26 ก.ย. 2022 เวลา 13:02 • หนังสือ
หากคุณกำลังตัดสินใจเรื่องลงทุนอยู่ล่ะก็....
สรุปหนังสือ The Psychology of Money ตอนที่ 18
ในสัปดาห์ที่แล้ว แอดก็ได้เล่าถึงบทที่ 17 ของจิตวิทยาว่าด้วยเงินไปแล้ว นั่นคือเรื่องของ “ความเย้ายวนของการมองโลกในแง่ร้าย” ค่ะ
ในสัปดาห์นี้ แอดก็จะมาเล่าต่อในบทที่ 18 ว่าด้วยเรื่องของ “เวลาที่คุณมีความเชื่อในเรื่องใดก็ตาม” เนื้อหามีดังนี้
Topic:
1) เรื่องเล่าเป็นพลังที่ทรงอำนาจมากที่สุดในเศรษฐกิจ
2) สิ่งที่ต้องระลึกเกี่ยวกับเรื่องเล่าในเวลาที่คุณกำลังบริหารจัดการเงินของคุณ
มาเริ่มกันเลยค่ะ!
เวลาที่เราคิดเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การลงทุน และอาชีพ เรามีแนวโน้มที่จะคิดถึงสิ่งที่สามารถจับต้องได้ เรามีของอยู่มากแค่ไหนและเรามีความสามารถที่จะทำอะไรได้บ้าง?
แต่เรื่องเล่าต่างๆ นั้นเป็นพลังที่ทรงอำนาจมากที่สุดในเศรษฐกิจ พวกมันเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงที่สามารถทำให้ส่วนที่จับต้องได้ของเศรษฐกิจนั้นทำงาน หรือเป็นเบรกที่สามารถฉุดรั้งความสามารถของเราเอาไว้
ชุดข้อมูลที่จำกัดและเดิมพันในระดับที่สูงส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเงินของพวกเราอย่างไร? ทำไมผู้คนถึงรับฟังความคิดเห็นด้านการลงทุนในทีวีที่มีบันทึกประวัติความสำเร็จแค่เพียงน้อยนิด?
เฮาเซิลบอกว่า...
ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะการเดิมพันในการลงทุนนั้นสูงมาก หากคุณเลือกหุ้นจำนวนหนึ่งได้ถูกต้องคุณก็สามารถที่จะร่ำรวยได้โดยที่ไม่ต้องออกแรงมากนัก
ถ้าหากมีโอกาสที่การทำนายของใครบางคนจะเป็นจริงแค่ 1% และถ้าหากเป็นจริงมันจะเปลี่ยนชีวิตของคุณ มันก็ไม่ใช่เรื่องบ้าที่คุณจะให้ความสนใจ เผื่อว่าคุณอาจจะได้เป็นคนๆ นั้น และมันยังมีความคิดเห็นทางการเงินอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
ทันทีที่คุณตัดสินใจเลือกข้างหรือเลือกกลยุทธ์ นั่นหมายความว่าคุณกำลังลงทุนในสิ่งนั้นทั้งทางด้านการเงินและจิตใจ
ถ้าคุณต้องการให้หุ้นใดหุ้นหนึ่งขึ้น 10 เท่า นั่นคือฟากของคุณ ถ้าคุณคิดว่านโยบายเศรษฐกิจบางอย่างจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง นั่นคือข้างที่คุณเลือก
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการเดิมพันที่มีอัตราความเป็นไปได้ต่ำ ปัญหาก็คือ ผู้ที่กำลังมองดูนั้นไม่สามารถ หรือมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่ต่ำนั้น
หลายคนเชื่ออย่างหมดใจว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการให้เป็นจริงนั้นเป็นความจริงอย่างแจ่มชัด แต่การที่พวกเขาทำอย่างนั้นไปก็เพราะมันยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่
การลงทุนนั้นเป็นสิ่งเดียวที่สามารถเสนอโอกาสการได้รับผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ให้เป็นรายวัน ผู้คนเชื่อในการหลอกลวงทางการเงินในแบบที่พวกเขาไม่เคยเป็นกับเรื่องอื่นๆ
เฮาเซิลบอกว่า...
สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ในเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับอะไรบางอย่างที่ไม่เข้าใจ พวกเขาจะไม่สามารถตระหนักได้ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาไม่เข้าใจมัน
เนื่องจากเขามีความสามารถในการหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลโดยมีพื้นฐานมาจากมุมมองของตัวเองและประสบการณ์บนโลกใบนี้ แต่ว่าประสบการณ์เหล่านั้นมีอยู่อย่างจำกัด
พวกเราทุกคนต่างต้องการให้โลกที่มีความสลับซับซ้อนนั้นดูสมเหตุสมผล ดังนั้นเราจึงเล่าเรื่องราวให้ตัวเองฟังเพื่อเติมช่องว่างของจุดบอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
@สิ่งที่เรื่องเล่าเหล่านี้ส่งผลกระทบกับเราทางด้านการเงินนั้นเป็นไปได้ทั้งสิ่งที่น่าทึ่งและสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว
1.ทำให้มั่นใจในความสามารถของตัวเองมากจนเกินไป
เมื่อเรามองไม่เห็นจุดบอดและไม่เข้าใจวิธีการทำงานของโลก เราก็อาจเข้าใจผิดอย่างมหันต์ว่า ทำไมตลาดหุ้นจึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ และมันจะทำให้เรามีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองมากจนเกินไปว่าเราควรจะทำอะไรต่อไป
2.ทำให้ตัดสินใจไปอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า
เฮาเซิลบอกว่า...
ส่วนหนึ่งที่ทำให้การพยากรณ์ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยากนักก็เพราะคุณเป็นคนเดียวในโลกที่คิดว่าโลกนี้ดำเนินไปในแบบที่คุณคิด
เวลาที่คุณทำการตัดสินใจโดยที่ผมไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ผมก็อาจจะตัดสินใจตามคุณไปอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า ซึ่งนั่นอาจเป็นการตัดสินใจที่ดีสำหรับคุณ แต่ว่าเป็นหายนะสำหรับผม
การยอมรับว่ามากแค่ไหนที่คุณไม่รู้นั้นหมายถึงยอมรับว่ามากแค่ไหนที่โลกอยู่นอกเหนือการควบคุมของคุณ และนั่นก็เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ
@เหตุใดผู้คนจึงต้องการการพยากรณ์ตลาดหุ้นอย่างมากจากทั้งทางสื่อและที่ปรึกษาทางการเงิน?
เฮาเซิลบอกว่า...
ผมยังไม่เคยเจอนักลงทุนที่คิดจริงๆ ว่าการพยากรณ์ตลาดทั้งหมดนั้นแม่นยำหรือมีประโยชน์ แต่ก็ยังคงมีความต้องการการพยากรณ์อย่างมากจากทั้งทางสื่อและที่ปรึกษาทางการเงิน
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
นักจิตวิทยาที่ชื่อ ฟิลิป เทตล็อค เคยเขียนเอวไว้ครั้งหนึ่งว่า “พวกเราต้องการที่จะเชื่อว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่คาดการณ์และควบคุมได้ ดังนั้นเราจึงหันหน้าไปหาผู้คนที่สัญญาว่าจะตอบสนองความต้องการนั้น”
การตอบสนองความต้องการนั้นคือประโยคที่ใช้อธิบายเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ความต้องการที่จะเชื่อว่าเราสามารถควบคุมได้คืออารมณ์คันที่ต้องการการเกา
เราไม่ต้องการที่จะวิเคราะห์ปัญหาและคำนวณเพื่อหาทางแก้ไข ภาพมายาของการควบคุมนั้นดึงดูดใจมากกว่าความเป็นจริงที่ไม่แน่นอน
เราก็เลยยึดติดอยู่กับเรื่องราวที่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับเรา
@ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของ “เงิน” เราก็ยังหลงใหลการเล่าเรื่องราวให้ตัวเองฟังว่าเราสามารถควบคุมชีวิตของตัวเราเองได้มากขนาดไหน
ครั้งหนึ่งคาห์เนมันเขียนเล่าเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ว่า...
- ในเวลาที่เราวางแผน เราจะโฟกัสไปยังสิ่งที่เราอยากทำและต้องการจะทำจนละเลยกับแผนการและทักษะของคนอื่น ซึ่งการตัดสินใจของพวกเขาอาจส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ของเรา
- เราจะโฟกัสไปยังบทบาทของทักษะและละเลยบทบาทของโชค ไม่ว่าจะเป็นการพยายามที่จะอธิบายอดีตและทำนายอนาคต
- เราจะโฟกัสไปยังสิ่งที่เรารู้และละเลยสิ่งที่เราไม่รู้ ซึ่งส่งผลให้เรามั่นใจกับความเชื่อของเรามากจนเกินไป
คุณล่ะ?
Story ที่คุณกำลังเล่าให้ตัวเองฟังอยู่ตอนนี้ คือเรื่องอะไร?
โฆษณา