16 ก.ย. 2022 เวลา 12:12 • ประวัติศาสตร์
ความขัดแย้งระหว่าง "กรีก" และ "จีน"
"กรีก" และ "จีน" ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมหลายๆ แห่งในประวัติศาสตร์โลก
แต่ถึงแม้ชาติทั้งสองจะเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณ แต่คนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าอารยธรรมทั้งสองแห่งนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน ถึงแม้ดินแดนทั้งสองจะรู้ถึงการมีอยู่ของอีกฝ่าย หากแต่ก็ไม่เคยเกี่ยวข้องกัน
1
แต่จริงๆ แล้วดินแดนทั้งสองนี้เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกันมาก่อน
เรื่องราวเป็นอย่างไร ลองมาดูกันครับ
ในทุกวันนี้ กรีซคือประเทศเล็กๆ ในแถบเมดิเตอเรเนียน หากแต่เมื่อยุค 400 ปีก่อนคริสตกาล ดินแดนกรีกนั้นมีอิทธิพลมาก
กรีกนั้นได้ตั้งถิ่นฐาน อาณานิคมไปทั่วเมดิเตอเรเนียนและทะเลดำ โดยในช่วงปลาย 400 ปีก่อนคริสตกาล อำนาจของกรีกนั้นได้แผ่ขยายไปอย่างขีดสุดเมื่อกองทัพของ "พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)" กษัตริย์แห่งมาซิดอน ได้พิชิตจักรวรรดิเปอร์เซียได้สำเร็จ
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ยกทัพมาจากแผนดินกรีก ยกมาถึงแม่น้ำสินธุ ก่อนที่จะเกิดเหตุวุ่นวายในกองทัพทำให้พระองค์ต้องยกทัพกลับบ้าน
หลังจากนั้นไม่นาน พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ได้สวรรคต และภายหลังการสวรรคตของพระองค์ แม่ทัพของพระองค์ก็ได้ขัดแย้งในเรื่องของผู้ที่จะสืบทอดบัลลังก์ และทำให้อาณาจักรมาซิดอนแตกในที่สุด
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)
"เซลูคัส นิเคเตอร์ (Seleucus Nicator)" หนึ่งในแม่ทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ก็ได้ก่อตั้งอาณาจักรของตนเอง เป็นที่รู้จักในนามของ "จักรวรรดิซิลูซิด (Seleucid Empire)"
1
เมื่อมาถึงยุค 300 ปีก่อนคริสตกาล เขตแดนทางตะวันออกของจักรวรรดิซิลูซิดก็เริ่มจะแยกตัวออกจากจักรวรรดิ เกิดเป็น "อาณาจักรกรีก-แบคเตรีย (Greco-Bactrian Kingdom)"
3
ในที่สุด อาณาจักรกรีกในเอเชียก็ค่อยๆ เสื่อมสลาย และได้ถูกจักรวรรดิพาร์เธียกับชนเผ่านอกด่านในเอเชียกลางปราบปราม
หากแต่ชาวกรีกนั้นยังไม่สูญสิ้นไปด้วย และกระจายไปอาศัยอยู่ตามเมืองกรีกต่างๆ ในเอเชีย
1
เซลูคัส นิเคเตอร์ (Seleucus Nicator)
แต่ในขณะที่อิทธิพลของกรีกในเอเชียเริ่มจะเสื่อมถอย หากแต่อำนาจของดินแดนจีนกำลังเบ่งบาน
"จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang)" จักรพรรดิพระองค์แรกของจีน ได้รวบรวมดินแดนจีนเป็นปึกแผ่นเมื่อ 221 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะถึงช่วงเสื่อมถอย มีการเปลี่ยนราชวงศ์ตามกาลเวลา จนมาถึงราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty)
แผ่นดินในสมัยของราชวงศ์ฮั่น ก็ต้องพบเจอกับภัยจากชนเผ่าเร่ร่อนทางเหนือ ซึ่งก็คือชนเผ่า "ซงหนู (Xiongnu)"
1
ภายหลังจากที่พ่ายแพ้ต่อชนเผ่าซงหนู ราชวงศ์ฮั่นก็ตกลงที่จะเจรจาสันติภาพกับชนเผ่าซงหนู แลกกับสันติสุข
จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang)
ความสงบนี้ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนถึงรัชสมัยของ "จักรพรรดิฮั่นอู่ (Emperor Wu of Han)" เมื่อ 141 ปีก่อนคริสตกาล
จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปราบปรามชนเผ่านอกด่านเหล่านี้ และในรัชสมัยของพระองค์ ก็ได้มีการจัดทัพเพื่อรบกับชนเผ่าซงหนูทางเหนือ
นอกจากนั้น จักรพรรดิฮั่นอู่ยังมีพระราชประสงค์จะหาพันธมิตรเพื่อรบกับพวกซงหนู จึงทรงส่งขุนนางที่ชื่อ "จางเชียน (Zhang Qian)" ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวเยว่จือ (Yuezhi)" ซึ่งก็เป็นศัตรูกับพวกซงหนู
หากแต่ในการเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพวกเยว่จือ ระหว่างทางนั้น จางเชียนถูกพวกซงหนูจับได้ และต้องตกเป็นนักโทษของพวกซงหนูอยู่กว่า 10 ปี หากแต่ถึงจะเป็นนักโทษ พวกซงหนูก็ปฏิบัติต่อจางเชียนอย่างดี และยังหาภรรยาให้จางเชียนอีกด้วย
จักรพรรดิฮั่นอู่ (Emperor Wu of Han)
แต่ถึงอย่างนั้น จางเชียนก็ยังคงภักดีต่อราชวงศ์ฮั่น เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี จางเชียนก็ได้หนีไปทางตะวันตก และยังคงมุ่งมั่นที่จะเจริญสัมพันธไมตรีต่อชาวเยว่จือ และได้พบกับชาวเยว่จือในบริเวณหุบเขาเฟอร์กานา
หากแต่ชาวเยว่จือนั้นไม่สนใจจะเจริญสัมพันธไมตรี และได้ตอบปฏิเสธ
ในช่วงเวลาที่จางเชียนพักอยู่ในหุบเขาเฟอร์กานา จางเชียนได้พบกับลูกหลานของชาวกรีก ซึ่งบรรพบุรุษได้ตั้งรกรากในบริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อ 200 ปีก่อน
ชาวกรีกที่จางเชียนพบนั้น ได้ตั้งรกรากอยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรียเอสคาเต (Alexandria Eschate) ซึ่งเป็นเมืองที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 200 ปีก่อน
จางเชียน (Zhang Qian)
จางเชียนนั้นประทับใจในวัฒนธรรมของเมืองนี้ อีกทั้งสุราของเมืองก็มีรสชาติดี และที่น่าประทับใจที่สุด ก็คือ "ม้า"
ม้าของชาวกรีกที่จางเชียนได้พบนั้น มีขนาดเล็กหากแต่แข็งแรงและมีเหงื่อออกเป็นสีแดงเหมือนเลือด และจางเชียนก็เชื่อว่าม้าเหล่านี้ จะทำให้กองทัพฮั่นเอาชนะพวกซงหนูได้
เมื่อกลับมาถึงราชสำนักฮั่น จางเชียนก็ได้ทูลองค์จักรพรรดิถึงสิ่งที่ตนพบเห็น และยังทูลอีกว่ากองทัพฮั่นจะต้องเกรียงไกรหากได้ม้าสวรรค์เหล่านี้
เมื่อได้ฟังดังนั้น องค์จักรพรรดิจึงทรงส่งทูตเพื่อไปขอซื้อม้าเหล่านี้ หากแต่เหล่าทูตที่ส่งไป กลับถูกขุนนางกรีกสั่งให้ประหารชีวิตทั้งหมด
เมื่อข่าวการประหารทูตมาถึงราชสำนักฮั่น ก็สร้างความพิโรธให้องค์จักรพรรดิเป็นอย่างมาก พระองค์จึงทรงมีรับสั่งให้จัดทัพ บุกไปขยี้เมืองกรีกให้เป็นผง และยึดเอาม้าทั้งหมดมา
1
แม่ทัพในศึกนี้ คือแม่ทัพที่ชื่อ "หลี่กวงหลี่ (Li Guangli)"
ทัพของหลี่กวงหลี่ ประกอบด้วยทหารราบ 20,000 นาย ทหารม้า 6,000 นาย หากแต่ระยะทางจากแผ่นดินฮั่นไปถึงหุบเขาเฟอร์กานานั้นก็ยาวไกล ทัพของหลี่กวงหลี่ต้องเดินทัพเข้าไปยังดินแดนต่างๆ และก็ต้องพบเจอกับความยุ่งยากมากมาย
3
กว่าจะมาถึงเมืองอเล็กซานเดรียเอสคาเต ทัพของหลี่กวงหลี่ก็ล้มตายลงไปเป็นจำนวนมาก ทำให้หลี่กวงหลี่ตัดสินใจถอยทัพ
สองปีต่อมา มีการจัดทัพเพื่อบุกไปตีพวกกรีกอีกครั้ง ซึ่งแม่ทัพก็ยังคงเป็นหลี่กวงหลี่คนเดิม โดยคราวนี้ ทัพของหลี่กวงหลี่มีทหารถึง 60,000 นาย เสบียงอีกนับไม่ถ้วน และทัพของหลี่กวงหลี่ก็เกรียงไกร ทุกดินแดนที่เดินทัพผ่าน ทหารต่างให้ความร่วมมือและเข้าร่วมกับกองทัพฮั่น
แต่ถึงอย่างนั้น กว่าจะมาถึงเมืองอเล็กซานเดรียเอสคาเต ทหารของหลี่กวงหลี่ก็ได้ล้มตายลงไปกว่าครึ่ง และกองทัพกรีกก็ได้ยกกำลังออกจากกำแพงเมืองมาปะทะกับกองทัพฮั่น หากแต่ก็ต้องรีบถอยทัพกลับเข้าเมือง
2
กองทัพฮั่นได้ล้อมเมือง และหลังจากผ่านไปได้ 40 วัน กองทัพฮั่นก็สามารถทำลายกำแพงเมืองชั้นนอกลงได้ ทำให้เหล่าขุนนางแตกตื่นและรีบหนีเข้าไปยังกำแพงชั้นใน
เหล่าขุนนางต่างตื่นกลัว และได้ทำการปลงพระชนม์กษัตริย์ของตน และส่งพระเศียรไปให้กองทัพฮั่น และตกลงที่จะยกม้าให้แก่กองทัพฮั่น ซึ่งหากปฏิเสธ เหล่าขุนนางก็ขู่ว่าจะทำการฆ่าม้าทั้งหมดและจะขอสู้จนตัวตาย
หลี่กวงหลี่ยอมตกลง และ "สงครามม้าสวรรค์ (War of the Heavenly Horses)" ครั้งนี้ก็จบลงในที่สุด
จากนั้น หลี่กวงหลี่ก็ได้แต่งตั้งขุนนางผู้หนึ่งให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ของเมือง และได้เดินทางกลับพร้อมม้าอีก 3,000 ตัว และกลับถึงราชสำนักพร้อมม้าที่หามาได้
3
ในระหว่างทางกลับบ้าน กองทัพฮั่นยังได้ยึดดินแดนในแอ่งทาริม สร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่แผ่นดินฮั่นเพิ่มขึ้น
และการยึดครองดินแดนในแอ่งทาริมนี้เอง ยังทำให้ราชวงศ์ฮั่นได้รับผลประโยชน์จากเส้นทางสายไหมในเวลาต่อมา
สำหรับสงครามระหว่างราชวงศ์ฮั่นและชนเผ่าซงหนู ก็ยังคงดำเนินต่อไปเป็นเวลาอีกนับสิบปี ก่อนจะพิชิตเผ่าซงหนูลงได้ในศตวรรษที่ 1 ในที่สุด
โฆษณา