16 ก.ย. 2022 เวลา 00:59 • ความคิดเห็น
Panic attack
มีบทความใน NY Times พูดถึงอาการ panic attack ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ไวรัสโควิดระบาด อาจจะเพราะด้วยความเครียดจากงาน ความทุกข์ที่เกิดขึ้น กลัวติดโควิดและการเสพข่าวเครียดๆเป็นระยะเวลานาน อาการ panic attack ที่พบบ่อยก็คือ อยู่ดีๆ ก็ตามัวๆ รู้สึกหายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว กลัวหัวใจจะวาย สับสนระหว่างว่านี่คืออาการโควิดหรือโรคหัวใจ ซักพักประมาณ 20 นาทีก็หายไป
บทความอธิบายว่าเป็นกระบวนการทางจิตที่ตอบสนองเวลาเหมือนมีภัยมาว่าจะ “ สู้หรือหนี” ดีแต่ดันเกิดขึ้นตอนที่ไม่ได้มีภัยจริงๆ หัวใจจะเต้นเร็วและปั๊มเลือดไปที่กล้ามเนื้อเพื่อเตรียมจะสู้หรือหนี แต่อาการ panic attack ของคนเมืองปัจจุบันไม่ได้เกิดจากอันตรายอะไรที่อยู่ตรงหน้า แต่อาจจะเกิดจาก trigger อะไรบางอย่างที่มองไม่เห็น
NY Times บอกว่าอาการแบบนี้เกิดขึ้นกับคนอเมริกัน 1 ใน 4 อย่างน้อยก็ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่มีคนไข้เพิ่มขึ้นเยอะมากในช่วงไวรัสโควิดเพราะความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงอะไรๆที่ไม่แน่นอนแบบนี้ แถมด้วยความกลัวโควิด บางทียิ่งแยกไม่ออกด้วยว่านี่คือพานิคหรือเป็นอาการของโควิด
ซึ่งคุณหมอผู้เชี่ยวชาญบอกว่าอาการจะคล้ายๆกัน แค่อาการพานิคจะหายไปในยี่สิบนาทีแต่อาการโควิดจะอยู่หลายวันและมีอาการอื่นผสมด้วยเช่นไข้ขึ้นหรือไอ แถมบางทีก็อาจจะคิดว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจไปด้วยเพราะอาการคล้ายกันมาก
เมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนผมอ้วนมากๆ มีครั้งหนึ่งร่างกายอ่อนแอจนหัวใจเต้นผิดปกติ ต้องไปนอน CCU อยู่คืนหนึ่ง ตอนแรกนึกว่าเป็นโรคหัวใจแต่ตรวจแล้วไม่ใช่ แต่หลังจากนั้น ด้วยความผวาของอาการผิดปกติครั้งนั้น ซึ่งผมมารู้ภายหลังว่าเป็นอาการ panic attack ครั้งแรก ก็ทำให้ผมมีไม่แน่ใจระหว่างการกลัวหัวใจวายกับอาการทางจิต
ไปหาหมอหัวใจหลายคนทุกคนก็บอกไม่ใช่โรคหัวใจ แต่ทุกครั้งที่ผมต้องไปอยู่ในที่ที่อึดอัด หรือขยับไม่ได้ เช่นไปดูคอนเสิร์ต หรือรถติดบนทางด่วน สมองผมก็จะเริ่มคิดว่าถ้าหัวใจวายตอนนี้จะทำยังไง
แล้วอาการนั้นก็เริ่มมา หัวใจเริ่มเต้นเร็ว หายใจติดขัด อาการตกใจ กลัวหัวใจล้มเหลวจนต้องงอตัวนอนซักพักถึงจะหาย บางทีไปนอนสระผมเตรียมตัดผมอาการก็มา ทำให้ผมไม่ได้ตัดผมไปเลยก็มี ตอนนั้นทำงานอะไรแทบไม่ได้เลยอยู่สามเดือน
คุณหมอในบทความแนะนำว่า ถ้ามีใครในครอบครัวมีอาการ panic attack อย่าเพิ่งไปพยายามจัดกงจัดการอะไร พยายามหาที่ว่างๆ กว้างๆให้เขาผ่อนคลาย แล้วอย่าบอกว่าให้ “ใจเย็นๆ” ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะมันทำให้คนเป็นยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว
คุณหมอบอกว่าต้องค่อยๆทำความเข้าใจว่าคนที่เป็นอยู่นั้น “กลัว” อะไร รับฟัง และให้หายใจช้าๆ ค่อยๆใช้ชีวิตวันต่อวัน ถ้าอาการหนักก็ต้องไปปรึกษาแพทย์
นอกจากนั้นในบทความยังแนะนำเทคนิคในกรณีที่ panic attack จู่โจมด้วยการหายใจลึกๆ ช้าๆ เพื่อช่วยให้รู้สึกว่าทุกอย่างยังพอโอเคแล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านไป
และใช้วิธีพยายามหาอะไรที่เบี่ยงเบนความสนใจ เช่นเทคนิค 5,4,3,2,1 ด้วยการหยุดคิดโน่นนี่ แล้วลองมอง 5 อย่างที่เราเห็น 4 อย่างที่เราแตะได้ 3 อย่างที่เราได้ยิน 2 อย่างที่เราได้กลิ่น และ 1 อย่างที่เราลิ้มรสได้
นอกจากนั้นคุณหมอในบทความยังบอกว่าการออกกำลังนั้นก็ช่วยได้มาก ซึ่งผมขอยืนยันยกมือเห็นด้วยสองมือเลยว่า ตอนที่ผมมีอาการหนักๆนั้น ผมหายจากอาการนั้นด้วยการลดน้ำหนักและไปเริ่มวิ่ง วิ่งจนหัวใจแข็งแรงจนอาการ panic attack ค่อยๆหายไป ระหว่างที่ยังเป็นอยู่ ก็พยายามเบี่ยงเบนความสนใจด้วยเทคนิคต่างๆ ที่ได้ผลสำหรับผมที่สุดคือการเล่นเกมส์
1
พอช่วงที่มีสมาธิกับการเล่นเกมส์ อาการกลัวหัวใจวายก็หายไปชั่วคราวอยู่เหมือนกัน ผมเคยเล่าในการบรรยายและเขียนบทความเรื่องนี้แล้วพบว่ามีคนเป็น panic attack อยู่ไม่น้อย เพราะมีคนมาทักหลังจากบรรยายและเขียนมาหาอยู่หลายคนเหมือนกัน
ที่เอาเรื่องนี้มาเขียนเพราะช่วงโควิดที่ยาวนานนี้ นอกจากจะเครียดจากหน้าที่การงาน กลัวติดโควิดที่ระบาดอย่างรุนแรง เครียดจากการต้องอยู่บ้านไม่ได้ไปไหน จากญาติพี่น้องที่ป่วย อารมณ์ไม่พอใจเรื่องต่างๆรอบตัว และข่าวสารบ้านเมืองที่ดูเป็นลบตั้งแต่เช้าจนเย็น ทำให้อารมณ์หงุดหงิด โมโหเกิดขึ้น สะสมมากๆหลายคนก็อาจจะมีอาการ panic attack โดยที่ไม่รู้ตัวได้
ถ้าเริ่มมีอาการก็ต้องพยายามสังเกตว่าเป็น panic attack หรือโรคหัวใจ หรือติดโควิดจริงๆ ถ้าไม่ชัวร์ก็ต้องไปหาหมอ แต่ทางป้องกันประการสำคัญก็คือการออกกำลังสม่ำเสมอ และพยายามหลบเลี่ยงเรื่องเครียดๆ (ที่พูดง่ายทำยาก)
อย่างน้อยก็อ่านข่าว ไถฟีดน้อยลง และถ้าเป็น panic attack ขึ้นมา วิธีที่คุณหมอแนะนำในบทความก็เป็นสองทางที่พอจะบรรเทาอาการได้ จากประสบการณ์ตรงของผมเองนะครับ
โฆษณา