19 ก.ย. 2022 เวลา 09:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"เมื่อนาซาสังเวยชีวิตยานอวกาศของตนเองลงโดยเจตนา"
นับเป็นเวลากว่า 5 ปีมาแล้ว ที่ยานอวกาศแคสสินีได้รับคำสั่งจากนาซา ให้ปรับวิถีโคจรพุ่งลงสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์อย่างไร้ปราณี โดยที่ตัวยานไม่อาจขัดขืนได้ ซึ่งในขณะที่ตัวยานกำลังลดระดับลงและเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานที่มากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น
ระบบคอมพิวเตอร์ของยานก็ได้พยายามจุดเครื่องยนต์ขับดันเพื่อรักษาให้จานส่งสัญญาณหันมาที่โลกตลอดเวลา ราวกับว่าตัวยานตั้งใจที่จะส่งข้อมูลไปยังโลกให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สุดท้ายยานอวกาศแคสซินี่ก็ได้พ่ายแพ้ต่อแรงโน้มถ่วงที่ทรงพลังของดาวเสาร์ในที่สุด ซึ่งทำให้ตัวยานหมุนแกว่งไปมาอย่างไร้ทิศทาง ก่อนที่จะระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ ภายใต้ท้องฟ้าของดาวเคราะห์ที่ขึ้นชื่อว่าสวยงามที่สุดในระบบสุริยะ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของดาวเสาร์ไปตลอดกาล
คำถามก็คือว่าทำไมนาซาถึงตัดสินใจทำแบบนั้น ? ทำไมต้องสั่งให้ยานอวกาศของตนสังเวยชีวิตลงในชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์กันเล่า ? แต่ก่อนที่เราจะมาตอบคำถามเรื่องนี้ เราก็มารู้จักกับยานอวกาศแคสสินี่เพิ่มเติมกันสักหน่อย
"ปล่อยตัวยานอวกาศแคสสินี่สู่เส้นทางมากกว่าพันล้านไมล์สู่ดาวเสาร์" เสียงศูนย์ควบคุมปล่อยจรวดของนาซากล่าว ท่ามกลางค่ำคืนหนึ่งในปี 1997 และหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือนต่อมาตัวยานก็ได้เดินทางมาถึงดาวศุกร์เพื่ออาศัยแรงเหวี่ยงของดาว (Gravity Assist) เร่งความเร็วไปยังดาวพฤหัสฯ ก่อนที่จะถึงที่หมาย ณ ดาวเสาร์ในช่วงต้นปี 2004 ในที่สุด
1
เดิมทีทางนาซานั้น ตั้งใจออกแบบยานอวกาศแคสสินีให้เป็นยานอวกาศลำแรกที่จะประจำการอยู่บนวงโคจรของดาวเสาร์เป็นระยะเวลาหลายปี แทนที่จะเป็นการบินโฉบผ่านไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับยานอวกาศวอยเอเจอร์ทั้ง 2 ในยุค 1970 เนื่องจากตัวยานแคสสินี่จะได้มีเวลาศึกษาดาวเสาร์และเหล่าดวงจันทร์น้อยใหญ่ได้โดยละเอียดมากกว่านั่นเอง
2
แต่ทว่าการที่จะประจำการอยู่บนวงโคจรของดาวเสาร์ที่ห่างจากโลกไปมากกว่า 1 พันล้านกิโลเมตรนั้น ก็ต้องแลกมากับระยะเวลาการเดินทางที่ยาวนานเกือบ 7 ปี อย่างช้า ๆ เมื่อเทียบกับยานอวกาศลำอื่น ๆ เพื่อที่จะสามารถใช้จรวดขับดันชะลอความเร็วของตัวยานให้มากพอ จนแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์จับให้มาอยู่บนโคจรโดยรอบได้
2
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายานอวกาศแคสสินี่ ก็ได้เปิดเผยเรื่องราวมหาศาลของดาวเสาร์กลับมาให้เราอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไล่ตั้งแต่การค้นพบวงแหวนวงใหม่ ไปจนถึงพายุรูปทรงหกเหลี่ยมขนาดยักษ์ ณ ขั้วเหนือของดาว อีกทั้งยานแคสซินี่ยังได้ส่งยานอวกาศขนาดเล็กที่ชื่อว่าฮอยเกนส์ลงไปสัมผัสกับพื้นผิวของดวงจันทร์ไททัน ซึ่งเป็นดวงจันทร์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศหนาแน่นอีกด้วย
อ่านเรื่องราว สัมผัสแรกของมนุษย์บนสถานที่ห่างไกลที่สุด การลงจอดของไฮเกนส์บนดวงจันทร์ของดาวเสาร์ได้ที่นี่ - https://spaceth.co/huygens-spacecraft/
1
แต่ทว่าการค้นพบที่น่าสนใจและตื่นเต้นที่สุดก็คงจะเป็น "น้ำพุร้อน" ที่กำลังพ่นออกมาจากพื้นผิวดวงจันทร์ "เอนซาลาดัส" ของดาวเสาร์ สูงขึ้นไปไกลกว่าหลายร้อยกิโลเมตรในอวกาศ ซึ่งให้ข้อมูลกับนักดาราศาสตร์บนโลกอย่างเป็นนัยสำคัญว่า ภายใต้เปลือกน้ำแข็งของดวงจันทร์ดวงนี้มีมหาสมุทรซุกซ่อนอยู่
1
และเมื่อทางนาซาได้สั่งให้ยานอวกาศแคสซินี่บินโฉบผ่านละอองน้ำ ที่พวยพุ่งออกมาจากดวงจันทร์เอนซาลาดัสดู ก็กลับปรากฏว่ามีโมเลกุลของสารอินทรีย์อยู่ในนั้น ซึ่งถือว่าเป็นแร่ธาตุตั้งต้นของสิ่งมีชีวิต โดยอาจมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรกว้างใหญ่ของดวงจันทร์เอนซาลาดัสอยู่ในปัจจุบัน
2
อ่านเรื่องราวของดวงจันทร์เอนซาลาดัสโดยละเอียดได้ที่ - https://spaceth.co/cassini-enceladus/
2
ถ้าหากวันใดวันหนึ่งเชื้อเพลิงจรวดขับดันของยานอวกาศแคสซินี่ได้หมดลงในขณะที่ลอยเคว้งอยู่บนวงโคจรของดาวเสาร์แล้วละก็ มันก็อาจมีโอกาสที่ตัวยานจะไปชนเข้ากับดวงจันทร์เอนซาลาดัสโดยบังเอิญ และไม่แน่ว่าเหตุการณ์นี้ก็อาจได้นำพาจุลินทรีย์ที่ติดมาจากโลกไปปนเปื้อนมหาสมุทรของเอนซาลาดัสโดยที่เราไม่รู้ตัว
3
ดังนั้นนาซาจึงไม่อาจเสี่ยงให้สิ่งมีชีวิตจากโลกไปแพร่พันธุ์หรือทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่อาจดำรงอยู่ภายใต้ผืนน้ำแข็งของดวงจันทร์ดวงนี้ได้ ทำให้ทางนาซาได้เริ่มวางแผนการยุติภารกิจของยานอวกาศแคสซินี่ลงอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อถึงช่วงเวลาเชื้อเพลิงจรวดขับดันเริ่มหมดลงในปี 2017 ถึงแม้ว่าระบบผลิตไฟฟ้าจากแร่ธาตุกัมมันตรังสีของยานจะสามารถอยู่ต่อได้อีกไปหลายสิบปีก็ตามที
3
โดยนาซาได้ขนานนามวาระสุดท้ายของแคสสินี่นี้ว่า Grand Finale ซึ่งตัวยานก็ได้เริ่มรับมอบหมายให้ดำดิ่งลงไปในช่องว่างระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวน เพื่อโคจรวนรอบไปมาหลายต่อหลายครั้ง จนแคสสินี่ได้เข้าไปใกล้ชิดกับดาวเสาร์อย่างที่ไม่เคยมียานอวกาศลำไหนสัมผัสมาก่อน ก่อนที่ไม่นานหลังจากนั้น ภาพของยานอวกาศก็ได้มลายหายไป กลายเป็นแสงสว่างวาบ ลุกจ้าอยู่เหนือท้องฟ้าสีครามที่ห่างจากโลกไปกว่า 1 พันล้านกิโลเมตร ซึ่งนับเป็นการจบภารกิจที่ยาวนานเกือบ 14 ปี ของยานอวกาศแคสซินี่ลงโดยสมบูรณ์
2
ถึงแม้ว่าวันเวลาจะผ่านมา 5 ปีมาแล้ว พวกเราจากจุดสีน้ำเงินซีดจางนี้ยังคงคิดถึงนายอยู่เสมอนะ
"Ad Astra per Aspera" เส้นทางสู่ดวงดาวนั้นล้วนเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่เพราะมันยากลำบาก จึงนำทางเราไปสู่ดวงดาวได้
1
โฆษณา