19 ก.ย. 2022 เวลา 13:48 • ประวัติศาสตร์
ย้อนกลับไปเมื่อ 53 ปีที่แล้ว ท่ามกลางช่วงเช้าของวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1969 ผู้คนมากกว่าหลายล้านคนทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาต่างเดินทางมายังเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งที่มีชื่อว่า ไททัสวิลล์ (Titusvile) ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์อวกาศเคนเนดี้ ในรัฐฟลอริด้า กันอย่างเนืองแน่น เพื่อที่จะเป็นสักขีพยานในการรับชมการปล่อยตัวจรวดของภารกิจอะพอลโล 11 ไปยังดวงจันทร์ โดยฝูงชนส่วนใหญ่มักจะจอดรถรอรับชมจรวดเรียงรายกันตามแนวชายฝั่งแม่น้ำ ซึ่งอยู่ห่างไปจากฐานปล่อยไปประมาณ 20 กิโลเมตรด้วยกัน
และในขณะเดียวกันนี้เอง ทางองค์กรนาซาก็ได้เชิญแขกระดับ VIP ส่วนหนึ่ง ให้ไปรับชมการปล่อยตัวจรวดบนอัฒจันทร์ในระยะใกล้ ซึ่งอยู่ห่างจากฐานปล่อยเพียงแค่ 5.5 กิโลเมตรเท่านั้น แถมนาซาก็ยังได้เตรียมบูธขายเครื่องดื่มและขนบขบเคี้ยวเอาไว้เป็นอย่างดีสำหรับแขกกลุ่มนี้อีกด้วย โดยทางทีมงานสำนักข่าว Orlando Sentinel ก็ได้รายว่าคนที่ได้รับเชิญไปในกลุ่ม VIP นี้ มีตั้งแต่ ครอบครัวของนักบินอวกาศ คณะรัฐบาล อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ หัวหน้าบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ 275 บริษัท และตัวแทนฑูตจาก 69 ประเทศตัวโลก
ซึ่งส่วนมากประเทศที่ได้รับเชิญจะเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯในทวีปอเมริกาและยุโรป ไม่ว่าจะเป็นประเทศคอสตาริกา อาร์เจนตินา ฝรั่งเศส สวีเดน หรือแม้แต่ประเทศในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เองก็ได้รับเชิญไป โดยสังเกตได้จากแนวธงชาติที่ประดับเรียงรายอยู่ตามจุดรับชมในวันปล่อยตัวภารกิจอะพอลโล 11
แต่ทว่าในวันนั้นเอง ก็กลับไม่มีธงชาติหรือแม้แต่รายชื่อของฑูตจากประเทศไทยอยู่ในรายการรับเชิญของนาซาเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่ไทยเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯในช่วงสงครามเวียดนามอยู่ในขณะนั้น โดยอาจเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองบางอย่างที่ยังคงไม่ได้รับการเปิดเผยมาจนถึงปัจจุบัน
1
ถึงกระนั้นเราก็ยังพอมีประสบการณ์จากที่กลุ่มแขก VIP ที่เล่าสู่กันฟังมาบ้างว่าเหตุการณ์ในวันปล่อยตัวนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เช่นแขก VIP พร้อมใจกันบ่นเป็นเสียงเดียวว่าอากาศนั้นร้อนมาก ๆ แต่ทางนาซาก็กลับไม่มีที่บังแดดให้เลย อีกทั้งเครื่องดื่มที่เอามาขายก็เตรียมมาไม่พอต่อความต้องการอีก
จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาที่จรวดเริ่มจุดชนวน แขก VIP ทั้งหลายก็ดูเหมือนจะลืมเรื่องที่เคยบ่นไป แล้วโห่ร้องดีใจกับไปพร้อมกับแรงสั่นเทือนและเสียงคำรามกึกก้องจากเครื่องยนต์ที่เดินทางมาถึงบริเวณอัฒจันทร์แทน ก่อนที่พวกเขาจะจ้องมองลูกเรือภารกิจอะพอลโล 11 ทั้งสามคนทะยานขึ้นสู่อวกาศอย่างไม่ละสายตา
2
โดยในช่วงปี 1969 หรือ พ.ศ. 2512 ที่ยานอะพอลโล 11 ปล่อยตัว ประเทศไทยก็กำลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยที่ไม่ได้มีผู้คนจากทางการไทยเข้าไปประจักษ์สายตาในเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งนั้น
7
โฆษณา