21 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
ไต้หวันทำได้ เปลี่ยนขยะเปลือกหอยเป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยม สร้างมูลค่านับหมื่นล้าน
ขยะเปลือกหอยนางรม ถือเป็นปัญหาที่สร้างความปวดหัวให้กับเมืองเจียอี้มานานนับร้อยปี แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันในการเปลี่ยนจากขยะให้กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดี ตามแนวคิดในแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
จนสามารถสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมในประเทศนับหมื่นล้าน ทำให้แม้แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไต้หวันอย่าง Formosa Plastic ยังเข้ามาร่วมใช้ประโยชน์
หอยนางรมน้ำนม ถือเป็นผลผลิตที่มีชื่อเสียงของเมืองเจียอี้ที่อยู่ทางภาคใต้ของไต้หวัน โดยสาเหตุที่ได้ชื่อนี้ก็เนื่องจากหากนำหอยนางรมของต.ตงสือ เมืองเจียอี้ไปตุ๋น น้ำซุปที่ได้จะมีสีขาวข้นราวกับน้ำนม ธุรกิจเกี่ยวกับหอยนางรมจึงเป็นธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญทางเศรษฐกิจของตำบลตงสือ ส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงหอยนางรมตั้งแต่ภาคกลางไปจนถึงภาคใต้พากันส่งผลผลิตของตัวเองมาดำเนินการต่อที่ตงสือ
ตั้งแต่การล้างไปจนถึงการแกะเนื้อ แต่หลังจากนั้น เมื่อเนื้อหอยถูกส่งต่อไปยังที่ต่างๆ เปลือกหอยที่กลายเป็นขยะก็ถูกทิ้งเอาไว้ที่นี่ ภาพกองขยะเปลือกหอยที่กองกันเป็นภูเขาขนาดย่อมๆ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วตำบลตงสือจึงเป็นภาพที่ชาวบ้านเห็นกันจนชินตา
สิ่งที่ตามมาไม่เพียงแต่จะเป็นมลภาวะทางสายตา ยังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว แถมยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดีที่ดึงดูดให้เหล่าแมลงวันรุมล้อมเข้ามาเป็นจำนวนมาก ขยะเปลือกหอยเหล่านี้จึงถือเป็นปัญหาใหญ่ของตำบลตงสือมาเป็นเวลานานนับร้อยปี ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นพยายามแก้ไขมาโดยตลอด
โดยนายจางเกินมู่ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมของเมืองเจียอี้ ได้ศึกษาถึงต้นตอของปัญหาและทำการแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการกับขยะเปลือกหอย เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ และร่วมมือกับบริษัท Taiwan Sugar Corporation ซึ่งเคยประสบความสำเร็จจากการพัฒนาอาหารเสริมสุขภาพจากหอยนางรม
ในการค้นคว้าวิจัยและพบว่า สามารถนำเปลือกหอยมาบดเป็นผงเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมได้หลายอย่าง ซึ่ง Formosa Plastic ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลของไต้หวันก็ได้นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก พร้อมทั้งเตรียมสร้างสายการผลิตขึ้นโดยเฉพาะเพื่อรองรับการผลิตในโรงงานที่เกาสงด้วย
นอกจากนี้ ผงเปลือกหอยยังถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสดิกที่มีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรีย และถูกนำไปใช้ผลิตรองเท้าแตะยี่ห้อ B&M ของไต้หวัน ซึ่งนักวิ่งมาราธอนชื่อดังของไต้หวัน คือ หลัวเหวยหมิง ได้สวมใส่หลังจากเข้าเส้นชัยในตำแหน่งรองชนะเลิศของการแข่งขันซูเปอร์มาราธอน 5,000 กม. ที่นิวยอร์กของสหรัฐฯ
โดย B&M เป็นรองเท้าแตะซึ่ง Formosa Plastic เป็นผู้ผลิตด้วย ซึ่งนายซุนหลิงหมิง ผู้บริหารของ Taiwan Sugar Corporation ชี้ว่า จากการวิจัยของทางบริษัทพบว่า ผงเปลือกหอยนางรมมีคุณสมบัติในการต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและสามารถขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ Formosa Plastic เปิดเผยว่า ด้วยคุณสมบัติในด้านการต่อต้านแบคทีเรียของผงเปลือกหอยนางรม ทำให้ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการวิจัยความเป็นไปได้ในการพัฒนาไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์
สำหรับมูลค่าทางการตลาดของเปลือกหอยนางรมรีไซเคิลนั้น นายจางเกินมู่ชี้ว่า หากคำนวณจากราคารองเท้าแตะของ B&W ที่คู่ละประมาณ 575 บาท โดยในการผลิตรองเท้าแตะ 2 คู่จะต้องใช้ผงเปลือกหอยนางรมในปริมาณ 1 กิโลกรัม
หากทำการรีไซเคิลเปลือกหอยปีละ 50,000 ตัน มูลค่าการผลิตต่อปีจะสูงถึง 57,500 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งนี่เป็นเพียงการคำนวณอย่างคร่าวๆ จากผลิตภัณฑ์ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้วเท่านั้น หากรวมถึงโอกาสที่จะถูกนำไปใช้งานในอนาคตด้วย ก็จะมีโอกาสทางการค้าที่สูงกว่านี้มาก
การสร้างความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองเจียอี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงหอย และผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง Taiwan Sugar และ Formosa Plastic ทำให้เปลือกหอยนางรมถูกยกระดับจากการเป็นเพียงเศษขยะ ให้กลายเป็นวัตถุดิบล้ำค่าในวงจรของเศรษฐกิจหมุนเวียน และสำหรับชาวตงสือแล้ว ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่พวกเขาได้รับคือ ต่อไปนี้ จะไม่ต้องทนกลิ่นเหม็นเน่าของขยะเปลือกหอยที่กองอยู่เต็มทั่วเมืองอีกต่อไป
1
การเปลี่ยนขยะให้กลายมาเป็นของที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในวงจรของเศรษฐกิจหมุนเวียน ความสำเร็จของไต้หวันในการเปลี่ยนขยะเปลือกหอยนางรมให้กลายมาเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับการผลิตสินค้า ทั้งการทำเม็ดพลาสติก รองเท้าแตะ รวมไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในอนาคตนั้น
ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างทั้งภาครัฐ เอกชนและเกษตรกร ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างคุณค่าในทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการช่วยชุมชนในการแก้ไขปัญหาไปพร้อมกับช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นให้ดีขึ้นไปด้วย
โดยผู้ประกอบการไทยสามารถมองหาโอกาสในการนำเศษขยะหรือของที่ไม่เป็นที่ต้องการ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในลักษณะเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนต่อไป
โฆษณา