้านที่ไหลเข้า กทม.(ด้านใต้คลองรังสิต) ไม่ให้กระทบพื้นที่ กทม.
ช่วงฤดูฝน กรมชลฯ จะควบคุมระดับน้ำคลองเปรมประชากร ด้านที่ไหลเข้า กทม.ให้สูงไม่เกิน +0.50 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถ้าสูงเกินระดับนี้ ก็จะสูบย้อนไปลงคลองรังสิต แล้วระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยา
2. สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองหกวา ตอนคลอง 13 จะคุมระดับน้ำคลองหกวา ไม่ให้กระทบพื้นที่ กทม. โดยช่วงฤดูฝน กรมชลฯจะควบคุมระดับน้ำคลองหกวา ด้านใน ตั้งแต่คลองสอง ถึงคลอง 13 ไม่ให้เกิน +0.90 เมตร และด้านนอก ไม่ให้เกิน +1.70 เมตร
3. สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ ตอนหนองจอก คุมน้ำในคลองแสนแสบ ในเขต กทม. ไม่ให้เกิน +0.90 เมตร และนอกเขต กทม. ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ไม่เกิน +1.30 เมตร ถ้าเกิน กรมชลฯ จะสูบออกไปคลองแสนแสบ ด้านนอก กทม. แต่ต้องไม่ทำให้ระดับน้ำด้านนอก กทม.สูงเกิน +1.30 เมตร
4. สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ตอนคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ถ้าระดับน้ำคลองประเวศน์ฯ ด้านเข้า กทม. สูงเกิน +0.50 ม. ซึ่งจะกระทบพื้นที่ กทม. กรมชลฯ จะสูบน้ำระบายออกไปคลองประเวศน์ฯ ด้านนอก กทม. แต่ต้องไม่ทำให้ระดับน้ำด้านนอก กทม.เกิน +0.75 เมตร
หมายความว่า การสูบน้ำออกของ กทม. ต้องมี กรมชลฯ ตัดสินใจความพร้อมของปลายน้ำ ที่เป็นจังหวัดรอยต่อด้วย และ ข้อมูลล่าสุดก็คือ ระดับน้ำในปลายน้ำ สูงกว่าเงื่อนไขทุกด้าน
| จับตาสถานการณ์
📌 ติดตามข่าว Thai PBS ได้ที่ www.thaipbs.or.th/news
โฆษณา