25 ก.ย. 2022 เวลา 02:04 • ปรัชญา
มธุรสวาจา
หลายๆครั้งที่เราสนทนากับใครบางคน เวลาแทบจะผ่านไปไม่รู้ตัว มีความเพลิดเพลินมีสาระรวมถึงความชื่นชมนับถืออยู่ในนั้น ทำให้อยากเป็นมิตรอยากรู้จักมากขึ้นไปอีก และก็หลายครั้งเช่นกันที่เราแทบจะหนีไปไกลๆหรือไม่อยากรับโทรศัพท์กับบางคนที่คุยแล้วรู้สึกหม่นหรือแย่ๆอยู่ในบทสนทนานั้น หรือแม้กระทั่งรู้ได้ถึงความประสงค์ร้ายที่ไม่อยากพบอยากเจออยากคุยเลยด้วยซ้ำ
1
การที่เราจะมีมธุรสวาจา หรือแปลตรงๆว่าวาจาที่น่าฟัง อ่อนหวาน น่าเป็นมิตร นอกจากน้ำเสียงแล้ว เนื้อหาในนั้นก็เป็นส่วนสำคัญมากๆ แต่ก่อนที่จะไปถึงว่ามธุรสวาจาที่คนทั่วไปชอบฟัง ความเข้าใจว่าอะไรที่คนไม่ชอบฟัง ฟังแล้วทำให้เราเป็นคนน่าเบื่อหรือแม้กระทั่งน่ารังเกียจก็น่าที่จะรู้ไว้เช่นกันเพื่อที่จะได้พยายามหลีกเลี่ยงไม่เป็นผู้พูดผรุสวาจานั้นเองด้วย
1
ฟัง ted talk ที่มีชื่อหัวข้อว่า How to speak so that people want to listen โดยคุณ Julian Treasure ซึ่งมีบางส่วนที่คุณจูเลี่ยนเล่าไว้น่าสนใจ คุณจูเลี่ยนตั้งหัวข้อสนุกๆไว้ว่ามีบาปเจ็ดประการที่ผู้พูดควรจะหลีกเลี่ยงเพราะมันทำให้คนไม่ค่อยอยากฟัง อยากมีบทสนทนากับเรา บาปเจ็ดประการนั้นประกอบด้วย
1
การนินทา (Gossip) เพราะคนที่ชอบพูดนินทาคนกับเราก็น่าจะอนุมานได้ว่า อีกประเดี๋ยวก็จะไปนินทาเราให้คนอื่นฟังอย่างแน่นอน คุยไปก็เสียวไปว่าจะโดนไปเป็นหัวข้อเม้าต่อไปอีก
การตัดสินคนไปล่วงหน้า (judging) คือพูดอะไรก็ด่วนสรุปไปแล้วว่าเราต้องเป็นคนแบบนั้นแบบนี้โดยไม่ฟังเหตุผลหรือใจกว้างพอที่จะมองมุมอื่นหรือเหตุผลอื่น คุยด้วยก็จะหงุดหงิดว่าไม่ฟังเหตุผลอะไรกันบ้างเลย
การมองโลกแบบลบๆ (negativity) พูดอะไรก็ลบไปหมด คุณจูเลียนยกตัวอย่างขำๆถึงแม่เขาว่าแค่พูดว่าวันนี้วันที่ 1 นะ แม่ซึ่งมองโลกในแง่ลบยังตอบว่าเออแย่จังนะ ใครคุยด้วยก็ซึมเศร้าตามกันหมด
พูดไปบ่นไป (Complaining) การบ่นโน่นบ่นนี่ นั้นเหมือนเป็นไวรัลด้านการกระจายความเศร้าหมอง คุณจูเลียนบอกแบบนั้น ลองนึกถึงคนช่างติ เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด บ่นทุกเรื่อง ใครได้คุยด้วยก็ส่ายหน้า หนีได้ก็อยากหนีไปไกลๆ
พูดแก้ตัว (Excuses) คุณจูเลียนเรียกว่าเป็นพวก Blamethrower คือโยนความผิดให้คนอื่น ฟังแล้วก็เหนื่อยใจ ไม่มี solution มีแต่แก้ตัวและโทษโน่นโทษนี่
พูดเว่อร์เกินจริง (Exaggerate) พูดเกินจริงมากๆนี่ใกล้เคียงกับการโกหก คนฟังแล้วก็หน่ายใจอยู่ถึงความเว่อร์ ฟังไปก็ต้องหารสองหารสามกันไป ไม่รู้ว่าจริงเท็จคืออะไร
ดื้อเอาตัวเองเป็นหลัก (Dogmatism) การพูดผสม fact กับความเห็นที่เอาตัวเองเป็นหลัก ตัวกูของกู ความเห็นของเราเท่านั้นที่ถูกแล้วเถียงหัวชนฝา คุยแล้วแทบจะไปไม่เป็น ยิ่งคุยยิ่งเหนื่อยกับความดื้อรั้น
บาปเจ็ดข้อที่คุณจูเลียนเล่ามา คิดตามก็เห็นจริงว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องที่ผมไม่ชอบอยู่ในวงสนทนาแบบนั้นทั้งสิ้น และก็ต้องเตือนตัวเองบ่อยๆให้มีเจ็ดข้อนี้น้อยที่สุดเวลาเราพูดคุยกับใคร คนส่วนใหญ่รวมถึงผมก็อาจจะไม่สามารถลบบาปทั้งเจ็ดได้หมด แต่ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้ระมัดระวังตัวเองได้ดีเช่นกันให้คิดก่อนที่จะพูดอะไรออกไป
นอกจากด้านลบแล้ว คุณจูเลียนยังได้พูดถึงสี่เสาหลักแห่งการพูดที่คนอยากฟัง หรือผมเรียกว่ามธุรสวาจา ในความหมายของผมเองซึ่งมากกว่าแค่พูดเพราะๆหวานๆเท่านั้น ซึ่งคุณจูเลียนเรียกตัวย่อของสี่ข้อนี้ว่า
HAIL อันประกอบด้วย การพูดอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน ไม่เว่อร์ (honesty) การพูดด้วยการเป็นตัวของตัวเอง ไม่ปั้นแต่ง ไม่พยายามสร้างภาพอะไรเกินจริง (authenticity) การพูดด้วยความจริง ไม่ดื้อ ไม่บิดเบือน (integrity) และข้อสุดท้ายที่ผมว่าสำคัญที่สุดก็คือการพูดด้วยความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง (love) ที่ผมเคยเขียนไว้และอยากเรียกข้อนี้ว่า มุทิตาจิต ที่มีต่อผู้ฟัง
ใครที่คุยด้วยความหวังดีที่มีต่อเรา คุยกันสบายๆไม่เว่อวัง ดูเป็นคนจริง ตรงๆ พูดอะไรก็เชื่อได้ว่าเขาจะไม่ทำร้ายเรา ก็เป็นพื้นฐานที่เราก็น่าจะอยากคุยอยากรู้จักด้วยมากๆ และในทางกลับกัน ถ้าเรามีคุณสมบัติเหล่านี้ในบทสนทนา คนก็น่าจะอยากคุยกับเราเหมือนกัน
ผมอยากเติมเองอีกข้อหนึ่งซึ่งสำคัญมากๆจากประสบการณ์ผมโดยเฉพาะบริบทแบบไทยๆก็คือความอ่อนน้อมถ่อมตน (humble) มีน้องที่เก่งๆหลายคนที่ผมเคยเจอแต่ไม่น่าส่งเสริมหรือคุยด้วยก็เพราะความหยิ่งยโสที่อยู่ในบทสนทนานั้น แต่มีน้องอีกหลายคนเช่นกันที่มีสัมมาคารวะในความเก่งนั้นเป็นจุดเสริมที่น่ารักเป็นอย่างมาก ผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จที่น่าเคารพมากๆหลายท่านก็มีเรื่องนี้เป็นเสน่ห์เช่นกัน
บาปเจ็ดประการกับสี่เสาหลักของคุณจูเลียนในเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งของชีวิตคนเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องครอบครัว ก็คือการพูดให้คนอยากฟัง การมีวาจาที่เป็นบวก มีประโยชน์ หวังดีและยกระดับบทสนทนาให้เป็นความสุข ความเพลิดเพลินใจในหมู่คนที่เรารักใคร่ชอบพอ น่าจะเป็นทักษะประการหนึ่งที่ควรจะบังคับตัวเองและสังเกตตัวเองไว้
…………..
เรื่องนี้พาให้ผมนึกไปถึงกลอนของสุนทรภู่อยู่ตอนหนึ่งจากนิราศภูเขาทอง ซึ่งน่าจะสรุปความสำคัญของบทสนทนาที่ดีได้เป็นอย่างดี
"ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา"
เช้านี้เริ่มด้วยมธุรสวาจากับคนรอบข้างกันดูนะครับ….
โฆษณา