24 ก.ย. 2022 เวลา 09:39 • ความคิดเห็น
[Classic Post]: สอนปลาให้ปีนต้นไม้
“Everybody is a genius. But if you judge a fish by its ability to climb a tree, it will live its whole life believing that it is stupid.”
1
ทุกคนล้วนเป็นอัจฉริยะ แต่ถ้าเราตัดสินปลาโดยดูว่ามันปีนต้นไม้เก่งแค่ไหน มันก็คงจะเข้าใจว่าตัวเองโง่ไปตลอดชีวิต
2
– Anonymous*
—–
ผมเป็นเด็กเรียนดีมาแต่ไหนแต่ไร
ขึ้นต้นอย่างนี้ ไม่ใช่เพื่อจะยกหางตัวเอง แต่เพื่อจะเปิดประเด็นคุยเรื่องการศึกษา
ความหมายของเด็กเรียนดี คือเด็กที่สอบได้เกรด 4 หลายๆ วิชา
และเกรด 4 ของแต่ละวิชาก็มีชื่อชั้นไม่เท่ากันซะด้วย
ถ้าคุณได้เกรดสี่วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คนจะมองว่าคุณเป็นเด็กเรียนดี
แต่ถ้าคุณได้เกรดสี่วิชาพละศึกษา วิชาสุขศึกษา วิชาศิลปะ ผมไม่แน่ใจว่าคนจะมองว่าคุณเป็นเด็กเรียนดีรึเปล่า
ผมเองโชคดีที่เก่งวิชาในกลุ่มแรก ก็เลยถูกจับให้อยู่ห้องคิง
ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีหลายวิชาที่ผมไม่ถนัด โดยเฉพาะวิชาการงานและพื้นฐานอาชีพ (กพอ.) ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่น่าจะมีแล้ว
ผมมีความทรงจำไม่ค่อยดีเกี่ยวกับวิชานี้ เพราะอาจารย์มักจะให้งานมาเป็นโปรเจ็ค ไม่ว่าจะเป็นงานเย็บปักถักร้อยหรืองานประดิดประดอยของใช้จากของเหลือในบ้าน ซึ่งแน่นอน ผมผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย พอถึงวันต้องส่งงาน ผมก็จะไปมือเปล่าและใส่กางเกงสามชั้นเพื่อลดอาการเจ็บตูดตอนโดนครูตี
นี่ถ้าไม่ได้น้าสาวหรือเพื่อนยื่นมาเข้ามาช่วยทำงานส่ง ผมอาจจะได้เกรด 0 วิชานี้และอาจจะต้องเรียนซ้ำชั้นก็ได้
ถ้าผมอยู่ในโลกที่วิชากพอ.เป็นวิชากระแสหลัก ส่วนเลขเป็นวิชากระแสรอง ผมคงโดนตีตราว่าเป็นเด็กหัวทึบหรือเด็กมีปัญหาไปแล้ว
—–
เคยอ่านเจอที่ไหนซักที่ ว่าสิ่งเดียวที่คะแนนสอบบอกเรา คือความเก่งเรื่องการทำข้อสอบ (The only thing that the exam score measures is how good you are at answering exam questions)
ถ้าให้ขยายความก็คือ ต่อให้คุณทำข้อสอบวิชาหนึ่งเก่ง ก็ใช่ว่าคุณจะเก่งวิชานั้นจริงๆ ซะหน่อย
ผมเองก็ตกอยู่ในจำพวกทำข้อสอบเก่งอีก ไม่ว่าจะ TOEFL หรือวิชาฟิสิกส์ ผมมักจะได้คะแนนดีกว่าเพื่อนร่วมชั้นเสมอ
แต่พอถึงเวลาต้องพูดคุยกับฝรั่ง ผมกลับรู้สึกว่าเพื่อนที่สอบ TOEFL ได้คะแนนเพียงกลางๆ กลับสามารถพูดคุยสื่อสารกับฝรั่งได้เป็นธรรมชาติกว่าผม
ส่วนเพื่อนที่เรียนจบวิศวะมาด้วยกัน แม้จะได้เกรดเฉลี่ยสองกว่าๆ แต่ก็มีความรู้ ความสามารถด้านวิศวกรรมมากกว่าผมอย่างเทียบไม่ติด
และเพราะว่าการทำข้อสอบเก่งไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราเก่งจริงนี่เอง นักเรียน “หัวดี” มากมายที่เรียนจบไปแล้ว จึงมักจะลงเอยด้วยการเป็นลูกน้องของคนที่เคยเป็นนักเรียน “หัวทึบ” มาก่อน
1
สถานการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยมากจนต้นตำรับพ่อรวยสอนลูกอย่างคุณโรเบิร์ต คิโยซากิหยิบเอามาเขียนเป็นหนังสือชื่อว่า Why “A” Students Work for “C” Students
ซึ่งนั่นก็ยิ่งตอกย้ำคำถามที่ผมเคยเขียนลงบล็อกตอนสิ้นปีว่า หรือโรงเรียนจะเป็นเพียงโรงงานฝึกทาส?
ยิ่งเรียนเก่งเท่าไหร่ยิ่งเป็นทาสที่มีคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น
—–
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงคิดว่าผมกำลังโจมตีการศึกษาไทยอีกแล้ว
จริงๆ นั่นไม่ใช่เจตนาของการเขียนบทความนี้ครับ
เจตนาของผมคือเขียนเอาไว้เตือนตัวเอง
ว่าการวัดผลทางการศึกษายังขาดประสิทธิผล แถมแต่ละวิชายังถูกให้คุณค่าไม่เท่ากันอีก
ดังนั้นการเป็น “เด็กเก่ง” ที่โรงเรียนไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่แม่นยำว่าเขาจะโตมาเป็น “ผู้ใหญ่เก่ง”
การที่ลูกสอบไม่ได้เกรดสี่เลย จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลให้มากจนเกินเหตุ
และยังมีทักษะและนิสัยอีกมากมายที่สำคัญ แต่ไม่เคยถูกสอนและวัดผลกันแบบจริงจัง
ความมีน้ำใจ
การทำงานกันเป็นทีม
ความเสียสละ
ความมีระเบียบวินัย
ความคิดสร้างสรรค์
ความกล้าลงมือทำ
ความใฝ่รู้
ความมีสติ
จริยธรรม
เราผ่านยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมานานแล้ว คนที่จะประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่คนที่ทำตามใบสั่งหนึ่งสองสามสี่
คนที่จะประสบความสำเร็จ คือคนที่กล้าคิดต่าง กล้าตั้งคำถาม และที่สำคัญที่สุดคือกล้าริเริ่มลงมือทำสิ่งที่เขาถนัดและมีคุณค่ากับคนอื่น
ในฐานะพ่อแม่/ผู้ปกครอง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะไม่เผลอคาดหวังให้ปลาปีนต้นไม้
เราต้องรู้ว่าลูกเราถนัดด้านไหน และอะไรที่ถูกจริตเขา
ถ้าเขาเป็นปลาที่เก่งว่ายน้ำ ก็ควรจะสนับสนุนให้เขาว่ายน้ำให้ได้ดีที่สุด ไม่ใช่บังคับให้เขาไปปีนต้นไม้เพียงเพราะว่าสังคมกระแสหลักบอกว่าต้องปีนต้นไม้ถึงจะดี
ถ้าลูกของเราได้พัฒนาจุดแข็งของตัวเองอย่างเต็มที่ เขาก็จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความสุข และจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างมหาศาล
ก็ได้แต่หวังเหลือเกินว่า เมื่อลูกถึงวัยเข้าโรงเรียน ผมจะไม่ลืมสิ่งที่เขียนในวันนี้
—–
* แต่ก่อนผมนึกว่านี่เป็นคำพูดของ Einstein แต่เมื่อลองดูที่ Quote Investigator แล้วคิดว่าไม่น่าจะใช่ครับ
Anontawong's Musings Classic Post from January 2016
โฆษณา