26 ก.ย. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
เธอเกิดที่ปากช่อง เมื่ออายุหนึ่งสัปดาห์ พ่อแม่นำเธอไปทิ้งไว้ที่วัดแห่งหนึ่ง ผ้าห่อหุ้มร่างน้อยเห็นแต่ใบหน้า
เมื่อพระเปิดผ้าที่หุ้มเธอออก ก็พบว่าทารกหญิงไม่มีขาทั้งสองข้าง
ทารกเกิดมาไม่ครบสามสิบสอง พ่อแม่จึงนำเธอไปทิ้ง
พระในวัดช่วยเลี้ยงทารกจนสองขวบ แล้วส่งต่อให้โรงพยาบาลที่กรุงเทพฯดูแล ระหว่างที่พยายามหาครอบครัวให้เด็ก สามีภรรยาชราคู่หนึ่งซึ่งเธอเรียกว่าปู่กับย่าเลี้ยงเธอ จนเมื่ออายุได้ห้าขวบ ก็มีชาวอเมริกันคู่หนึ่งรับเธอเป็นลูกบุญธรรม พาไปที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
นี่คือบทที่หนึ่งของชีวิต กันยา เซสเซอร์
สำหรับคนอื่น ๆ ที่เกิดในสภาพพิการและถูกทอดทิ้ง นี่ย่อมเป็นคำสาป แต่สำหรับเธอ ความไม่สมประกอบเป็นเพียงข้อแม้ข้อหนึ่งของชีวิต
โชคดีที่ใต้เงามืด เธอมองโลกในด้านดี สดใส
หลายปีให้หลัง กันยาเขียนว่า “ตั้งแต่เล็ก วิธีที่ฉันจัดการกับชีวิตคืออยู่โดยปราศจากข้อจำกัด และไม่กลัวที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ แม้ว่าจะมีบางอย่างที่ฉันไม่อาจทำได้จริง ๆ ก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หยุดฉันให้ลองพยายามทำ และหาทางทำในหนทางของฉันเอง”
1
เธอใช้ชีวิตเกินศักยภาพของเธอไปหลายเท่า
เด็กหญิงไร้ขาชอบเดินทางไปไหนมาไหนด้วยสเกตบอร์ดมากกว่ารถเข็น และพยายามเดินด้วยสองมือ
1
กันยาชอบเล่นกีฬา ตั้งแต่เล็กเธอหัดเล่นสเกตบอร์ด ว่ายน้ำ กระดานโต้คลื่น โมโนสกี เทนนิส รักบี้รถเข็น บาสเกตบอลรถเข็น แข่งรถเข็นคนพิการ เบรก แดนซ์ ฯลฯ และเล่นได้ดี
2
เธอเข้าแข่งรถเข็นคนพิการ 100, 200 และ 400 เมตรที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยอะริโซนาที่เธอเรียน
1
ไร้ขามิใช่ไร้ข้อจำกัด!
2
นี่คือบทที่สองของชีวิต กันยา เซสเซอร์
ตอนอายุสิบห้า กันยาก็ก้าวไปอีกขั้น เธอเริ่มถ่ายแบบให้สินค้ากีฬา หลังจากนั้นก็ได้รับการทาบทามให้ถ่ายชุดชั้นในและเสื้อผ้า
ภาพถ่ายชุดชั้นใน เสื้อผ้า เครื่องกีฬาของเธอ ซึ่งเป็นสินค้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่ สร้างความสนใจแก่คนทั้งโลก มันเปลี่ยนภาพลักษณ์ของวงการแฟชั่นไปตลอดกาล ทันใดนั้นภาพของเธอก็ปรากฏในนิตยสารต่าง ๆ ทั่วโลก
เธอบอกว่าการถ่ายภาพสินค้าและชุดชั้นในสตรี “อนุญาตให้ฉันเปลี่ยนกรอบคิดของคนทั่วไปเกี่ยวกับความพิการ”
1
โลกของนางแบบยังขาดความหลากหลายอย่างมาก ทั้งเชื้อชาติ สีผิว อายุ ส่วนใหญ่เป็นแบบเดียวกันหมด
“ฉันชอบแสดงตัวตนของฉันในทางที่แตกต่างจากที่คนอื่นปกติมอง นี่คือฉัน”
1
การเป็นนางแบบที่ไม่เหมือนคนที่มีร่างกายครบสามสิบสอง ย่อมสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้วงการ มันเป็นการจุดกระแสอย่างหนึ่งว่า คนพิการก็ทำได้ทุกอย่างเหมือนคนปกติ
ไร้ขามิได้ไร้ความสวย
1
เธอบอกว่า “มีคนไม่มากนักมั่นใจที่จะพบความจริงว่า ตัวตนภายในของคุณแข็งแกร่งแค่ไหน คนส่วนมากปิดกั้นตัวเองเพราะสังคมทำให้พวกเขารู้สึกประหลาดในสถานการณ์ที่พวกเขาอยู่ คุณต้องสร้างทางที่แตกต่างสำหรับคุณเอง เพราะไม่มีใครทำมันเพื่อคุณ”
กันยาพิสูจน์ว่าความสวยงามไม่จำเป็นต้องมาจากร่างกายที่สมบูรณ์เสมอไป มันอาจมาจากความแข็งแรง การสู้ชีวิต จิตใจที่มั่นคง ความมั่นใจในตัวเอง
กันยากำลังบอกคนทั้งหลายด้วยการกระทำว่า มาตรฐานของความสวยแบบเดิมนั้นไม่สมจริง อย่าให้มาตรฐานของสังคมเป็นสิ่งกำหนดตัวตนที่แท้จริงของเรา
เธอไม่คิดจะยึดอาชีพนางแบบ เธอทำเพราะรู้สึกสนุก เธอบอกว่า “มันเล่าเรื่องของฉันว่า ฉันแตกต่าง และนั่นก็คือเซ็กซี่ ฉันไม่ต้องมีขาเพื่อรู้สึกเซ็กซี่”
เธอฝึกหนักเพื่อหวังจะได้ร่วมทีมชาติสหรัฐฯ เข้าแข่งขันโมโนสกี พาราลิมปิก ปี 2018 ที่เกาหลี
“ชีวิตมีค่า และเรามีชั่วขณะนี้เท่านั้น ชีวิตเดียว ไร้ขา ไร้ขีดจำกัด”
1
นี่คือบทที่สามของชีวิตของ กันยา เซสเซอร์
2
บทที่สี่ของชีวิตเธอคือก้าวเข้าไปในโลกภาพยนตร์ ในวัยสิบห้า เธอเข้าสู่วงการแสดง เป็นนักแสดงรับเชิญในหนังโทรทัศน์เรื่อง Code Black (2015)
ฮอลลีวูดมักใช้คนปกติเล่นบทคนพิการ โอกาสที่คนร่างกายพิการจะรับบทที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้คนพิการเล่นนั้นน้อยมาก
ในปี 2016 หนังโทรทัศน์ซีรีส์ Hawaii Five-0 ตอน He Moho Hou (S7 E3) เป็นเรื่องของตัวละครชื่อ Rosey Valera ผู้สูญเสียขาทั้งสองในสงคราม ผู้สร้างต้องการตัวละครที่พิการจริง ๆ
1
อีกครั้ง การปรากฏตัวของกันยาในหนังเปลี่ยนกรอบคิดในโลกภาพยนตร์
ชีวิตของกันยาทั้งชีวิตหลุดจากกรอบเดิมที่ขีดเส้นว่า คนไม่ครบสามสิบสองควรยอมรับชะตากรรม
เธอปฏิเสธความเชื่อนี้ เป็นตัวของตัวเอง ยอมรับข้อแม้ที่โลกประทานให้ แล้วเดินหน้าอย่างสง่างาม
2
“เมื่อฉันมองชีวิต มันไม่มีความพิการ ฉันไม่เห็นว่านั่นคือความพิการ เพราะแม้ว่าฉันไม่มีขาทั้งสองข้าง ไม่มีอะไรที่ฉันทำไม่ได้ ฉันโชคดีที่มีสิ่งที่ฉันมี และนั่นก็คือทั้งหมดที่สำคัญ”
3
เธอเกิดมาไม่ครบสามสิบสอง แต่เธอใช้ชีวิตมากกว่าสามสิบสองหลายเท่า
1
จากหนังสือใหม่ล่าสุด มากกว่าสามสิบสอง วันนี้มี pre-sale promotion พิเศษสุด สั่งได้ที่เว็บ winbookclub.com และ Shopee (ค้นคำ namol113)
โฆษณา