26 ก.ย. 2022 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
ทำไมคนทำธุรกิจ ควรใส่ใจ “วงจรเงินสด” ถ้าไม่อยาก “ขายดีจนเจ๊ง”
ถ้าจะถามว่าในช่วงแรกของการสร้างธุรกิจ เจ้าของแบรนด์ควรตั้งเป้าหมายอะไรให้กับแบรนด์บ้าง ?
1
คำตอบของใครหลายคนอาจจะเป็น
- การทำยอดขายให้ได้มากที่สุด
- การทำกำไร หรือมีอัตรากำไรเยอะที่สุด
- การปั้นแบรนด์ให้มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
- การที่แบรนด์สามารถสร้าง Engagement บนโลกออนไลน์ได้เยอะที่สุด
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ใช่การตั้งเป้าหมายที่ผิดแต่อย่างใด
แต่มันจะผิดพลาดทันที ถ้าหากเจ้าของแบรนด์ละเลยสิ่งสำคัญที่เรียกว่า “สภาพคล่อง” ของกิจการ..
2
เพราะรู้หรือไม่ว่า ธุรกิจ​ SME ในประเทศไทยถึง 80% นั้น มักมีการตั้งเป้าหมายโดยสนใจแต่ รายได้ และกำไร ทว่ากลับไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสภาพคล่องของกิจการเท่าที่ควร จนทำให้ธุรกิจนั้น “เจ๊ง” ทั้งที่ขายดี..
2
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น แบรนด์ A ทำขนมเพื่อสุขภาพ อยู่ในช่วงกำลังสร้างแบรนด์ จึงได้มีการกำหนดเป้าหมายว่า..
ภายใน 1 ปี แบรนด์จะต้องทำยอดขายให้ได้ 1,000,000 ห่อ และต้องมีอัตรากำไร 20% ให้ได้
1
แบรนด์ A จึงมีการกู้เงินมาสั่งผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ต้นทุนสินค้านั้นต่ำที่สุด โดยยึดหลัก การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) หรือก็คือ ยิ่งผลิตสินค้ามาก ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้ายิ่งต่ำลง ทำให้อัตรากำไรสูงขึ้น นั่นเอง
4
อีกทั้งเพื่อให้ยอดขายเป็นไปตามเป้า แบรนด์ A จึงแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายหลาย ๆ ราย ให้ช่วยขายและกระจายสินค้า
โดยได้มีการให้สิทธิพิเศษกับตัวแทนจำหน่าย ในการ “ยืดระยะเวลาชำระเงิน” นานกว่าแบรนด์คู่แข่งถึง 10 เดือน เพื่อจูงใจให้ตัวแทนจำหน่ายสั่งซื้อ และช่วยแบรนด์ A ขายสินค้า
3
ผลก็คือแบรนด์ A ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และอัตรากำไร
แต่สต็อกสินค้าของแบรนด์ A นั้น กลับเต็มไปด้วยสินค้าที่ใกล้หมดอายุและขายไม่หมด เพราะสั่งผลิตสินค้ามากเกินไป..
1
แถมแบรนด์ A ยังไม่สามารถนำรายได้จากการขาย มาชำระหนี้ และสั่งผลิตสินค้าล็อตต่อไปได้
เพราะแบรนด์ต้องรอถึง 10 เดือน กว่าจะได้เงินจากตัวแทนจำหน่ายนั่นเอง..
ดังนั้น ธุรกิจจึงอยู่ในภาวะเงินสดขาดมือ
1
ซึ่งทั้งหมดก็ส่งผลโดยตรง กับการเติบโตและประสิทธิภาพในการแข่งขันของแบรนด์ A เป็นอย่างมาก
เพราะในเมื่อไม่มีเงินมาหมุน แบรนด์ A ก็ต้องกู้ยืมเงินมาดำเนินธุรกิจต่อ ซึ่งจะกลายเป็นดอกเบี้ยก้อนโตที่ต้องจ่าย จนสุดท้ายแบรนด์อาจจะทนแบกรับภาระไม่ไหว และก็ต้องประสบกับสถานการณ์ “เจ๊งทั้งที่ขายดี” ในที่สุด..
4
อย่างไรก็ตาม มันก็มีเครื่องมืออยู่ตัวหนึ่ง ที่จะทำให้แบรนด์สามารถรู้ได้ว่าธุรกิจของเรามีสภาพคล่องดีแค่ไหน เพื่อที่จะช่วยให้ธุรกิจหลีกเลี่ยงวิกฤติดังกล่าวได้
1
ซึ่งนั่นก็คือ “วงจรเงินสด” (Cash Cycle) ที่สื่อถึง รอบระยะเวลาที่ธุรกิจใช้ ตั้งแต่เริ่มผลิตสินค้า ไปจนถึงวันที่ได้รับเงินเข้ามาในกิจการนั่นเอง
หรือก็คือ จำนวนวันที่กิจการจะได้รับเงินสดจากการดำเนินงาน
3
และวงจรเงินสดนี้ สามารถคำนวณได้จากการนำ
ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ - ระยะเวลาชำระหนี้
1
โดยผลลัพธ์ที่ออกมาจากสูตรนี้ “ยิ่งมีค่าน้อย ยิ่งดี”
1
เพราะสะท้อนว่า กิจการมีสภาพคล่องสูง สามารถขายสินค้าและเก็บเงินจากลูกหนี้ได้เร็ว เมื่อเทียบกับระยะเวลาในการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้
1
กลับกัน ถ้าวงจรเงินสด มีค่ามาก
แสดงว่ากิจการมีสภาพคล่องไม่ค่อยดี เพราะต้องชำระหนี้เร็ว เมื่อเทียบกับการขายสินค้าและเก็บเงินจากลูกหนี้
กิจการจึงอาจมีความจำเป็นต้องจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมจากภายนอก เช่น การกู้ยืม
2
มาลองยกตัวอย่างสถานการณ์กัน
แบรนด์ B ทำสัญญากับร้านสะดวกซื้อ ว่าจะนำสินค้ามาวางขายหน้าร้าน
แล้วปรากฏว่าแบรนด์ B ต้องใช้เวลาเฉลี่ย 20 วัน กว่าสินค้าจะขายหมด
ดังนั้น ระยะเวลาขายสินค้า = 20 วัน
แต่เจ้าของร้านที่แบรนด์ B นำสินค้าไปฝากไว้ จะมีการตัดรอบการจ่ายเงินทุก ๆ 1 เดือน
ดังนั้น ระยะเวลาเก็บหนี้ = 30 วัน
และสุดท้ายแบรนด์ B มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับโรงงานผลิตสินค้าหรือซัปพลายเออร์ ภายใน 30 วัน ดังนั้น ระยะเวลาชำระหนี้ = 30 วัน
สรุปได้ว่าวงจรเงินสดของแบรนด์ B = 20 + 30 - 30 = 20 วัน
หรือก็คือแบรนด์ B มีรอบระยะเวลาการได้มาซึ่งเงินสด ตั้งแต่เริ่มผลิตสินค้า, ขายสินค้า, เก็บเงินจากลูกค้าครบ รวมถึงจ่ายชำระหนี้ โดยใช้เวลาเฉลี่ย 20 วันนั่นเอง
2
โดยผลลัพธ์ที่ออกมาจะสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง และสภาพคล่องส่วนหนึ่งของกิจการได้
2
เพราะถ้าตัวเลขออกมาต่ำ นั่นหมายความว่า กิจการสามารถบริหารสินค้าในคลังได้ดี และสามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้เร็ว
1
กลับกัน ถ้าตัวเลขออกมาสูง นั่นหมายความว่า กิจการกำลังเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องได้ เพราะขายสินค้าไปแล้ว แต่กลับได้เงินกลับมาช้า นั่นเอง
1
ดังนั้น เจ้าของแบรนด์จึงควรที่จะใส่ใจกับวงจรเงินสดของกิจการ โดยพยายามวางแผนและบริหารให้ตัวเลขออกมาต่ำที่สุดให้ได้
ซึ่งถ้าหากบริหารดี ๆ ก็อาจจะทำให้วงจรเงินสดนั้นลดลง ถึงขั้นติดลบเลยก็ได้
1
เช่น ถ้าหากแบรนด์ B สามารถไปต่อรองกับเจ้าหนี้ ให้เพิ่มระยะเวลาชำระหนี้กลายเป็น 60 วัน (จาก 30 วัน) ได้สำเร็จ ก็จะกลายเป็นว่าวงจรเงินสดของแบรนด์ B จะเป็น 20 + 30 - 60 = -10 วัน
2
โดยจำนวนวันที่ติดลบ ก็หมายถึงว่า มีเงินสดเข้ากิจการเร็วกว่า เงินที่กิจการต้องจ่ายออกไปเพื่อชำระหนี้
สะท้อนถึงสภาพคล่องที่สูง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ
และจะกลายเป็นว่า แบรนด์ B จะสามารถนำเงินไปใช้ทำโปรโมชัน หรือใช้หมุนเวียนในธุรกิจได้ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินให้เจ้าหนี้หรือซัปพลายเออร์ ได้ถึง 10 วันนั่นเอง..
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้ในปัจจุบันมักมีหลายแบรนด์ที่ออกแบบโมเดลธุรกิจให้เอื้อต่อการมีวงจรเงินสดติดลบอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น “ธุรกิจ E-commerce”
2
ที่แพลตฟอร์มเหล่านี้มักจะมีการเรียกเก็บเงินจากลูกค้ามาก่อน แล้วค่อยโอนเงินส่วนนั้นให้กับร้านค้าบนแพลตฟอร์มอีกที
ซึ่งในบางครั้งกว่าที่แพลตฟอร์มจะโอนเงินให้กับผู้ขายจริง ๆ อาจใช้เวลาหลาย 10 วันเลยทีเดียว
3
โดยในช่วงเวลาดังกล่าว แพลตฟอร์มก็ยังสามารถนำเงินส่วนนั้นมาสร้างประโยชน์ ก่อนที่จะโอนไปให้เจ้าของร้านจริง ๆ ได้
อย่างการทำบริการ BNPL ให้บริการช็อปก่อนจ่ายทีหลัง
หรือแม้แต่การ “ปล่อยกู้” ระยะสั้น ๆ ให้กับลูกค้าบนแพลตฟอร์ม ในขอบเขตที่ธุรกิจรับไหว
2
ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากการเอาเงินของเจ้าหนี้ของตัวเอง มาปล่อยกู้ แถมคนที่ได้ดอกเบี้ย ก็คือตัวแพลตฟอร์มเองอีกต่างหาก..
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าแค่เรื่องง่าย ๆ อย่าง “การขอจ่ายเงินให้คู่ค้าหรือเจ้าหนี้ช้าหน่อย” และ “การเก็บเงินลูกค้าไวขึ้น”
มันสามารถสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจได้ขนาดไหน
3
ดังนั้น เจ้าของแบรนด์ควรใส่ใจในทุกรายละเอียดของกิจการให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง “สภาพคล่อง” ของกิจการ
ถ้าไม่อยากให้เงินสดขาดมือ จนพลาดโอกาสดี ๆ ที่มักจะมาแบบไม่ทันตั้งตัวอยู่เสมอ
2
หรือพบกับฝันร้าย ที่ธุรกิจที่อุตส่าห์ปั้นมากับมือ และดูเหมือนกำลังไปได้ดี ต้องจากไปอย่างไม่คาดฝัน..
โฆษณา