24 ก.ย. 2022 เวลา 05:54 • ข่าวรอบโลก
รู้ไว้ก่อนปลูก !!! ไม้มีค่า ใช้เวลากี่ปี ก่อนได้รับผลตอบแทนแก่ผู้ปลูก
3
หลังจากที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา ได้สนับสนุนให้ประชาชนชาวไทยทุกภาคของประเทศไทย ที่มีพื้นที่ช่วยกันปลูกต้นไม้ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี และธรรมชาติที่ดีนั้น โดยนอกจากการปลูกต้นไม้ธรรมดาทั่วไปแล้ว ยังแนะนำให้ปลูก ไม้มีค่า ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ ในอนาคตอีกด้วย สำหรับไม้มีค่าที่เติบโตได้ดีในแต่ละภูมิภาคนั้น สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต และเป็นหลักประกันค้ำเงินกู้ธนาคาร ตามข้อมูลดังนี้ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ หมายถึง ไม้ยืนต้นทุกชนิด
รวมถึงไผ่ที่ปลูก หรือขึ้นเอง ตามธรรมชาติและอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ที่มีการใช้ประโยชน์เนื้อไม้ และ/หรือ ผลิตผลอื่นที่ไม่ใช่เนื้อไม้เพื่อการค้า รัฐบาลได้กำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถใช้เป็นทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ โดยสามารถนำมาค้ำประกันการกู้ยืมเงิน หรือขอสินเชื่อได้ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เพียงยื่นขอจดทะเบียน ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจากข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจ
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ระบุว่า มีการจดทะเบียนนำต้นไม้มาเป็นหลักประกัน ทั้งสิ้น 146,282 ต้น เป็นจำนวนเงินค้ำประกัน 137,117,712 บาท โดยพี่น้องประชาชน สามารถขอรับกล้าไม้ จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปปลูกได้ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
สูงสุดถึง 1,000 ต้น/ปี ใช้เอกสารเพียงแค่ บัตรประชาชน และสำเนาการถือครองที่ดิน (พื้นที่ที่ต้องการปลูก) โดยผู้ขอรับกล้าไม้ ต้องยื่นคำขอ และมาขอรับกล้าไม้ด้วยตนเอง ได้ที่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ สถานีเพาะชำกล้าไม้ กรมป่าไม้
สามารถ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.forest.go.th/.../%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1.../
สำหรับ รายงานฉบับสมบูรณ์ ยุทธศาสตร์และแผนงานการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบครบวงจร (พ.ศ.2561-2579) โดยกรมป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทย มีมูลค่าการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ประมาณ 44,000 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 96,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นธุรกิจอุตสาหกรรมป่าไม้ จึงเป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย โดยระยะเวลาการได้รับผลตอบแทนของไม้มีค่า
อาจแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ ไม้โตเร็ว คือ ไม้รอบตัดฟันสั้น (5-15 ปี) เช่น กระถินเทพา ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ มะฮอกกานี สะเดาเทียม สน ไผ่ เป็นต้น หากตัดฟันในปีที่ 5 จะทำรายได้ 5,000 - 10,000 บาท/ไร่ หากรอถึงปีที่ 10-15 จะทำรายได้ประมาณ 16,000 บาท/ไร่ ไม้โตช้า คือ ไม้รอบตัดฟันยาว (15-30 ปี) เช่น สัก ประดู่ ชิงชันแดง มะค่าโมง ตะเคียนทอง พะยูง ยางนา เป็นต้น หากตัดฟันในปีที่ 15 จะทำรายได้ 170,000 บาท/ไร่ หากรอถึงปีที่ 30 จะทำรายได้ประมาณ 1,200,000 บาท/ไร่
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สำหรับไม้มีค่าที่เป็นไม้ยืนต้น ชนิดมีวงปีในเนื้อไม้ สามารถสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตระหว่างทางก่อนการตัดฟันจำหน่ายได้ทุกๆปี ผ่านตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตอีกด้วย โดยปัจจุบัน ราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย พุ่งสูงถึง 120 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก
หากมีการผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมสภาพภูมิอากาศ Climate Act ซึ่งจะทำเปลี่ยนตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตในปัจจุบันที่เป็นภาคสมัครใจ ไปเป็นภาคบังคับ โดยพี่น้องประชาชนหรือภาคเอกชน ที่สนใจแลกเปลี่ยนซื้อขาย คาร์บอนเครดิต สามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่ www.tgo.or.th
โฆษณา